นายกฯพ้อไม่ได้นิ่งนอนใจดูแลค่าครองชีพของประชาชน ช่วยเหลือธุรกิจที่เป็นกลุ่มเปราะบาง ยืนยันให้ความสำคัญ หามาตรการช่วยเหลือ ด้าน “พาณิชย์” ย้ำยังสั่งตรึงราคาทั้งหมดไม่มีสินค้าจำเป็นขึ้นราคาเดือน ส.ค.นี้ บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง นม ห้ามขึ้น แต่ผู้เลี้ยงไก่ไข่ประกาศสวนขึ้นราคาไข่ไก่ฟองละ 10 สตางค์ หรือแผงละ 3 บาท มีผล 3 ส.ค.นี้
พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม เปิดเผยภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) ว่า รัฐบาลไม่ได้นิ่งนอนใจต่อปัญหาเศรษฐกิจ โดยเฉพาะค่าครองชีพของประชาชนที่สูงขึ้น ซึ่งต้องแยกพิจารณาเศรษฐกิจระดับจุลภาค ส่วนของประชาชนที่ยังมีรายได้น้อยอยู่ให้ความสำคัญเรื่องค่าครองชีพ และธุรกิจบางกลุ่มที่เปราะบางซึ่งเป็นกลุ่มเป้าหมายที่รัฐบาลให้ความสำคัญอย่างเร่งด่วนในการหามาตรการดูแลช่วยเหลือต่อไป
“ผมได้สั่งการให้ติดตามหลายเรื่อง ทั้งนโยบายเร่งด่วน เช่น การลดอัตราภาษีน้ำมันดีเซล 5 บาทต่อลิตร เป็นเวลา 2 เดือน การจัดสรรที่ดินทำกินให้เกษตรกรมากกว่า 10,000 ราย การประกันภัยข้าวนาปี 29 ล้านไร่ การส่งเสริมการลงทุนในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรืออีอีซี ซึ่งวันนี้มีผู้ขอรับการสนับสนุนแล้ว 183 โครงการ มูลค่าเกือบ 100,000 ล้านบาท ทั้งหมดนี้มีการดำเนินการและเกิดประโยชน์ไปแล้ว และจากการที่ผมและ ครม.ลงพื้นที่ก็ได้ไปติดตามเรื่องเหล่านี้ อะไรที่มีปัญหาอุปสรรคก็จะแก้ไข ปรับแผนงานให้เกิดประโยชน์สูงสุดในการใช้จ่ายงบประมาณ”
ทั้งนี้ ในส่วนของภาพรวมเศรษฐกิจ นายก รัฐมนตรีกล่าวว่า ที่ประชุม ครม.ได้รับทราบภาวะและแนวโน้มเศรษฐกิจไทยประจำไตรมาสที่ 2 ปี 2565 ซึ่งหลายประเด็นที่เป็นภาพใหญ่ของประเทศที่มีแนวโน้มไปในทางที่ดี เมื่อเทียบเคียงกับทุกประเทศในโลก ขอให้ประชาชนและภาคธุรกิจเชื่อมั่นเสถียรภาพการเงินของไทยยังมั่นคงและแข็งแกร่งจากการดำเนินนโยบายการเงินการคลังที่รอบคอบและมีวินัยของเรา และเป็นที่เชื่อมั่นของนักวิเคราะห์ และนักลงทุนต่างประเทศซึ่งสนใจเข้ามาลงทุนเพิ่มขึ้นเรื่อยๆ
ขณะเดียวกัน ในฝั่งการดูแลค่าครองชีพของประชาชนร้อยตรีจักรา ยอดมณี รองอธิบดีกรมการค้าภายใน เปิดเผยถึงกระแสข่าวที่ว่ามีสินค้าหลายประเภทปรับขึ้นราคาในเดือน ส.ค.65 ว่า กรมการค้าภายในยังคงขอความร่วมมือผู้ผลิต และผู้จำหน่ายสินค้าให้ตรึงราคาสินค้าที่จำเป็นต่อการครองชีพต่อไปให้นานที่สุดเท่าที่จะทำได้ และในส่วนสินค้าอุปโภคบริโภคที่ต้องขออนุญาต เช่น บะหมี่กึ่งสำเร็จรูป ปลากระป๋อง ผลิตภัณฑ์นม ฯลฯ จนถึงขณะนี้ยังไม่อนุญาตให้ปรับราคา เพราะต้องพิจารณาอย่างรอบคอบทั้งด้านราคาและปริมาณสินค้า รวมถึงจะพิจารณาเป็นรายๆ เนื่องจากแต่ละผลิตภัณฑ์มีต้นทุนที่แตกต่างกัน ที่สำคัญต้องให้ผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสามารถดำเนินธุรกิจต่อไปได้ สินค้าไม่ขาดแคลน รวมถึงผู้บริโภคได้รับผลกระทบน้อยที่สุด
“การที่สินค้าบางรายการปรับราคาในช่วงเวลานี้ อาจเป็นเพราะผู้ผลิตและผู้จำหน่ายสินค้ามีต้นทุนการผลิตรวมทั้งต้นทุนค่าขนส่งสินค้าที่สูงขึ้น ซึ่งเชื่อว่าผู้บริโภคมีความเข้าใจ อย่างไรก็ดี สินค้าหลายประเภทมีราคาทรงตัวหรือปรับลดลง เช่น สินค้าของใช้ประจำวันหลายรายการ กลุ่มเครื่องใช้ไฟฟ้า และกลุ่มยาและเวชภัณฑ์ เช่น ชุดตรวจเอทีเค หน้ากากอนามัย เป็นต้น สินค้าที่ปรับราคาสูงขึ้นนั้นมีบางยี่ห้อเท่านั้น ดังนั้น ผู้บริโภคจึงยังคงมีทางเลือกในการซื้อสินค้าทดแทนได้ นอกจากนี้ การปรับราคาสินค้าส่วนหนึ่งมาจากการปรับ เปลี่ยนโปรโมชัน หรือส่วนลดทางการค้าที่ผู้ผลิต ให้กับผู้ค้าส่ง ค้าปลีก โดยกรมจะดูแลอย่างเต็มที่ ไม่ให้มีการฉวยโอกาสจำหน่ายสินค้าในราคาสูงเกินสมควร ซึ่งได้ส่งเจ้าหน้าที่ออกสำรวจติดตามสถานการณ์เป็นประจำทุกวัน รวมทั้งกำชับให้ผู้ประกอบการปิดป้ายแสดงราคาอย่างชัดเจน เพื่อให้ผู้บริโภคมีข้อมูลที่ครบถ้วนถูกต้องในการเลือกซื้อสินค้า หากประชาชนไม่ได้รับความเป็นธรรม ร้องเรียนได้ที่สายด่วนกรม โทร. 1569 จะส่งเจ้าหน้าที่ออกตรวจสอบ และหากพบผิดจะดำเนินการตามกฎหมายแน่นอน
อย่างไรก็ตาม ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ตั้งแต่วันที่ 3 ส.ค.เป็นต้นไป สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ 4 แห่ง ประกอบด้วย สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่แปดริ้ว จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ชลบุรี จำกัด, สหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่เชียงใหม่-ลำพูน จำกัด และสหกรณ์ผู้เลี้ยงไก่ไข่ลุ่มแม่น้ำน้อย จำกัด ประกาศแจ้งปรับขึ้นราคาไข่ไก่คละหน้าฟาร์มอีกฟองละ 10 สตางค์ มาอยู่ที่ฟองละ 3.50 บาท หรือเฉลี่ยปรับขึ้นแผง (30 ฟอง) ละ 3 บาท ทั้งนี้ เพื่อให้ สอดคล้องกับต้นทุนการเลี้ยงที่สูงขึ้น โดยเฉพาะต้นทุนวัตถุดิบอาหารสัตว์ รวมถึงค่าพลังงาน และเชื้อเพลิงที่ปรับเพิ่มขึ้น.