หนี้คือความทุกข์ของคนไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

หนี้คือความทุกข์ของคนไทย

Date Time: 2 ก.ย. 2566 05:18 น.

Summary

  • คำสอนของพระพุทธศาสนามีอยู่บทหนึ่งความว่า “การเป็นหนี้คือความทุกข์ในโลก” ประเทศไทยเป็นประเทศหนึ่ง ที่มีข่าวการเป็นหนี้อย่างต่อเนื่อง

Latest

จับโรงงานผลิตเหล็กเส้นคุณภาพต่ำ "เอกนัฏ" ส่ง "ชุดตรวจการณ์สุดซอย" รวบนอมินีจีน

หนี้ภาครัฐและภาคประชาชน สส.ฝ่ายค้านเคยอภิปรายในสภา โจมตีว่ารัฐบาลที่เพิ่งจะพ้นตำแหน่ง เป็นรัฐบาลที่ก่อหนี้มากที่สุด แต่มักจะไม่มีข้อมูลยืนยันจากภาครัฐ

หนี้ที่กลายเป็นข่าวเจ้าประจำ ได้แก่หนี้ครัวเรือน หรือหนี้ของประชาชนทั่วไป ข้อมูลล่าสุดจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ หรือสภาพัฒน์ ระบุว่า หนี้เสียของจริงพุ่งขึ้นเป็น 980,000 ล้านบาท สาเหตุสำคัญเพราะคนไทยที่เรียกว่า “เจนวาย” ที่มีอายุ 23 ถึง 38 ปี ถือคติ “ไม่มีต้องกู้”

กู้สารพัด ทั้งกู้เพื่อการศึกษา กู้สหกรณ์ กู้การเคหะแห่งชาติ กู้ผ่านบัตรเครดิต หนี้ครัวเรือนในไตรมาสที่ 1/2566 มีมูลค่า 15.96 ล้านล้านบาท เพิ่มขึ้น 3.6% จากไตรมาสเดียวกันของปีก่อน คิดเป็น 90.6% ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) ชะลอตัวลงเล็กน้อยจาก 91.42%

แต่ในไตรมาส 2 ตัวเลขปรับตัวดีขึ้น มีผู้ทำงานทั้งสิ้น 39.7 ล้านคน จากการขยายตัวของแรงงานนอกภาคเกษตร หนี้สินส่วนใหญ่เกิดจากการซื้อบ้านและที่ดิน และสินเชื่อส่วนบุคคล เมื่อตอนสิ้นปี 2564 หนี้ครัวเรือนมีมูลค่า 14.6 ล้านล้านบาท คิดเป็น 90.2% ของจีดีพี การขยายตัวของเศรษฐกิจลดลง

ที่กล่าวมาข้างต้นเป็นภาวะหนี้สินของคนทั่วไป ถ้าเจาะลงไปในคนบางกลุ่ม อาจพบปัญหาที่หนักหนาสาหัสกว่านี้ เช่นกลุ่มแรงงาน เมื่อต้นปี 2566 กลุ่มแรงงานมีหนี้โดยเฉลี่ยคนละ 2.72  แสนบาท ที่สูงสุดในรอบ 14 ปี หนี้สินเพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 25% สาเหตุสำคัญเพราะรายได้ไม่พอจ่าย ค่าครองชีพสูง

หลายคนมีปัญหาว่างงาน ไร้เงินออม ไม่มีอาชีพเสริม ทำให้ชีวิตยํ่าแย่ ภายใต้รัฐบาลก่อนที่เพิ่งพ้นจากตำแหน่ง และอาจกลายเป็นปัญหายืดเยื้อเรื้อรังต่อไป ภายใต้รัฐบาลใหม่ ถ้าไม่เร่งแก้ปัญหา หรือเกาไม่ถูกที่คัน ประชาชนอีกกลุ่มหนึ่งที่โดนหนักที่สุด คือกลุ่มเกษตรกร ซึ่งอาจจะมีเกือบ 30 ล้านคน

จากการสำรวจพบว่ามีเกษตรกรถึง 11% ที่มีรายได้ตํ่ากว่าเส้นแบ่งความยากจน ยืนยันได้ว่าชาวนาคือกระดูกสันหลังของชาติ ยังคงเป็นกลุ่มผู้ยากจน เป็นคนจนยิ่งกว่าคนจน หรือยากจนแสนสาหัส ภายใต้การปกครองของรัฐบาลส่วนใหญ่ ที่แก้ปัญหาชาวนาที่ปลายเหตุ คือพยุงราคา แต่ไม่ได้แก้ปัญหาที่ยั่งยืน.

คลิกอ่านคอลัมน์ "บทบรรณาธิการ" เพิ่มเติม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ