ม.หอการค้าไทย เผยน้ำท่วมปีนี้ ทำเศรษฐกิจเสียหาย 1–2 หมื่นล้านบาท เร่งเดินหน้าเปิดประเทศ เติมเงินคนละครึ่งเพิ่มอีก 1.5 พันบาท ฟื้นช้อปดีมีคืน หาเงินอุดรูรั่วเศรษฐกิจปลายปี ดันจีดีพีปีนี้โต 1% ขณะที่นายกฯโพสต์เฟซบุ๊ก ดันไทยเป็น “เวิร์คเคชั่น” ให้คนต่างชาติมาทำงานและเที่ยว หวังฟื้นเศรษฐกิจ
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดี และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผยถึงการประเมินสถานการณ์น้ำท่วม ที่สำรวจจากหอการค้าจังหวัดในพื้นที่น้ำท่วมภาคกลาง ภาคเหนือ และภาคอีสาน 138 ราย เมื่อวันที่ 30 ก.ย.64 ว่า คาดเกิดความเสียหาย 10,000-20,000 ล้านบาท หรือใกล้เคียง 15,000 ล้านบาท ทำให้ผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ลดลง 0.1-0.2% โดยความเสียหายแบ่งเป็น บ้านเรือน 1,320.30 ล้านบาท, สิ่งสาธารณะ 4,972.20 ล้านบาท, พืชเกษตร 6,349.51 ล้านบาท, ปศุสัตว์ 753.90 ล้านบาท, การค้า 1,316.10 ล้านบาท และอื่นๆ 324 ล้านบาท
“ความรุนแรงของน้ำท่วมครั้งนี้ ไม่เท่ากับปี 54 ที่ครั้งนั้นศูนย์ฯคาดการณ์ความเสียหาย 1.4 ล้านล้านบาท เพราะน้ำท่วมพื้นที่นิคมอุตสาหกรรม ที่มีโรงงานผลิตสินค้าส่งออกจำนวนมาก กระทบต่อการผลิต และการส่งออก แต่ครั้งนี้ส่วนใหญ่เป็นพื้นที่เกษตร และบ้านเรือน ที่แม้ได้รับผลกระทบมาก แต่มูลค่าความเสียหายไม่มากนัก ที่สำคัญผู้ตอบส่วนใหญ่บอกว่า ระยะเวลาการท่วมจะอยู่เพียง 8-14 วัน หรือเฉลี่ย 9 วัน ไม่ได้ท่วมขังนานหลายเดือนเหมือนปี 54”
อย่างไรก็ตาม ต้องการให้รัฐช่วยเหลือ เกษตรกร ผู้ประกอบการ และผู้ได้รับผลกระทบ เช่น การชดเชยผลผลิตทางการเกษตร หรือสนับสนุนเงินทุนเพื่อซ่อมแซมกิจการที่เสียหาย, เงินชดเชยน้ำท่วม, มาตรการทางการเงินแก่ผู้ประกอบการ เช่น ปล่อยกู้ดอกเบี้ยต่ำ เงื่อนไขการกู้ง่าย, สร้างแหล่งกักเก็บน้ำและฝายชะลอน้ำ เป็นต้น
ส่วนผลสำรวจพฤติกรรมใช้จ่ายช่วงกินเจปี 64 ที่สำรวจจาก 1,208 ตัวอย่างทั่วประเทศ วันที่ 26-29 ก.ย.64 พบว่า มีมูลค่าใช้จ่าย 40,147 ล้านบาท ติดลบ 14.5% จากปี 63 ที่ 46,967 ล้านบาท ติดลบครั้งแรกในรอบ 14 ปี ตั้งแต่สำรวจครั้งแรกเมื่อปี 51 เพราะเศรษฐกิจไม่ดี ตกงาน รายได้ลดลง, ค่าครองชีพสูง-สินค้าราคาแพง และการแพร่ระบาดของโควิด-19 อีกทั้งประชาชนยังได้รับผลกระทบจากโควิด-19 จึงต้องการให้รัฐคลายล็อกดาวน์ และเปิดประเทศ เพื่อสร้างรายได้ ฟื้นเศรษฐกิจ แม้ยังกลัวกับการระบาดรอบใหม่ ไวรัสสายพันธุ์ใหม่ๆ และยังฉีดวัคซีนไม่ครบ
นายธนวรรธน์ กล่าวต่อว่า น้ำท่วมทำให้เงินหายไป 10,000-20,000 ล้านบาท ดังนั้น ไตรมาสสุดท้ายปีนี้ รัฐต้องเปิดเมืองรับต่างชาติ หากมีต่างชาติเที่ยวไทยเดือนละ 100,000 คน แต่ละคนใช้จ่าย 50,000 บาท/ทริป จะมีเงินเติมในระบบเดือนละ 10,000-20,000 ล้านบาท เท่ากับความเสียหายจากน้ำท่วม นอกจากนี้ รัฐต้องเติมเงินโครงการคนละครึ่งเพิ่มอีก 1,500 บาท จากเดิม 1,500 บาท ซึ่งจะมีเงินหมุนในระบบได้อีกกว่า 90,000 ล้านบาท รวมกับเงินของประชาชนอีก 90,000 ล้านบาท รวมถึงต้องฟื้นโครงการช้อปดีมีคืน เพราะทำให้คนมีเงินเอาเงินของตัวเองมาใช้จ่าย ซึ่งช่วยให้เศรษฐกิจปีนี้โตได้ไม่ต่ำกว่า 1% แต่รัฐยังต้องใช้มาตรการการคลังต่อเนื่องตั้งแต่ปลายปีจนถึงตรุษจีน เพื่อเป็นแรงส่งให้เศรษฐกิจปีหน้าโตได้ไม่น้อยกว่า 5%
“ปีนี้เศรษฐกิจไทยโตได้แน่ 1% แต่ปีหน้าต้องทำให้โตมากกว่า 5% หรือ 6-8% ซึ่งมีโอกาสเป็นไปได้ ถ้ารัฐสร้างความเชื่อมั่น ทำให้ท่องเที่ยวกลับมา, ประคองค่าเงินบาทให้ทรงตัวอ่อนสร้างแต้มต่อให้กับการส่งออก, เร่งฉีดวัคซีน และคุมการแพร่ระบาด, เร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน จ้างงาน ซื้อวัตถุดิบในประเทศ, ดึงเงินลงทุนจากต่างประเทศ, ดึงต่างประเทศเข้ามาทำงานและเที่ยวไทย เป็นต้น”
ด้าน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายก รัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม โพสต์เฟซบุ๊กว่า เมื่อการต่อสู้กับโรคร้ายเริ่มคลี่คลาย ก็เป็นช่วงเวลาแห่งการฟื้นฟูเศรษฐกิจ ปากท้อง จากความสำเร็จของภูเก็ต แซนด์บ็อกซ์ รัฐบาลจึงเดินหน้าต่อไปในการขยายผล ตามแนวทาง “พลิกโฉมประเทศไทย” โดยจะ “พลิกโฉมภูเก็ต” ให้เป็นจุดหมายระดับโลก เน้นนักท่องเที่ยวคุณภาพและการท่องเที่ยวยั่งยืน รวมถึงผู้ที่มา “ทำงานด้วย เที่ยวไปด้วย” (Worka tion) ตั้งแต่ไตรมาส 4 ปี 64-ไตรมาส 1 ปี 65 คาดจะมีต่างประเทศ ทั้งนักเที่ยวและเข้ามาทำงาน ไม่น้อยกว่า 5,000 คนต่อวัน (รวม 1 ล้านคน) สร้างรายได้ไม่น้อยกว่า 60,000 ล้านบาท มีความเป็นไปได้สูงที่จะมีเที่ยวบินเช่าเหมาลำจากทวีปยุโรป (รัสเซีย อังกฤษ กลุ่มประเทศนอร์ดิก เยอรมนี เป็นต้น) กว่า 500,000 คน ช่วงฤดูหนาวนี้ (เดือน ต.ค.64-มี.ค.65)
ส่วนนางพิกุล ศรีมหันต์ รองผู้จัดการใหญ่อาวุโส ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่มธุรกิจเอสเอ็มอี ธนาคารไทยพาณิชย์ จำกัด กล่าวว่า ธนาคารออกมาตรการพิเศษบรรเทาความเดือดร้อนลูกค้าเอสเอ็มอี ที่ได้รับผลกระทบจากน้ำท่วมผ่าน 5 มาตรการ คือ 1.พักชำระเงินต้น สูงสุด 6 เดือน 2.พักชำระเงินต้นและดอกเบี้ย ไม่เกิน 3 เดือน 3.ยกเว้นดอกเบี้ยผิดนัดชำระ สำหรับผิดนัดชำระไม่เกิน 30 วัน 4.เพิ่มวงเงินหมุนเวียนชั่วคราว สูงสุด 20% ของวงเงิน Working Capital เดิม และไม่เกิน 10 ล้านบาท และ 5.เงินกู้ปรับปรุง ซ่อมแซม หรือซื้อทดแทนทรัพย์สินของกิจการที่เสียหาย.