ระดมกึ๋นปลดล็อกกฎหมายเวนคืน หวังใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เพิ่มรายได้ให้รัฐ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ระดมกึ๋นปลดล็อกกฎหมายเวนคืน หวังใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์เพิ่มรายได้ให้รัฐ

Date Time: 4 มิ.ย. 2565 06:24 น.

Summary

  • “ศักดิ์สยาม” สั่งหน่วยงานคมนาคมระดมสมองพัฒนาโครงการเมกะโปรเจกต์ ปรับแนวคิดการเวนคืนนอกจากเพื่อก่อสร้างให้สามารถนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้วย

Latest

“หนี้สาธารณะไทย” ส่อชนเพดานในปี 2570  เหตุ GDP ต่ำ เงินดิจิทัลใช้วงเงินสูง แต่กระตุ้นเศรษฐกิจต่ำ

“ศักดิ์สยาม” สั่งหน่วยงานคมนาคมระดมสมองพัฒนาโครงการเมกะโปรเจกต์ ปรับแนวคิดการเวนคืนนอกจากเพื่อก่อสร้างให้สามารถนำพื้นที่มาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้วย หลังมีข้อติดขัดกฎหมายไม่เปิดช่องให้ทำได้ มั่นใจหากคลายล็อกจะสร้างรายได้ช่วยหน่วยงานรัฐลดภาระค่าใช้จ่ายประชาชน

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยว่า ขณะนี้ได้มอบนโยบายให้หน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ที่ดำเนินการเกี่ยวข้องกับโครงการก่อสร้างทั้งหมด หากจะมีการดำเนินการโครงการก่อสร้างในอนาคต ที่ต้องมีการเวนคืนที่ดินเพื่อนำมาก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐาน นอกจากเวนคืนเพื่อมาทำก่อสร้างแล้วจะต้องมีการคิดเผื่อที่จะเวนคืนที่ดินนำพื้นที่มาพัฒนาในเชิงพาณิชย์สร้างรายได้ประกอบด้วย และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้ได้ประโยชน์ครอบคลุมมากที่สุดในการพัฒนาและจะเป็นส่วนหนึ่ง หากมีการหารายได้จากพื้นที่เชิงพาณิชย์จะทำให้หน่วยงานในโครงการนั้นสามารถนำรายได้ดังกล่าวมาลดต้นทุนที่ประชาชนรับภาระลงได้ เช่น ค่าผ่านทาง เป็นต้น

“ปัจจุบันมีข้อจำกัดเงื่อนไขในการเวนคืนที่ดิน นอกจากเวนคืนเพื่อมาสร้างถนน สร้างรถไฟฟ้า สร้างทางด่วนแล้ว ในส่วนของกฎหมายไม่ได้เปิดช่องให้หน่วยงานรัฐสามารถเวนคืนที่ดินเพื่อมาใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ แต่ปัจจุบันยุคสมัยเปลี่ยนไปมาก การพัฒนาต้องทำควบคู่กันไป ขณะเดียวกัน หากมีการพัฒนาพื้นที่เชิงพาณิชย์ รายได้จากส่วนนี้จะสามารถนำมาอุดหนุนและช่วยลดภาระให้กับประชาชนผู้ใช้บริการได้ ดังนั้น จึงได้ให้เป็นนโยบายกับกระทรวงคมนาคม และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง หากพิจารณาแล้วมีข้อจำกัด มีประเด็นกฎหมาย ขอให้ไปเร่งพิจารณาหาแนวทางปรับปรุงแก้ไขช่องโหว่เพื่อให้ถูกต้องตามเงื่อนไขกฎหมายก่อนนำไปปฏิบัติ”

สำหรับโครงการในอนาคต จะต้องพัฒนาเชิงพาณิชย์ควบคู่กับการก่อสร้าง ได้แก่ โครงการรถไฟฟ้าของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ในระยะต่อไป ซึ่งจะต้องสร้างเพิ่มในระยะที่ 2, โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) ที่จะขยายเฟส 2 และเส้นทางรถไฟสายใหม่, โครงการทางหลวงพิเศษระหว่างเมือง หรือมอเตอร์เวย์ของกรมทางหลวง (ทล.) รวมถึงโครงการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานด้านการคมนาคมขนส่ง เพื่อพัฒนาระเบียงเศรษฐกิจภาคใต้ เชื่อมโยงการขนส่งระหว่างฝั่งทะเลอ่าวไทยเชื่อมทะเลอันดามัน (แลนด์บริดจ์) และโครงการก่อสร้างทางด่วนของการทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.) เป็นต้น

ด้านนายสราวุธ ทรงศิวิไล อธิบดีกรมทางหลวง กล่าวว่า กรมทางหลวงพร้อมสนับสนุน และได้สั่งการให้ฝ่ายกฎหมายและส่วนงานที่เกี่ยวข้องไปศึกษารายละเอียดถึงข้อกฎหมาย เนื่องจากในอนาคตทางหลวงมีแผนดำเนินการที่จะก่อสร้างโครงการมอเตอร์เวย์อีกหลายเส้นทางใหม่ๆทั่วประเทศ ดังนั้นจำเป็นต้องศึกษารูปแบบ ความเหมาะสม ในทุกมิติ ทั้งด้านการพัฒนาพื้นที่ พัฒนาเมือง และเชิงพาณิชย์ ควบคู่กับการก่อสร้างด้วย

ขณะที่นายภคพงศ์ ศิริกันทรมาศ ผู้ว่าการ รฟม. กล่าวว่า การเวนคืนที่ดินเพื่อนำไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ด้วย เป็นช่องทางให้โครงการเหล่านี้สามารถหารายได้เพิ่ม นอกจากรายได้จากการให้บริการเดินรถตามปกติ โดยโครงการรถไฟฟ้าในกำกับของ รฟม.นั้น เช่น โครงการรถไฟฟ้าสายสีน้ำตาล หรือโครงการรถไฟฟ้าในส่วน ภูมิภาค ซึ่งจะต้องทำในช่วงการสร้างการรับรู้ต่อชุมชน และก่อนทำการศึกษาผลกระทบด้านสิ่งแวดล้อม หรืออีไอเอส ซึ่งเป็นขั้นตอนก่อนที่จะออกพระราชกฤษฎีกา (พ.ร.ฎ.) เวนคืนที่ดิน ส่วนของโครงการรถไฟฟ้าสายสำคัญภายในเมือง เช่น รถไฟฟ้าสายสีส้มตะวันออกและตะวันตก และสายสีม่วงใต้ ได้ผ่านกระบวนการเหล่านั้นไปแล้ว รวมทั้งพระราชกฤษฎีกากำหนดเขตที่ดินที่จะเวนคืนด้วย ปัจจุบันมีข้อจำกัด แต่ก็สอดคล้องแนวทางเช่นเดียวกับมหานครอื่นๆทั่วโลก คือการดำเนินการเวนคืน ต้องทำเท่าที่จำเป็น จะไม่เวนคืนที่เป็นการรอนสิทธิ์ประชาชนมากเกินไป

ดังนั้น การดำเนินการจัดหาพื้นที่เพื่อมาใช้ประโยชน์เชิงพาณิชย์นั้น รฟม.จะต้องไปพัฒนาพื้นที่ตรงจุดที่สร้างขึ้น เพื่อรองรับการเดินทางต่อเชื่อมไประบบขนส่งอื่น ตามคอนเซปต์ การบริหารจัดการการเดินทาง และสิ่งอำนวยความสะดวกในการเดินทางหลายรูปแบบ เพื่อให้เข้าถึงสถานีรถไฟฟ้า ซึ่งอาจเป็นจุดพื้นที่รอการเดินทาง เพื่อต่อเชื่อมจากระบบรถไฟฟ้าไปยังระบบขนส่งอื่น เช่น รถเมล์ รถสองแถว เป็นต้น และการเวนคืนแต่ละพื้นที่ จะเวนคืนเท่าที่จำเป็น ตามที่กฎหมายกำหนด เพื่อมิให้เกิดข้อพิพาท ฟ้องร้อง เพื่อรักษาสิทธิ์ของประชาชนต่อศาลปกครอง และท้ายสุดก็จะส่งผลกระทบทำให้โครงการเหล่านี้ล่าช้าไปด้วย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ