ในที่สุดรัฐบาลก็ต้องใจอ่อน ยอมทำตามคำเรียกร้องของประชาชน ด้วยการอนุมัติโครงการมาตรการเพิ่มกำลังซื้อประชาชนในยุคข้าวยากหมากแพง ดอกเบี้ยแพง ผ่าน 3 โครงการ เป็นเวลา 2 เดือน เริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ย.–31 ต.ค.2565 ได้แก่
1.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้มีบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (บัตรคนจน) ระยะที่ 5 คนละ 200 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวมเป็นคนละ 400 บาท จำนวน 13.34 ล้านคน โดยผู้ถือบัตรคนจนสามารถนำเงินไปซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้าราคาประหยัดพัฒนาเศรษฐกิจท้องถิ่น ร้านค้าประชาชนรัฐ และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการของรัฐ และหากผู้ถือบัตรใช้เงินไม่หมด จะไม่มีการสะสมในเดือนถัดไป
ส่วนหากประชาชนที่ถือบัตรคนจนประสงค์จะสละสิทธิ เพื่อร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 สามารถแจ้งคืนบัตรได้ที่กรมบัญชี กลางหรือสำนักงานคลังจังหวัด ภายในวันที่ 15 ส.ค.2565 ตามวันเวลาราชการ แต่เมื่อคืนบัตรแล้ว จะไม่สามารถกลับมาขอรับบัตรภายใต้โครงการลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐได้อีก
2.โครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือเป็นพิเศษ หรือกลุ่มเปราะบาง ระยะที่ 3 คนละ 200 บาท เป็นเวลา 2 เดือน รวมเป็นเงิน 400 บาท จำนวน 2.22 ล้านคน โดยผู้ได้รับสิทธิกลุ่มนี้จะได้รับสิทธิผ่านบัตรประจำตัวประชาชน สามารถนำเงินไปซื้อสินค้าจากร้านธงฟ้า ร้านค้าประชารัฐ และร้านค้าที่เข้าร่วมโครงการของรัฐได้ หากใช้วงเงินไม่หมด จะไม่มีการสะสมในเดือนถัดไปเช่นกัน
และหากต้องการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ระยะที่ 5 จะต้องลงทะเบียนเพื่อรับสิทธิตามโครงการคนละครึ่ง ผ่านแอปพลิเคชัน “เป๋าตัง” ภายในวันที่ 25 ส.ค.2565 และจะถือเป็นการสละสิทธิโครงการเพิ่มกำลังซื้อให้แก่ผู้ที่ต้องการความช่วยเหลือฯระยะที่ 3 และจะไม่สามารถเปลี่ยนแปลงได้อีก
3.โครงการ “คนละครึ่ง” ระยะที่ 5 คนละ 800บาท เป็นเวลา 2 เดือน มาตรการนี้เป็นสิทธิที่รัฐบาลออกครึ่งหนึ่ง ประชาชนออกครึ่งหนึ่ง รัฐออกเงินให้ใช้จ่ายวันละ 150 บาทต่อคนต่อวัน จำนวน 26.50 ล้านคน
ทั้งนี้ การเติมเงิน เพิ่มกำลังซื้อให้กับประชาชน ไม่ใช่นโยบายใหม่ เพราะรัฐบาลได้ทยอยออกมาตรการช่วยเหลือแบ่งเบาภาระค่าครองชีพประชาชน มาตั้งแต่ปี 2563 จากวิกฤติการแพร่ระบาดโควิด-19 ที่มีการปิดประเทศ หรือล็อกดาวน์ เป็นโครงการที่ประชาชนคุ้นเคย เพราะรัฐบาลได้ออกมาตรการมา 4 ครั้งแล้ว
สำหรับขั้นตอนการเติมเงินให้ผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และกลุ่มเปราะบางนั้นไม่ซับซ้อน เพราะรัฐบาลมีฐานข้อมูลครบถ้วนแล้ว พร้อมโอนเงินตามวันเวลาที่กำหนดไว้
ส่วนโครงการ “คนละครึ่ง” เฟส 5 แม้ไม่ได้ซับซ้อนมาก แต่ก็มีหลายขั้นตอนที่ต้องดำเนินการ โดยเฉพาะการยืนยันตัวตน เพื่อรับสิทธิ
ประชาชนผู้ที่เคยใช้สิทธิ “คนละครึ่ง เฟส 4” จะต้องยืนยันตัวตนเพื่อเข้าร่วมโครงการผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.65 และต้องใช้จ่ายครั้งแรกภายในเวลา 22.59 น. ของวันที่ 14 ก.ย.65 หากพ้นกำหนด จะถูกตัดสิทธิการเข้าร่วมโครงการดังกล่าว
ส่วนประชาชนที่ไม่เคยใช้สิทธิ “คนละครึ่ง” สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง เฟส 5 ผ่านแอปพลิเคชันเป๋าตัง หรือผ่านเว็บไซต์ www.คนละครึ่ง.com ได้ตั้งแต่วันที่ 19 ส.ค.2565 เช่นกัน
คุณสมบัติของประชาชนที่จะเข้าร่วมโครงการ “คนละครึ่ง เฟส5” มีดังนี้ 1.สัญชาติไทย 2.อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ณ วันลงทะเบียน 3.มีบัตรประจำตัวประชาชน 4.ไม่เป็นผู้ถือบัตรคนจน 5.ไม่ถูกระงับสิทธิหรือถูกเรียกเงินคืนจากในมาตรการโครงการอื่นๆ ของรัฐ 6.ไม่เป็นผู้ฝ่าฝืนเงื่อนไขของมาตรการโครงการอื่นๆของรัฐ หรือฝ่าฝืนมาตรการใดของรัฐเกี่ยวกับสถานการณ์แพร่ระบาดไวรัสโควิด-19
ที่สำคัญประชาชนคนไทย 1 คน สามารถเลือกรับสิทธิมาตรการเพิ่มกำลังซื้อได้เพียง 1 สิทธิเท่านั้น!
ขณะที่ผู้ประกอบการร้านค้ารายใหม่ ที่ต้องการเข้าร่วมโครงการคนละครึ่ง ก็สามารถลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ ผ่านเว็บไซต์www. คนละครึ่ง.com หรือสาขาหรือจุดรับลงทะเบียนของธนาคารกรุงไทย ได้ตั้งแต่วันที่ 15 ส.ค.2565 เป็นต้นไป เวลา 06.00-22.00 น. หรือจนกว่ากระทรวงการคลังจะประกาศปิดรับสมัคร
ส่วนผู้ประกอบการร้านค้าที่เคยเข้าร่วมโครงการของรัฐ มีแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” อยู่แล้ว และประสงค์จะเข้าร่วมโครงการต่อไป จะต้องลงทะเบียนผ่านแอปพลิเคชัน “ถุงเงิน” เพื่อยืนยันการเข้าร่วมโครงการอีกครั้ง
หากประชาชน ที่มีปัญหาการยืนยันตัวตน การลงทะเบียนการใช้สิทธิคนละครึ่งเฟส 5 สามารถเข้าไปขอใช้บริการได้ที่ธนาคารกรุงไทยทุกสาขาทั่วประเทศ
การเพิ่มกำลังซื้อของประชาชนทั้ง 3 โครงการครั้งนี้ ครอบคลุมประชาชน 42 ล้านคน โดยรัฐบาลใช้เงินจำนวน 27,427 ล้านบาท คาดหวังจะมีเม็ดเงินหมุนเวียนในระบบเศรษฐกิจมากกว่า 48,628 ล้านบาท ช่วยกระตุ้นเศรษฐกิจฐานราก อาทิ ตลาดสด ตลาดนัด ร้านอาหาร ร้านสวัสดิการประชารัฐ เป็นต้น และมีผลต่ออัตราการขยายตัวทางเศรษฐกิจของประเทศ 0.13% และช่วยรักษาระดับการเติบโตทางเศรษฐกิจให้ขยายตัวต่อเนื่อง ส่งผลให้เศรษฐกิจไทยปี 2565 ขยายตัว 3.5% ตามเป้าหมาย.
ดวงพร อุดมทิพย์