กกพ.แจ้ง 3 การไฟฟ้า เตรียมขึ้นค่าเอฟทีงวดใหม่ ก.ย.–ธ.ค.ปี 65 ที่ 68.66 สตางค์ต่อหน่วย คิดเป็นค่าไฟรวมเฉลี่ย 4.72 บาทต่อหน่วย อ้อนแม้ค่าไฟและค่าเอฟทีจะทำนิวไฮ แต่ปรับในอัตราต่ำที่สุดแล้ว ส่วนงวด ม.ค.–เม.ย.ปี 66 รอลุ้นแหล่งเอราวัณอ่าวไทย ผลิตก๊าซเพิ่มได้ตามแผนไหม ด้านยอดใช้น้ำมัน 6 เดือนแรกของปีเพิ่ม 12.4% ดันยอดนำเข้าน้ำมันดิบทะลัก 6.28 แสนล้าน
นายคมกฤช ตันตระวาณิชย์ โฆษกคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน (กกพ.) เปิดเผยว่า กกพ. ได้แจ้งไปยัง 3 การไฟฟ้า ได้แก่ การไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) และการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) ถึงมติคณะกรรมการ กกพ. ในการเห็นชอบปรับขึ้นค่าไฟฟ้าผันแปรอัตโนมัติ (เอฟที) งวดใหม่ ระหว่างเดือน ก.ย.-ธ.ค.นี้ ที่ต้องขึ้นจากงวดปัจจุบัน (พ.ค.-ส.ค.) อีก 68.66 สตางค์ (สต.) ต่อหน่วย รวมเป็น 93.43 สตางค์ต่อหน่วย และเมื่อรวมค่าไฟฐาน เฉลี่ยจะอยู่ที่ประมาณ 4.72 บาทต่อหน่วย จากปัจจุบัน 4 บาทต่อหน่วย
นายคมกฤช กล่าวว่า ยอมรับว่าค่าไฟฟ้าฐานและค่าเอฟทีดังกล่าว เป็นอัตราสูงสุด (นิวไฮ) ของค่าไฟฟ้าประเทศไทย ซึ่งการประกาศเป็นไปตามพระราชบัญญัติ (พ.ร.บ.) ประกอบกิจการพลังงาน โดยอัตรานี้เป็นการสะท้อนต้นทุนเชื้อเพลิงปัจจุบันเท่านั้น ยังไม่มีการเก็บค่าเอฟทีเพื่อนำไปชำระหนี้ค่าเชื้อเพลิงให้กับ กฟผ. มูลค่า 83,010 ล้านบาทแต่อย่างใด “อัตราค่าไฟฟ้าดังกล่าว ยังเป็นไปตามที่สำนักงาน กกพ.ได้จัดรับฟังความเห็นประชาชนภายใต้ 3 แนวทางและแนวทางที่เลือกคือปรับขึ้นในระดับต่ำสุดและ กฟผ.ได้ปฏิบัติตามเพื่อลดผลกระทบประชาชนให้น้อยที่สุดซึ่งงวดนี้ เท่ากับว่า กฟผ.จะรับภาระเพิ่มอีก ประเมินรวมทั้งหมดแล้ว 100,000 ล้านบาท”
สำหรับแนวโน้มค่าเอฟทีในงวดเดือน ม.ค. -เม.ย.2566 ก็ยังคาดว่าจะเป็นขาขึ้น แต่ราคาก็อาจลดลงได้ ขึ้นอยู่กับว่าแหล่งก๊าซธรรมชาติเอราวัณในอ่าวไทย จะสามารถเพิ่มกำลังผลิตก๊าซฯได้ตามแผนหรือไม่ เพราะหากผลิตได้ตามแผน ก็จะช่วยลดการพึ่งพาการนำเข้าก๊าซธรรมชาติเหลว (แอลเอ็นจี) ที่เป็นเชื้อเพลิงผลิตไฟฟ้า
ส่วนกรณีเกิดการรั่วของท่อก๊าซธรรมชาติแหล่งซอติก้า ประเทศเมียนมา จนต้องปิดซ่อมฉุกเฉินนั้น เบื้องต้นเป็นรอยรั่วที่ท่อส่งก๊าซฯบนบกและต้องหยุดส่งก๊าซธรรมชาติมาประเทศไทยวันละ 250 ล้านลูกบาศก์ฟุตรวม 14 วัน อย่างไรก็ตามล่าสุด กฟผ.ได้สั่งเดินเครื่องโรงไฟฟ้าที่ภาคตะวันตก ให้ใช้น้ำมันดีเซลและก๊าซธรรมชาติจากภาคตะวันออกเข้าไปทดแทนก๊าซฯจากพม่า ทั้งนี้ ก๊าซฯที่ประเทศไทยใช้ผลิตไฟฟ้ามาจากแหล่งก๊าซฯในอ่าวไทย, จากเมียนมา และการนำเข้าแอลเอ็นจี ซึ่งก็จะมีผลต่อค่าไฟฟ้าในระยะต่อไป
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ก่อนหน้านี้ กกพ.มีกำหนดแถลงอัตราค่าเอฟทีงวดใหม่ในวันที่ 1 ส.ค.ที่ผ่านมา แต่ต่อมาแจ้งเลื่อนออกไป โดยคาดว่าน่าจะเป็นเพราะ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี มีความเป็นห่วงค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น แต่ตามกฎหมายและด้วยภาระของ กฟผ.ที่สูงมาก ทำให้ต้องประกาศขึ้นค่าเอฟทีในที่สุด อย่างไรก็ตาม กระทรวงพลังงานกำลังเตรียมเสนอของบประมาณภาครัฐมาสนับสนุน เช่น อาจจะใช้นโยบายเช่นเดียวกับปัจจุบันคือ ผู้ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ให้มีภาระค่าเอฟทีเท่ากับงวดปัจจุบัน เป็นต้น
นางสาวนันธิกา ทังสุพานิช อธิบดีกรมธุรกิจพลังงาน (ธพ.) เปิดเผยภาพรวมการใช้น้ำมันของประเทศไทยเฉลี่ย 6 เดือนแรกปีนี้ (ม.ค.-มิ.ย.) ว่า มีการใช้เฉลี่ยอยู่ที่วันละ 152.14 ล้านลิตร เพิ่มขึ้นจากช่วงเดียวกันของปีก่อน 12.4% “การใช้ที่เพิ่มขึ้นส่งผลให้เกิดการนำเข้าน้ำมันดิบเพิ่มขึ้นมาอยู่ที่วันละ 961,425 บาร์เรล เพิ่มขึ้น 9.2% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา โดยมูลค่าการนำเข้าน้ำมันดิบรวมอยู่ที่ 628,648 ล้านบาทหรือเฉลี่ยอยู่ที่ 104,775 ล้านบาท/เดือนเพิ่มขึ้น 98.7% จากช่วงเดียวกันของปีก่อนเนื่องจากระดับราคาน้ำมันดิบตลาดโลกที่สูงและอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทที่อ่อนค่า”.