ปักหมุดปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปักหมุดปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย

Date Time: 3 เม.ย. 2564 05:01 น.

Summary

  • การกำหนดทิศทางให้ประเทศเดินหน้ามีความสำคัญอยู่แล้วในยามปกติ และถือเป็นภารกิจจำเป็นยิ่งยวดในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 โดยที่ผ่านมาไทยได้จัดทำแผนกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจ

Latest

จับโรงงานผลิตเหล็กเส้นคุณภาพต่ำ "เอกนัฏ" ส่ง "ชุดตรวจการณ์สุดซอย" รวบนอมินีจีน


ดร.นครินทร์ อมเรศ ฝ่ายนโยบายโครงสร้างเศรษฐกิจ ธปท.การกำหนดทิศทางให้ประเทศเดินหน้ามีความสำคัญอยู่แล้วในยามปกติ และถือเป็นภารกิจจำเป็นยิ่งยวดในช่วงที่เศรษฐกิจได้รับผลกระทบรุนแรงจากโควิด-19 โดยที่ผ่านมาไทยได้จัดทำแผนกำหนดทิศทางของเศรษฐกิจและสังคมไว้อย่างต่อเนื่อง คือ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ซึ่งเข้าสู่การร่างแผนฉบับที่ 13 (2566-2570) ซึ่งมีเป้าหมาย “พลิกโฉมประเทศไทย สู่เศรษฐกิจสร้างคุณค่า สังคมเดินหน้าอย่างยั่งยืน (Thailand’s Transformation)”

เราไม่เพียงจะมีแผนที่ดำเนินการมายาวนาน แต่ยังมีการเรียงร้อยแผนงานหลายระดับสู่การปฏิบัติ ตั้งแต่แผนระดับที่หนึ่ง คือ แผนยุทธศาสตร์ชาติ ระยะยาว 20 ปี ครอบคลุม 2560-2580 สู่แผนระดับที่สอง ได้แก่ แผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ และแผนการปฏิรูปประเทศ ซึ่งเป็นแผนระยะกลาง ส่งผ่านต่อแผนระดับที่สาม เช่น แผนปฏิบัติการประจำปีของแต่ละหน่วยงาน

ซึ่งสามารถเทียบเคียงแผนที่เดินทาง ที่กองคาราวานประเทศไทยทุกภาคส่วนทั้ง ประชาชน นักเรียน นักศึกษา ธุรกิจ ภาคการศึกษา และภาครัฐ สามารถร่วมรับทราบทิศทางที่เรากำลังเดินหน้าไป แต่น่าสังเกตว่า เราไปถึงเป้าหมายได้รวดเร็วเพียงใด พร้อมเพรียงกันอย่างไร มีคนหลงทางถูกทิ้งไว้ข้างหลังมากเท่าไร และมีการให้รางวัลคนที่เดินเร็วและช่วยเหลือคนอื่นให้คืบหน้า ตลอดจนมีกลไกการลงโทษคนที่กีดขวางการเดินทางหรือไม่อย่างไร

สิ่งที่ตกหล่นไปจากแผนที่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย ซึ่งอาจเป็นสาเหตุให้ปัญหาเชิงโครงสร้างหลายประการยังไม่ถูกแก้ไขแม้ว่าจะถูกชี้ช่องเจาะจงถึงรากฐานของปัญหากันมาอย่างเนิ่นนานแล้ว คือ การขาดซึ่งหมุดหมายชี้วัด ทำให้เราไม่สามารถทราบได้ว่า เราคืบหน้าอยู่เพียงใด เดินกลับหลังหันอยู่บ้างหรือไม่ หมุดหมายนี้ต้องเชื่อมโยงเป้าหมายของประเทศ กระจายลงสู่แผนปฏิบัติ และผูกโยงกับความรับผิดรับชอบของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องได้ในทุกระดับ ลักษณะเหล่านี้อาจชวนหลายท่านให้นึกถึงเครื่องมือในการบริหารผลงาน เช่น Balanced Scorecard ที่กำหนดวิสัยทัศน์ แผนกลยุทธ์ และแปลผลสู่ทุกจุดของการดำเนินงานได้

ขออนุญาตหยิบยกตัวอย่างหมุดหมายที่อาจใช้ในแผนที่การปรับโครงสร้างเศรษฐกิจไทย เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถออกแบบนโยบาย กำหนดตัวชี้วัด และติดตามประเมินผลได้ คือ การใช้ตัวเลขรายได้ประชาชาติ (National Income) ในการติดตามผลการดำเนินการของเป้าหมายแผนยุทธศาสตร์ชาติในการยกระดับไทยให้ก้าวข้ามสถานะประเทศรายได้ปานกลางระดับสูงไปสู่การเป็นประเทศที่พัฒนาแล้ว

พิจารณาจากสี่องค์ประกอบของรายได้ประชาชาติซึ่งมีมูลค่า 16 ล้านล้านบาทในปี 2562 ได้แก่ 1.ผลตอบแทนลูกจ้างนอกภาคเกษตร 5 ล้านล้านบาท วัดผลการสานฝันให้แรงงานมีทักษะสูง 2.ผลตอบแทนลูกจ้างภาคเกษตรและรายได้ครัวเรือนเกษตรกร 1 ล้านล้านบาท วัดผลการพลิกโฉมเกษตรกร 3.รายได้ครัวเรือนนอกภาคเกษตร 2.6 ล้านล้านบาท วัดผลการยกระดับ SMEs และ 4.การบริโภคสินค้าทุน 2.9 ล้านล้านบาท วัดผลการยกเครื่องการลงทุนนวัตกรรม

“แผนที่” ซึ่งประเทศต้องการจึงไม่ใช่แค่แผนงาน แต่ต้องมีหมุดหมายที่จะแจกแจงได้ชัดเจนว่ามีเป้าให้เติบโตเท่าไร มีการกระจายตัวทั่วถึงเพียงใด และเชื่อมโยงเข้ากับแผนปฏิบัติการของแต่ละหน่วยงานอย่างไร เพื่อวัดผลและเอื้อการปรับแผนให้สอดรับกับสถานการณ์ อาทิ โควิด-19 แต่ที่สำคัญสุด คือ กลไกใดที่จะทำให้ทุกภาคส่วนเข้าใจเป้าหมายร่วม และสามารถทำงานร่วมกันให้เกิดผลได้จริงในทางปฏิบัติ

** บทความนี้เป็นความคิดเห็นส่วนบุคคล จึงไม่จำเป็นต้องสอดคล้องกับความเห็นของหน่วยงานที่ผู้เขียนสังกัด **


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ