"เศรษฐา" บริบทแรกบนเวทีโลก ฟื้นความเชื่อมั่นพลิกเศรษฐกิจไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

"เศรษฐา" บริบทแรกบนเวทีโลก ฟื้นความเชื่อมั่นพลิกเศรษฐกิจไทย

Date Time: 2 ต.ค. 2566 06:40 น.

Latest

บอร์ดอีวีไฟเขียวลดภาษีสรรพสามิต ถึงคิวรถยนต์ไฮบริดบูม

ประเทศไทยมีโอกาสกลับมายืนบนเวทีโลกอีกครั้ง หลังการเลือกตั้งทั่วไปเมื่อวันที่ 14 พ.ค.ที่ผ่านมา และได้นายกรัฐมนตรีชื่อ “เศรษฐา ทวีสิน” เป็นผู้นำประเทศคนใหม่ ภายใต้การปกครองในระบอบประชาธิปไตย ที่นานาอารยประเทศยอมรับเป็นครั้งแรกในรอบ 9 ปี

“ความหมาย” ของการกลับมาอีกครั้งของ “ประเทศไทย” ในเวทีโลกมีมากกว่าการปรากฏตัวของ “เศรษฐา” ในเวที “สมัชชาสหประชาชาติ” ที่มหานครนิวยอร์ก สหรัฐอเมริกา

เพราะสิ่งที่ประเทศไทยได้รับกลับมาด้วย คือการบอกให้โลกรู้ว่า ประเทศไทยและคนไทย พร้อมจะเข้าร่วมต่อสู้เพื่อประเทศไปด้วยกัน โดยการเปิดประตูการค้า การลงทุน และเข้าแข่งขันกับนานาอารยประเทศในกฎกติกาต่างๆที่แต่ละประเทศมีต่อกัน ไม่ว่าจะในเวทีการค้าใดของโลกไร้พรมแดนใบนี้

“ทีมเศรษฐกิจ” หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ ขอสรุปภารกิจและบทบาทแรกของนายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง “เศรษฐา ทวีสิน” ดังนี้

เสริมสร้างความเชื่อมั่นให้ประเทศ

ภารกิจต่างประเทศแรกของ “นายกรัฐมนตรี” เพื่อเสริมสร้างความเชื่อมั่นให้แก่ประเทศไทย และยังเป็นการเปิดตัวนายกรัฐมนตรีในเวทีสหประชาชาติ ซึ่งเป็นการประชุมระหว่างประเทศที่มีระดับผู้นำมาร่วมมากที่สุด ในฐานะผู้นำรัฐบาลใหม่ของไทยที่มาจากการเลือกตั้งในระบอบประชาธิปไตย

สะท้อนถึงเสถียรภาพ ศักยภาพ และความพร้อมของไทยในการเดินหน้าสานสัมพันธ์ขับเคลื่อนพลวัตความร่วมมือกับนานาประเทศ ด้วยการนำเสนอนโยบายสำคัญของรัฐบาล โดยเฉพาะด้านเศรษฐกิจ การค้า การลงทุน เทคโนโลยี และการพัฒนาที่ยั่งยืน

อีกทั้งยังเป็นการตอกย้ำความเชื่อมั่นและการสนับสนุนของไทยต่อระบอบพหุภาคีที่มีสหประชาชาติเป็นศูนย์กลาง รวมทั้งความมุ่งมั่นของไทยในการมีส่วนร่วมในฐานะรัฐสมาชิกสหประชาชาติที่มีบทบาทสร้างสรรค์และมีความรับผิดชอบ โดยมีส่วนร่วมกำหนดวาระสำคัญของโลกที่สมดุล และสนับสนุนบทบาทของสหประชาชาติในการรับมือกับความท้าทายในปัจจุบันและอนาคตท่ามกลางความขัดแย้งทางภูมิรัฐศาสตร์

ขณะเดียวกัน ยังต้องผลักดันความร่วมมือของประชาคมโลกในการเร่งขับเคลื่อนวาระการพัฒนาที่ยั่งยืน ค.ศ.2030 และเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน SDGs เพื่อรับมือกับวิกฤติช่องว่างการพัฒนา แก้ไขปัญหา ความเหลื่อมล้ำ การเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ และส่งเสริมความสมดุลในการบรรลุเป้าหมายการพัฒนาทางเศรษฐกิจ สังคม และสิ่งแวดล้อม เสริมสร้างความเป็นอยู่อย่างสันติ ความอยู่ดีกินดี สภาพแวดล้อมที่ดี และสุขภาพที่ดีถ้วนหน้าอย่างยั่งยืน (Accelerating the SDGs for peace, prosperity, and sustainability for all)

190 ปี ความสัมพันธ์ไทย-สหรัฐฯ

นอกจากนั้น การเดินทางไปในครั้งนี้ ยังเป็นการตอกย้ำความสัมพันธ์ ระหว่างไทย-สหรัฐฯ 190 ปี แสดงให้เห็นถึงมิตรภาพที่แน่นแฟ้นระหว่างกัน และการดำเนินงานร่วมกันอย่างใกล้ชิด ก่อให้เกิดประโยชน์ร่วมกันมาอย่างยาวนาน ส่งผลให้การค้าระหว่างไทย-สหรัฐฯ ฟื้นตัวอย่างแข็งแกร่ง แม้จะเกิดวิกฤติโควิด-19 ทั่วโลก

ในปีที่ผ่านมา ไทย-สหรัฐฯมีมูลค่าการค้าขายระหว่างกัน ด้วยมูลค่ามากกว่า 65,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯ กลับมาเป็นคู่ค้ารายใหญ่อันดับ 2 ของประเทศไทย ในรอบ 15 ปี ตอกย้ำความสัมพันธ์ระหว่างกันที่มีมาอย่างยาวนาน ขณะที่การลงทุนต่างฝ่ายต่างลงทุนร่วมกันเป็นจำนวนมาก

ทั้งนี้ ตั้งแต่ปี 2561-2566 มีโครงการลงทุนและร่วมทุนจากสหรัฐฯขอรับการส่งเสริมการลงทุนทั้งสิ้น 190 โครงการ มูลค่าการลงทุน 131,005 ล้านบาท ซึ่งมูลค่าการลงทุนส่วนใหญ่อยู่ในอุตสาหกรรมเครื่องใช้ไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ 35,877 ล้านบาท อุตสาหกรรมการเกษตรและอาหาร และเทคโนโลยีชีวภาพ 33,477 ล้านบาท และดิจิทัล 25,213 ล้านบาท ยานยนต์และเครื่องจักร 12,845 ล้านบาท ส่วนที่เหลือจะเป็นการลงทุนอุปกรณ์การแพทย์ กิจการโลจิสติกส์ การท่องเที่ยว เคมี และปิโตรเคมี เป็นต้น

อยากเห็นบริษัทไทยเทรดหุ้นในสหรัฐฯ

และจากการเข้าพบปะหารือผู้บริหารบริษัทยักษ์ใหญ่สหรัฐฯ และกองทุนการเงินชั้นนำ อาทิ เทสลา, เอสเต้ ลอเดอร์, ไมโครซอฟท์, กูเกิล, แบล็กร็อก, เจพีมอร์แกน, ซิตี้แบงก์, โกลด์แมนแซคส์ เป็นต้น ซึ่งได้รับเสียงตอบรับที่ดีมาก และเตรียมศึกษาขยายฐานการลงทุนมายังประเทศไทย ถือเป็นนิมิตหมายที่ดี

โดยเชื่อว่าหากปีหน้ามีความชัดเจนว่ายักษ์ใหญ่จากสหรัฐฯจะเข้ามาลงทุนในไทย คาดว่าจะมีเม็ดเงินไหลเข้ามาไม่น้อยกว่า 5,000 ล้านเหรียญสหรัฐฯต่อราย ซึ่งจะก่อให้เกิดการจ้างงาน สร้างรายได้ และสร้างอัตราการเติบโตทางเศรษฐกิจไทยเป็นอย่างมาก

“เพราะเชื่อว่าเม็ดเงินลงทุนจากต่างประเทศ จะช่วยให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) เติบโตแบบก้าวกระโดด หรือเติบโตมากกว่า 5% อย่างแน่นอน ดังนั้น รัฐบาลจะต้องพยายามเชิญชวนนักลงทุนต่างชาติจากทั่วโลก ให้ย้ายฐานการผลิตมาประเทศไทยให้ได้” นายกรัฐมนตรีและ รมว.คลัง กล่าว

ทั้งนี้ รัฐบาลได้ดำเนินการลดข้อจำกัด และข้อห่วงกังวล เพื่ออำนวยความสะดวก สร้างบรรยากาศที่น่าดึงดูดสำหรับการลงทุนต่างประเทศ และในเดือน พ.ย.นี้ นายกรัฐมนตรีจะเดินทางประชุมความร่วมมือทางเศรษฐกิจเอเชีย-แปซิฟิก (เอเปก) โดยจะใช้โอกาสนี้เชิญชวนนักธุรกิจไทย ที่ประสงค์จะเปิดประตูการค้ากับสหรัฐฯ ได้ไปพบปะบริษัทยักษ์ใหญ่ของสหรัฐฯ เพราะเสาะแสวงหาโอกาสการทำธุรกิจ ทั้งไปลงทุนในสหรัฐฯและชักชวนให้นักลงทุนสหรัฐฯมาลงทุนในประเทศ ถือเป็นการแลกเปลี่ยนระหว่างกัน

ขณะเดียวกัน จากการไปเยี่ยมชมตลาดหุ้นสหรัฐฯ นายกรัฐมนตรี กล่าวว่า แม้ขณะนี้ยังไม่มีบริษัทไทยรายใดมาจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ แต่จากการพูดคุยกับผู้บริหารตลาดหุ้นสหรัฐฯแล้ว พิจารณาเบื้องต้น น่าจะมีบริษัทไทยมาจดทะเบียนซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯได้ “ผมคาดหวังปีหน้า น่าจะมีบริษัทไทยสัก 1 ราย มาซื้อขายหุ้นในตลาดหุ้นสหรัฐฯ”

“ปานปรีย์” ชูการทูตเศรษฐกิจเชิงรุก

ดร.ปานปรีย์ พหิทธานุกร รองนายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีว่าการกระทรวงการต่างประเทศ 1 ในคณะที่ต้องเดินทางร่วมกับภารกิจนายก รัฐมนตรีในต่างประเทศ กล่าวว่า นโยบายของรัฐบาลได้ให้ความสำคัญของการทูตเศรษฐกิจเชิงรุกเพื่อยกระดับโอกาสทางการค้า การลงทุน ส่งเสริมความเข้มแข็งของห่วงโซ่อุปทานและการรับมือกับวิกฤติ เตรียมความพร้อมเพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศและการเปลี่ยนผ่านไปสู่เศรษฐกิจสีเขียว ตลอดจนการพัฒนาขีดความสามารถในการต่อต้านการทุจริตและการจัดเก็บภาษีที่เป็นธรรมและโปร่งใส เพื่อให้ทุกประเทศสามารถได้รับประโยชน์จากความเจริญรุ่งเรืองร่วมกัน

และจากวิกฤติโควิด-19 ที่ผ่านมา เป็นหนึ่งใน “วิกฤติที่มีหลากหลายมิติ” ที่ร้ายแรงที่สุดในยุคปัจจุบัน จำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องเพิ่มความร่วมมือด้านการพัฒนา เพื่อนำไปสู่ความมั่นคงด้านสุขภาพของโลก ด้วยวิธีการที่เป็นนวัตกรรม รวมถึงผ่านการแบ่งปันสิทธิในทรัพย์สินทางปัญญาที่เกี่ยวกับสุขภาพ

อีกทั้งจะต้องเร่งปฏิรูปโครงสร้างทางสถาปัตยกรรมด้านสาธารณสุขของโลกให้มีความเท่าเทียม ครอบคลุมทุกกลุ่มประชากร และมีความสอดคล้องกับข้อริเริ่มอื่นๆ ผ่านการเสริมสร้างขีดความสามารถ ความร่วมมือที่ใกล้ชิดยิ่งขึ้นระหว่างภาครัฐและภาคเอกชน เพื่อนำไปสู่การเปลี่ยนแปลงระบบสุขภาพดิจิทัล

รวมถึงการลงทุนเพิ่มขึ้นในระบบหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า ทั้งในช่วงเวลาปกติและภาวะฉุกเฉินเป็นสิ่งจำเป็น เพื่อให้แน่ใจว่าระบบสุขภาพจะสามารถรับมือกับการเปลี่ยนแปลงได้ มีมาตรการคุ้มครองทางสังคม ความยุติธรรมทางสังคม รวมทั้งความเท่าเทียมด้านสุขภาพ.

เสียงสะท้อนจากผู้ร่วมทริป

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (บีโอไอ) เล่าว่า การที่ระดับนายกรัฐมนตรีนำทีมเดินทางไปชักชวนเชื้อเชิญการลงทุนและเชิญชวนบริษัทเป้าหมายด้วยตัวเอง นับเป็นแนวทางการทำงานแบบใหม่ที่เป็นเชิงรุก ซึ่งจะสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุนอย่างมาก เพราะได้รับฟังจากเบอร์หนึ่งของรัฐบาลโดยตรง และการเยือนสหรัฐฯครั้งนี้ คณะได้พบกับภาคเอกชนของสหรัฐฯ จำนวนมาก ทั้งกลุ่มสภาธุรกิจสหรัฐอเมริกาและอาเซียน, หอการค้าสหรัฐอเมริกา รวมทั้งการพบนักลงทุนเป็นรายบริษัท โดยเฉพาะในอุตสาหกรรมเป้าหมาย ได้แก่ ยานยนต์ไฟฟ้า (Tesla) และดิจิทัล ทั้งไมโครซอฟท์, กูเกิล

นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์
นายนฤตม์ เทอดสถีรศักดิ์

“นายกฯได้นำเสนอศักยภาพและความพร้อมของประเทศไทยที่จะรองรับการลงทุน ตลอดจนโอกาสทางธุรกิจในไทย และสิทธิประโยชน์จากภาครัฐ การพบปะดังกล่าวได้ผลตอบรับที่ดี บริษัทเหล่านี้ได้แสดงความสนใจที่จะร่วมมือกับประเทศไทย และพร้อมนำข้อเสนอของรัฐบาลไทยไปพิจารณาวางแผนการลงทุน โดยบีโอไอจะร่วมกับทีมงานของท่านนายกฯ ติดตามอย่างใกล้ชิดต่อไป”.

@@@@@@

นายศุภชัย เจียรวนนท์ ประธานคณะผู้บริหาร บริษัท เครือเจริญโภคภัณฑ์ จำกัด (ซีพี) กล่าวว่า รู้สึกตื่นเต้นดี เพราะตารางเวลาทำงานของนายกรัฐมนตรีแน่นมาก เพราะลักษณะการทำงานแบบลงมือทำทันที โดยผมได้เข้าร่วมประชุมในช่วงที่เข้าพบไมโครซอฟท์ ซึ่งนายกรัฐมนตรีจะพยายามดึงไมโครซอฟท์ให้มาลงทุนในประเทศไทย ขณะที่ไมโครซอฟท์มีทางเลือกในอาเซียนอีกหลายประเทศ

นายศุภชัย เจียรวนนท์
นายศุภชัย เจียรวนนท์

“ผมคิดว่านายกรัฐมนตรีท่านนี้ ถือว่า very competitive หมายความว่า สู้เพื่อประเทศไทย ในฐานะภาคเอกชนก็เป็นฝ่ายสนับสนุน ในเรื่องของแต่ละอุตสาหกรรม ผมเชื่อว่าเอกชนแต่ละคนก็มาจากอุตสาหกรรมแต่ละด้าน ที่มาร่วมทริปครั้งนี้ เพื่อดึงนักลงทุนมาลงทุนในประเทศไทย”

นายศุภชัย กล่าวต่อว่า การเข้าร่วมประชุม UN ในครั้งนี้ถือว่าประเทศไทยมีจุดยืนชัดเจน มีนโยบายใส่ใจสิ่งแวดล้อม ลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (CO2) สู่ชั้นบรรยากาศ ซึ่งไทยเป็นผู้นำอาเซียนที่เน้นเรื่องดังกล่าว และเชื่อว่าสมาชิก UN ฝากความหวังไว้กับนายกรัฐมนตรีและประเทศไทย ที่จะเป็นผู้นำ เป็นตัวอย่างที่ดี เพื่อก้าวสู่ Net Zero หรือการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ไปด้วยกัน.

@@@@@@

นายอาทิตย์ นันทวิทยา ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอสซีบี เอกซ์ จำกัด (มหาชน) กล่าวว่า ภายใต้การนำของนายก รัฐมนตรี ทำให้นักลงทุนต่างชาติมองภาพประเทศไทยเปิดกว้างมากยิ่งขึ้น ยิ่งได้พบปะนักลงทุนต่างชาติ มีการแลกเปลี่ยน ถือเป็นโอกาสและสร้างความเชื่อมั่น ฉะนั้นอะไรที่ภาคเอกชนให้ความร่วมมือได้ เชื่อว่าทุกคนพร้อมให้ความร่วมมือ “ยิ่งตอนนี้มีความเชื่อมั่นมาก เพราะนายกฯจะทำให้เกิดขึ้นได้จริง และมองเห็นทิศทางเศรษฐกิจที่ดีขึ้นมาก”.

นายอาทิตย์ นันทวิทยา
นายอาทิตย์ นันทวิทยา

นางจรีพร จารุกรสกุล ประธาน เจ้าหน้าที่บริหาร กลุ่มบริษัท ดับบลิวเอชเอ คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) WHA กล่าวว่า จากการพบปะนักลงทุนสหรัฐฯ พร้อมกับคณะนายกรัฐมนตรี พบว่านักลงทุนสหรัฐฯให้ความสนใจลงทุนในไทย เพราะประเทศไทยมีความพร้อมมากด้านโครงสร้างพื้นฐานต่างๆ และยังได้สอบถามเรื่องนโยบายเขตการค้าเสรี (Free Trade Area : FTA) ซึ่งนายกรัฐมนตรีได้มอบหมายให้ ดร.ปานปรีย์ รองนายกรัฐมนตรีและ รมว.ต่างประเทศไปเร่งดำเนินการ ซึ่งเป็นเรื่องที่ดี เมื่อต่างชาติได้รับฟัง ก็มีความเชื่อมั่นมากยิ่งขึ้น.

นางจรีพร จารุกรสกุล
นางจรีพร จารุกรสกุล

นางสาวนฤมล จิวังกูร กรรมการผู้จัด การใหญ่ ธนาคาร ซิตี้แบงก์ประเทศ ไทย กล่าวว่า จาก การมาร่วมทริปครั้งนี้ รู้สึกมีกำลังใจในการช่วยเหลือประเทศ และเชื่อมโยงจากโลกมาประเทศไทย จากประเทศไทยไปสู่ตลาดโลก เพื่อให้ประเทศไทยเติบโต ซึ่งจากปี 2555 เป็นต้นมา ยังไม่เคยเห็นจีดีพีโต 5% คราวนี้ต้องช่วยกัน นายกรัฐมนตรี และคณะทุกท่านมีกำลังใจ มีพลังในการทำงานมากๆ แล้วก็มี Passion มากในการที่จะพาประเทศไปข้างหน้า.

นางสาวนฤมล จิวังกูร
นางสาวนฤมล จิวังกูร

ทีมเศรษฐกิจ

คลิกอ่าน“สกู๊ปเศรษฐกิจ” เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ