ผอ.ไอเอ็มเอฟตีระฆัง เตือนโลกรับมือเศรษฐกิจถดถอย ชี้เงินเฟ้อสูง-เพิ่มดอกเบี้ย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ผอ.ไอเอ็มเอฟตีระฆัง เตือนโลกรับมือเศรษฐกิจถดถอย ชี้เงินเฟ้อสูง-เพิ่มดอกเบี้ย

Date Time: 3 ม.ค. 2566 05:00 น.

Summary

  • “ผอ.ไอเอ็มเอฟ” เตือนประชาคมโลกเตรียมรับมือปัญหาเศรษฐกิจ หลังประมาณการเชื่อว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกราว 1 ใน 3 จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย สาเหตุใหญ่จากสงครามในยูเครน อัตราเงินเฟ้อ

Latest

“มนพร” สั่งสนามบินกระบี่เตรียมรับมือไฮซีซั่น

“ผอ.ไอเอ็มเอฟ” เตือนประชาคมโลกเตรียมรับมือปัญหาเศรษฐกิจ หลังประมาณการเชื่อว่าประเทศต่างๆ ทั่วโลกราว 1 ใน 3 จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย สาเหตุใหญ่จากสงครามในยูเครน อัตราเงินเฟ้อ การเพิ่มดอกเบี้ยธนาคารกลางประเทศต่างๆ และการยกเลิกมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลจีน ประเทศที่มีเศรษฐกิจใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลก กระทบภาคอุตสาหกรรม ทำให้การผลิตของจีนหดตัวเร็วที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี ด้าน “มูดดี’ส” สำทับยุโรปไม่รอดภาวะเศรษฐกิจถดถอย ส่วนอเมริการ่อแร่

ไอเอ็มเอฟออกมาเตือนเศรษฐกิจถดถอย เปิดเผยขึ้นเมื่อวันที่ 2 ม.ค. นายคริสตาลีนา จอร์เจียวา ผู้อำนวยการกองทุนการเงินระหว่างประเทศ (IMF) ออกแถลงการณ์เตือนประชาคมโลกให้เตรียมรับมือกับปัญหาทางเศรษฐกิจ หลังจากการประมาณการเชื่อว่าประเทศต่างๆทั่วโลกราว 1 ใน 3 จะเผชิญกับภาวะเศรษฐกิจถดถอย (Recession)

ผู้อำนวยการไอเอ็มเอฟกล่าวว่า สงครามในยูเครน อัตราเงินเฟ้อ และการเพิ่มอัตราดอกเบี้ยของธนาคารกลางประเทศต่างๆเพื่อพยายามควบคุมค่า ครองชีพไม่ให้สูงไปกว่านี้ ทำให้เศรษฐกิจในปี 2566 มีแนวโน้มจะชะลอตัว แต่การยกเลิกมาตรการป้องกันไวรัสโควิด-19 ของรัฐบาลจีน ส่งผลให้เกิดการแพร่ระบาดเป็นวงกว้างในจีน กระทบภาคธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ อัตราการผลิตของจีนหดตัวอย่างรวดเร็วที่สุดในรอบเกือบ 3 ปี

ในช่วง 2-3 เดือนจากนี้ จีนจะเผชิญกับความยากลำบาก บั่นทอนอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจ และเมื่อเศรษฐกิจจีนซึ่งใหญ่เป็นอันดับ 2 ของโลกได้รับผลกระทบ ย่อมส่งผลกระทบไปยังการเติบโตของเศรษฐกิจในระดับภูมิภาคและระดับโลกปี 2566 ไอเอ็มเอฟคาดการณ์ว่า จะเป็นปีที่ยากลำบากยิ่งกว่าปี 2565 แน่นอนว่าบางประเทศอาจรอดพ้นจากภาวะนี้ แต่ประชาชนหลายร้อยล้านคนอาจรู้สึกถึงผลกระทบในการใช้ชีวิต

สำนักข่าวต่างประเทศรายงานด้วยว่า ภาวะถดถอย หรือรีเซสชัน เป็นช่วงที่เศรษฐกิจเริ่มชะลอการขยายตัว เงินเฟ้ออยู่ในระดับสูง ทิศทางการลงทุนมีแนวโน้มขาลง เป็นช่วงที่กิจกรรมทางเศรษฐกิจ ผลิตภัณฑ์มวลรวมภายในประเทศ (GDP) การจ้างงานและความต้องการสินค้าโดยรวมลดลง คนว่างงานเพิ่มมากขึ้น ธุรกิจเริ่มขาดแคลนเงินทุนหมุนเวียน

ด้านนางคาทรินา เอล นักเศรษฐกิจประจำหน่วยวิเคราะห์เศรษฐกิจของบริษัทจัดอันดับมูดดี’ส กล่าวว่า นอกจากจีนแล้ว เศรษฐกิจยุโรปย่อมหนีไม่พ้นภาวะถดถอย ขณะที่เศรษฐกิจสหรัฐฯอยู่ในสภาพจวนเจียนจะถดถอย เมื่อเศรษฐกิจสหรัฐฯมีปัญหาเมื่อไหร่ อุปทานหรือความต้องการสินค้าและบริการจะลดลง นั่นหมายถึงความต้องการสินค้าและบริการจากจีนและประเทศอื่นๆในเอเชียอย่างไทยและเวียดนามจะลดลง ประกอบกับอัตราดอกเบี้ยการกู้ยืมที่สูงอยู่แล้ว ย่อมทำให้ภาคธุรกิจหลีกเลี่ยงการลงทุน หรือขยายกิจการ หรือนักลงทุนดึงเงินออกจากระบบเศรษฐกิจ และการที่นักลงทุนดึงเงินออกจะส่งผลให้บางประเทศโดยเฉพาะประเทศยากจน ขาดเงินชำระค่าสินค้านำเข้าที่จำเป็นอย่างอาหารและพลังงาน

ขณะที่นายบิล เบลน นักยุทธศาสตร์ประจำสถาบันการลงทุนและการเงินชาร์ดแคปิทอลของอังกฤษ มองว่าคำเตือนของไอเอ็มเอฟเป็นการเตือนสติได้ถูกเวลา เพราะถึงแม้ตลาดแรงงานทั่วโลกยังคง มีความเข้มแข็งอยู่บ้าง มีการสร้างงาน การจ้างงานอย่างต่อเนื่อง แต่ไม่ได้หมายความว่าเป็นการจ้างที่ให้เงินตอบแทนสูง และย่อมนำมาซึ่งภาวะเศรษฐกิจถดถอยในที่สุด ขณะที่ธนาคารกลางต่างๆจะไม่ลดอัตราดอกเบี้ยในเร็วๆนี้ ปัจจัยเหล่านี้จะเกิดผลกระทบที่ตามมาอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้ และทำให้ตลาดอยู่ในสภาพวิตกกังวลตลอดเวลาอย่างน้อย 6 เดือนแรกของปี 2566


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ