เลขา สศช.เตือนพรรคการเมืองหาเสียงต้องดูว่าทำได้จริงหรือไม่ ขึ้นค่าแรงขั้นต่ำจะส่งผลดีต่อต่างด้าวมากกว่าขึ้นค่าแรงปริญญาตรีทำให้งบภาครัฐโป่งเพิ่มเงินบัตรสวัสดิการใช้เงินจากไหน ชงคลังปรับโครงสร้างจัดเก็บภาษีก่อนช้าเกิน เผยหนี้ครัวเรือนล่าสุด 14.9 ล้านล้านบาท เป็นหนี้เสีย 1 ล้านล้านบาท
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) เปิดเผยรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาสที่ 4 ปี 2565 ว่า หนี้สินครัวเรือนล่าสุดไตรมาส 3/2565 มีมูลค่า 14.90 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.9% คิดเป็นสัดส่วน 86.8%ต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (จีดีพี) เป็นหนี้ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (เอ็นพีแอล) มีมูลค่า 1.09 ล้านล้านบาท โดยอยู่ระหว่างปรับโครงสร้าง 780,000 ล้านบาท ส่วนที่เหลือต้องไปติดตามดูว่าหายไปเพราะอะไร ซึ่งคงมีคนที่หนีหนี้ไปบ้าง ขณะเดียว กันต้องเฝ้าระวังสินเชื่อยานยนต์ที่มีสัดส่วน 13.7% ต่อสินเชื่อรวมเพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 5 ติดต่อกัน
ขณะเดียวกัน ข้อมูลเครดิตบูโรพบกลุ่มลูกหนี้ดีที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จนกลายเป็นหนี้เสียยังมีปริมาณมาก แม้การแพร่ระบาดจะคลี่คลายลง แต่มูลค่าหนี้เสียยังสูงถึง 400,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นเกือบ 2 เท่าเมื่อเทียบกับไตรมาส 1/2565 และมีจำนวนบัญชีที่เป็นหนี้เสียเพิ่มขึ้นเป็น 4.7 ล้านบัญชี จาก 4.3 ล้านบัญชี ของไตรมาสก่อนหน้า ซึ่งเกือบ 60% เป็นสินเชื่อส่วนบุคคล “ปัญหาหนี้ครัวเรือนเป็นเสมือนกับดักต่อเศรษฐกิจและสังคมไทย จึงต้องเร่งปรับโครงสร้างหนี้ของลูกหนี้ที่เริ่มมีสัญญาณการผิดชำระหนี้และต้องมีมาตรการเฉพาะเจาะจงช่วยเหลือลูกหนี้เสีย”
ส่วนสถานการณ์ด้านแรงงานไตรมาส 4/2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้น ผู้มีงานทำมี 39.2 ล้านคน ขยายตัว 1% ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นกว่าปีที่ผ่านมา ค่าจ้างแรงงานปรับเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง 5 ไตรมาส โดยไตรมาส 4/2565 ค่าจ้างเฉลี่ย อยู่ที่ 13,964 บาทต่อคนต่อเดือน อัตราการว่างงานปรับตัวใกล้เคียงกับช่วงก่อนโควิด-19 โดยไตรมาส 4/2565 อยู่ที่ 1.15% คิดเป็น 460,000 คน เป็นผู้ว่างงานระยะยาว 110,000 คน ทั้งนี้ อัตราการมีงานทำของปี 2565 ได้ปรับตัวเพิ่มขึ้นมาอยู่ในระดับเดียวกับช่วงก่อนเกิดโควิด ที่ 98.3%
เลขาธิการ สศช.ยังได้กล่าวข้อเสนอไปยังกระทรวงการคลังด้วยว่า ถึงเวลาต้องเร่งปรับโครงสร้างภาษีของประเทศ เพราะหากปล่อยให้ล่าช้าไปจะทำให้เกิดแรงกดดันทางการคลังเพิ่มขึ้นแล้วจะดำเนินการไม่ทัน โดยตั้งปรับทั้งการหารายได้และการใช้จ่ายให้มีประสิทธิภาพ
ส่วนการหาเสียงเลือกตั้งของพรรคการเมืองต่างๆที่ต้องใช้เงินเมื่อถึงเวลาแล้วก็ต้องมาพิจารณาดูว่าทำได้จริงหรือไม่ การเพิ่มบัตรสวัสดิการแห่งรัฐเป็น 700-1,000 บาทต่อเดือน ก็ต้องดูว่าจะใช้เงินในโครงการอย่างไร ส่วนการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ปัจจุบันแรงงานในไทย มีเพียง 2 ล้านคน และมากกว่า 1 ล้านคนเป็นแรงงานต่างด้าว หมายความว่าแรงงานที่มีทักษะในไทย มีค่าแรงสูงกว่าค่าแรงขั้นต่ำอยู่แล้ว แนวทางที่ถูกต้องคือ ส่งเสริมการให้ค่าแรงตามฝีมือแรงงานซึ่งนายจ้างยินดีจ่าย สิ่งที่ต้องระมัดระวัง นักลงทุนต่างชาติจะมีภาพจำว่าประเทศไทยกำลังจะปรับค่าแรงเพิ่มขึ้นทั้งระบบ ทำให้ชะลอการลงทุน ส่วนการปรับเงินเดือนขั้นต่ำในระดับปริญญาตรี ภาครัฐก็ต้องมีการปรับฐานเงินเดือนของข้าราชการด้วยก็จะเกิดภาระต่องบประมาณเพิ่มขึ้นอีก
น.ส.วรวรรณ พลิคามิน รองเลขาธิการ สศช. เปิดเผยว่า รายจ่ายของภาครัฐโดยรวมในปี 2585 จะเพิ่มขึ้นจาก 3 ล้านล้านบาทในปี 2566 เป็น 6.5 ล้านล้านบาท ภาครัฐจึงต้องปรับปรุงโครงสร้างภาษี และปรับปรุงการจัดเก็บรายได้จากภาษี เนื่องจากเป็นรายได้สำคัญของภาครัฐที่คิดเป็นสัดส่วนถึง 88.5% ของรายได้ทั้งหมด แต่สัดส่วนรายได้ภาษีต่อผลิตภัณฑ์มวลรวมในภายประเทศ (จีดีพี) ของไทยอยู่ในระดับต่ำมาโดยตลอด 20 ปีที่ผ่านมา ทำให้ภาครัฐจัดเก็บรายได้ไม่พอกับรายจ่ายและต้องจัดทำงบประมาณขาดดุลมาอย่างต่อเนื่องยาวนาน โดยในปี 2565 การขาดดุลงบประมาณของไทยอยู่ที่ 650,000 ล้านบาท เพิ่มขึ้นจากในปี 2546 ที่ขาดดุลงบประมาณ 41,000 ล้านบาท
ดังนั้น เพื่อแก้ไขปัญหาดังกล่าวต้องมีมาตรการในการนำคนทุกกลุ่มเข้ามาอยู่ในระบบภาษี ต้องทบทวนการยกเว้นภาษีให้แก่รายได้บางประเภท และทบทวนสิทธิประโยชน์การหักค่าใช้จ่ายและค่าลดหย่อนที่อาจเอื้อต่อผู้มีรายได้สูงมากเกินไปและสื่อสารให้ประชาชนเห็นถึงความสำคัญของการจ่ายภาษี.