เอกชนหนุนรัฐลดราคาพลังงาน กังวลดอกเบี้ยสูง-ขอรัฐแก้หนี้ครัวเรือน

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เอกชนหนุนรัฐลดราคาพลังงาน กังวลดอกเบี้ยสูง-ขอรัฐแก้หนี้ครัวเรือน

Date Time: 1 ก.ย. 2566 06:21 น.

Summary

  • ส.อ.ท. หนุนนโยบายรัฐบาลใหม่ เตรียมลดราคาพลังงาน ค่าไฟ-น้ำมัน ในการประชุม ครม.นัดแรก ชี้ช่วยลดค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนการผลิต

Latest

ทุ่มงบสร้างมอเตอร์เวย์ “M9” ครม.ไฟเขียวโครงการ “บ้านเพื่อคนไทย”

ส.อ.ท. หนุนนโยบายรัฐบาลใหม่ เตรียมลดราคาพลังงาน ค่าไฟ-น้ำมัน ในการประชุม ครม.นัดแรก ชี้ช่วยลดค่าครองชีพประชาชนและต้นทุนการผลิต ขณะที่ โพล ส.อ.ท.ชี้เอกชนกังวลการขึ้นดอกเบี้ย ทำให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้น กำลังซื้อคนไทยลด พร้อมขอรัฐบาลยกหนี้ครัวเรือนเป็นวาระแห่งชาติ

นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) เปิดเผยถึงกรณีที่นายเศรษฐา ทวีสิน นายกรัฐมนตรี ได้ยืนยันว่าการประชุม ครม.นัดแรกจะพิจารณาปรับลดราคาไฟฟ้าและน้ำมันว่า เป็นเรื่องดีทำได้ทันใจกับที่ประชาชนคาดหวังไว้ ตามที่ได้หาเสียงเลือกตั้ง ซึ่งมีส่วนสำคัญในการลดค่าครองชีพของประชาชนและต้นทุนภาคธุรกิจโดยเฉพาะเอสเอ็มอี และตนเห็นว่าควรจะทำคู่ขนานไปกับการจัดสรรงบประมาณ เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจเพิ่มเติมช่วงปลายปีนี้ “ส.อ.ท.ได้เรียกร้องมา 6-7 เดือนแล้ว ให้ทบทวนค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) ไม่ให้สูงเกินไป เพราะส่งผลให้ต้นทุนการผลิตเพิ่มขึ้น แล้วยังบั่นทอนขีดความสามารถการแข่งขันของไทยด้วย หากเทียบกับคู่แข่งที่ส่งออกสินค้าประเภทเดียวกัน”

นายเกรียงไกร ยังกล่าวว่า เมื่อต้นทุนภาคการผลิตสูงขึ้น จึงเป็นเหตุผลที่ทำให้ต้องปรับราคาสินค้า สุดท้ายกลับมากระทบกับค่าครองชีพประชาชน การลดค่าพลังงานจึงเป็นการแก้ปัญหาที่ต้นตอและแก้ปัญหาปากท้องชาวบ้าน แต่เมื่อปรับลดค่าพลังงาน โดยเฉพาะน้ำมันดีเซลที่เป็นน้ำมันเศรษฐกิจที่ใช้มากสุด ภาครัฐต้องดูแลราคาสินค้าอุปโภคบริโภคให้มีการปรับราคาอย่างเหมาะสมด้วย “ส่วนการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำปีนี้ เพื่อเพิ่มรายได้ให้แรงงาน เห็นว่าไม่ใช่เวลาที่เหมาะสม เป็นการเพิ่มรายจ่ายผู้ประกอบการ ท้ายสุดก็จะกระทบต่อแรงงานเอง เพราะต้นทุนรวมผู้ประกอบการสูงขึ้น ทั้งจากดอกเบี้ยขาขึ้นและราคาวัตถุดิบ ฯลฯ ท่ามกลางเศรษฐกิจโลกและไทยที่ชะลอตัว และหนี้ครัวเรือนที่สูงทำให้การขายสินค้าและการส่งออกชะลอตัวต่อเนื่อง”

นายเกรียงไกร ยังได้เผยผลสำรวจ ส.อ.ท.โพล ภายใต้หัวข้อ “อัตราดอกเบี้ยขาขึ้น กระทบอุตสาหกรรมแค่ไหน” ว่า ผู้บริหาร ส.อ.ท. มองว่า การขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย 0.25% ต่อปี จาก 2% เป็น 2.25% สูงสุดในรอบ 9 ปี จะส่งผลให้ต้นทุนการเงินสูงขึ้น จึงกังวลมากกับเรื่องนี้ และนักวิเคราะห์มองว่าธนาคารกลางสหรัฐฯ (เฟด) มีโอกาสปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายอีก 1 ครั้งปลายปีนี้ จึงอาจกดดันให้ ธปท.ต้องปรับดอกเบี้ยนโยบายขึ้นอีก ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อภาคอุตสาหกรรม และกำลังซื้อประชาชน “ดอกเบี้ยเงินกู้และหนี้ครัวเรือนที่สูงขึ้น ทำให้ประชาชนเริ่มระมัดระวังการใช้จ่าย ภาคธุรกิจเกิดแรงกดดัน ทำให้การขึ้นราคาสินค้าตามต้นทุนจริงทำได้ยากขึ้นและต้องชะลอการลงทุน”

ทั้งนี้ ผู้บริหาร ส.อ.ท.เสนอขอให้รัฐบาล ออกมาตรการบรรเทาผลกระทบจากดอกเบี้ยที่สูงขึ้น เช่น ขอให้แบงก์รัฐสนับสนุนสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำให้เอสเอ็มอี, กำกับดูแลส่วนต่างดอกเบี้ยเงินฝากกับเงินกู้ให้ลดลง, ปรับเงื่อนไขการขอสินเชื่อธนาคารพาณิชย์ เพื่อช่วยให้เข้าถึงแหล่งเงินทุนได้ง่ายขึ้น และให้ ธปท.ชะลอการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบายออกไปก่อนในช่วงนี้ นอกจากนี้ ยังเสนอให้รัฐยกระดับปัญหาหนี้ครัวเรือน เป็นวาระเร่งด่วนที่ต้องแก้ปัญหาทั้งระบบ ตั้งแต่การเข้ามาดูแลค่าครองชีพประชาชน ค่าเดินทาง ค่าไฟฟ้า ประปา ฯลฯ เพื่อให้ประชาชนมีเงินเหลือใช้, ส่งเสริมให้เกิดการจ้างงาน สร้างอาชีพใหม่ๆ, เปิดโอกาสให้ผู้สูงอายุมีรายได้จากการทำงาน การออกมาตรการสร้างแรงจูงใจเชิงบวกให้ลูกหนี้ชั้นดี และส่งเสริมให้ประชาชนใช้มาตรการช่วยเหลือในการปรับโครงสร้างหนี้ ทั้งหนี้สถาบันการเงิน และหนี้นอกระบบ รวมถึงการจัดสรรงบประมาณรัฐมาช่วยแก้ปัญหาหนี้ครัวเรือนอย่างครบวงจร.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ