ครม.เผยหลักเกณฑ์ลงทะเบียนบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 คาดคนจนเพิ่มจาก 13.45 ล้านคน เป็น 20 ล้านคน ตั้งคุณสมบัติเข้มต้องมีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี รายได้เฉลี่ยครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี ต้องไม่มีบัตรเครดิต ฯลฯ “คลัง” คาดใช้งบ 60,000 ล้านบาท เชื่อเกณฑ์เข้มช่วยแยกคนจนไม่จริงออกได้ ขณะที่ใช้บัตรประชาชนช่วยป้องกันทุจริต ย้ำช่วยคนมีรายได้น้อย คนจนจริงๆเท่านั้น
นายธนกร วังบุญคงชนะ โฆษกประจำสำนักนายกรัฐมนตรี เปิดเผยว่า ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) มีมติเห็นชอบโครงการลงทะเบียนเพื่อสวัสดิการแห่งรัฐ ปี 2565 และเห็นชอบร่างประกาศหลักเกณฑ์และวิธีการประเมินผลการดำเนินงาน และความคุ้มค่าในการจัดประชารัฐสวัสดิการ เพื่อบรรเทาภาระค่าใช้จ่ายให้กับผู้มีบัตรสวัสดิการฯ รวมทั้งช่วยเหลือกลุ่มตกหล่น โดยมีกลุ่มเป้าหมาย ผู้สนใจลงทะเบียนเข้าร่วมโครงการ 20 ล้านคน ประกอบด้วย ผู้ถือบัตรสวัสดิการฯ เดิม และผู้เข้าข่ายได้รับสิทธิรายใหม่ คาดเริ่มใช้สิทธิได้ตั้งแต่วันที่ 1 ต.ค.2565
คุณสมบัติของผู้ลงทะเบียน ต้องมีสัญชาติไทย อายุ 18 ปีบริบูรณ์ขึ้นไป ไม่เป็นภิกษุ ผู้ต้องขัง บุคคลที่อยู่ในสถานสงเคราะห์ ข้าราชการ พนักงานราชการ และผู้ปฏิบัติงานในหน่วยงานของรัฐที่ได้รับค่าตอบแทนจากหน่วยงานของรัฐ มีรายได้ไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี รายได้เฉลี่ยของครอบครัวไม่เกิน 100,000 บาท/คน/ปี ต้องไม่มีวงเงินกู้ หรือมีวงเงินกู้แต่ไม่เกินหลักเกณฑ์ เช่น วงเงินกู้ที่อยู่อาศัยรวมไม่เกิน 1.5 ล้านบาท วงเงินกู้ยานพาหนะรวมไม่เกิน 1 ล้านบาท ไม่มีกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์ หรือมีกรรมสิทธิ์ตามหลักเกณฑ์ เช่น บ้านเดี่ยว ทาวน์เฮาส์ ห้องแถวของผู้ลงทะเบียนและคู่สมรส แต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 25 ตารางวา (ตร.ว.) กรรมสิทธิ์ในห้องชุดแต่ละคนต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 35 ตารางเมตร (ตร.ม.) กรณีเป็นที่อยู่อาศัยและใช้ประโยชน์จากที่ดินเพื่อการเกษตร ต้องมีพื้นที่ไม่เกิน 20 ไร่ หรือกรณีใช้ที่ดินเพื่อการอื่นต้องไม่เกิน 2 ไร่ นอกจากนี้ ผู้ลงทะเบียนต้องไม่มีบัตรเครดิต
นายธนกรกล่าวด้วยว่า ครม.ยังได้เห็นชอบให้กำหนดแนวทางการแก้ไขปัญหาที่เกี่ยวข้อง เพื่อแก้ไขปัญหาให้ผู้มีรายได้น้อยที่ไม่ได้บัตรสวัสดิการฯ และปัญหาผู้มีบัตรฯ ที่ไม่ควรได้รับสิทธิ โดยจะเปิดรับลงทะเบียนตามโครงการอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง มีการตรวจสอบคุณสมบัติและข้อมูลของผู้ลงทะเบียนอย่างน้อยปีละ 1 ครั้ง ทั้งนี้ ผู้ได้รับสิทธิจากโครงการปี 2565 จะใช้บัตรประจำตัวประชาชนแทนบัตรสวัสดิการฯ เนื่องจากบัตรสวัสดิการฯเริ่มใช้มาตั้งแต่เดือน ต.ค.2560 จะหมดอายุในเดือน ก.ย.2565 จะช่วยประหยัดต้นทุนการผลิตบัตรใหม่ 1,258 ล้านบาท อีกทั้งลดปัญหาเรื่องการสวมสิทธิบัตรประชาชนหรือการนำบัตรประชาชนของบุคคลอื่นไปใช้สิทธิ และช่วยลดการทุจริต เช่น กรณีร้านค้าเก็บบัตรสวัสดิการฯ ไว้เอง เป็นต้น
ผู้ผ่านคุณสมบัติจะได้รับสวัสดิการค่าใช้จ่ายในครัวเรือน ประกอบด้วย ค่าซื้อสินค้าอุปโภคบริโภคที่จำเป็น สินค้าเพื่อการศึกษา และวัตถุดิบเพื่อเกษตรกรรมจากร้านธงฟ้าประชารัฐและร้านอื่นๆ วงเงิน 200 บาท/คน/เดือน สำหรับผู้ที่มีรายได้เกินกว่า 30,000 บาท แต่ไม่เกิน 100,000 บาท/ปี และได้รับ 300 บาท/คน/เดือน สำหรับผู้มีรายได้ไม่เกิน 30,000 บาท/ปี ได้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้ม 45 บาท/คน/3 เดือน ค่าโดยสารรถ ขสมก. รถไฟฟ้า 500 บาท/คน/เดือน ค่าโดยสารรถบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) 500 บาท/ คน/เดือน และค่าโดยสารรถไฟ 500 บาท/คน/เดือน
ด้านนายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คลัง เปิดเผยว่า ปี 2566 คลังได้ของบประมาณเพื่อนำมาใช้จ่ายในโครงการบัตรสวัสดิการแห่งรัฐหรือบัตรคนจนรอบใหม่ 60,000 ล้านบาท ภายใต้สมมติฐานประชาชนลงทะเบียนรอบใหม่ 20 ล้านคน และผ่านเกณฑ์การคัดกรอง 17 ล้านคน โดยปี 2564 มีผู้ถือบัตรคนจน 13.45 ล้านคน ใช้เงิน 45,000-50,000 ล้านบาท ซึ่งยอดลงทะเบียนที่คาดว่าจะเพิ่มขึ้น เป็นผลมาจากการแพร่ระบาดไวรัสโควิดทำให้คนตกงานจำนวนมาก และไม่มีรายได้ แต่ขณะนี้โควิดเริ่มคลี่คลาย คาดว่าหลายคนจะกลับมามีรายได้ จึงกำหนดให้มีการทบทวนฐานข้อมูลทุกปี
“ผู้มีบัตรสวัสดิการเดิมยังใช้สิทธิในบัตรดังกล่าวได้จนกว่าจะมีการคัดกรองคุณสมบัติผู้ผ่านเกณฑ์การลงทะเบียนรอบใหม่แล้วเสร็จ ซึ่งจะมีการออกประกาศยกเลิกการใช้บัตรใบเดิมอย่างเป็นทางการ และใช้บัตรประชาชนแทน ส่วนการทบทวนฐานข้อมูลผู้ถือบัตรสวัสดิการทุกปี เพื่อมิให้เกิดความเหลื่อมล้ำ คนจนไม่จริง ได้บัตรสวัสดิการแห่งรัฐ อย่างที่มีคำกล่าวหาว่า ครอบครัวนี้ มีรถเก๋งมีรถกระบะ แต่เช่าบ้านอยู่ แต่มีบัตรสวัสดิการฯ อีกครอบครัว มีบ้านเป็นของตัวเอง เข็นรถขายของ ไม่มีบัตรสวัสดิการ”.
อ่านข่าวที่เกี่ยวข้อง