นายเวทางค์ พ่วงทรัพย์ รองปลัดกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) เปิดเผยว่า ผลการมอนิเตอร์และรับแจ้งข่าวปลอม ของศูนย์ต่อต้านข่าวปลอม วันที่ 21-27 เม.ย. พบข้อความที่เข้ามาทั้งหมด 3,204,784 ข้อความ โดยมีข้อความที่ต้องดำเนินการตรวจสอบ (Verify) ทั้งสิ้น 221 ข้อความ ส่วนใหญ่อยู่ในกลุ่มนโยบายภาครัฐ สอดรับกับกระแสเลือกตั้ง
“ในส่วนของข่าวปลอมที่มีคนสนใจสูงสุดหลักๆอยู่ในหมวดข่าวกลุ่มนโยบายรัฐบาล ข่าวสารราชการ รวมถึงความสงบเรียบร้อยของสังคมและความมั่นคงภายในประเทศ อาทิ รัฐบาลเติมเงินพิเศษเข้าบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ 2 กลุ่ม คนละ 1,500 บาท และกรมการจัดหางาน ร่วมกับสายการบินเปิดรับสมัครพนักงาน Part Time เป็นต้น”
สำหรับจำนวนเรื่องที่ดำเนินการตรวจสอบ สัปดาห์นี้ แบ่งข่าวปลอมที่ได้รับความสนใจเป็น 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มที่ 1 ข่าวปลอมเรื่องนโยบายรัฐบาล ข่าวสารทางราชการ ความสงบเรียบร้อยของสังคม ขัดศีลธรรมอันดี และความมั่นคงภายในประเทศ จำนวน 68 เรื่อง กลุ่มที่ 2 ข่าวปลอมเรื่องผลิตภัณฑ์สุขภาพ วัตถุอันตราย เครื่องสำอาง รวมถึงสินค้าและบริการที่ผิดกฎหมาย จำนวน 43 เรื่อง กลุ่มที่ 3 ข่าวปลอมเรื่องภัยพิบัติ จำนวน 15 เรื่อง กลุ่มที่ 4 ข่าวปลอมเศรษฐกิจ จำนวน 25 เรื่อง
“ข่าวปลอมเกี่ยวกับโควิด-19 พบจำนวน 5 เรื่อง โดยข่าวปลอมเรื่องโควิดที่ได้รับความสนใจและประชาชนเข้ามามีส่วนร่วม (Engagement) มากที่สุด เป็นข่าวปลอมที่ว่าโควิดสายพันธุ์ XBB ตรวจพบยาก เป็นพิษมากกว่าเดลตา 5 เท่า และมีอัตราการตายที่สูงกว่า”.