ฐานะการเงินการคลังของประเทศไทย ภายใต้การนำของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา ในฐานะ หัวหน้า คสช. และ นายกรัฐมนตรี ที่ผ่านมา 7 ปีกว่า เริ่มส่ออาการป่วยไข้ให้เห็น ไม่ได้โชติช่วงชัชวาลอย่างที่ฝันหวาน ขอเวลาอีกไม่นาน จะคืนความสุขให้เธอประชาชน แต่ผ่านไป 7 ปีกว่า ประชาชนกลับลำบากขึ้น รัฐบาลกำลังถังแตก ประชาชนก็ถังแตก ล่าสุดรัฐบาลเตรียมออกกฎหมายบังคับให้จัดตั้ง กองทุนสำรองเลี้ยงชีพ บังคับลูกจ้างแรงงานออมเงินไว้ใช้หลังเกษียณเอง เพราะ กองทุนผู้สูงอายุ ก็กำลังถังแตก ไม่มีเงินจ่ายค่ายังชีพผู้สูงอายุที่มีรายได้น้อย เหนื่อยกันทั้งประเทศไทย
เรื่องนี้ต้องชม กระทรวงการคลัง ที่ส่งสัญญาณเตือน พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี รายงานความเสี่ยงฐานะการเงินการคลังของประเทศไทยให้ ครม.รับทราบ หลังจากที่รัฐบาลใช้เงินกันอย่างมันมือ แม้จะเป็นเงินที่กู้มาใช้ก็ตาม
ผมได้ตั้งข้อสังเกตตั้งแต่ ครม. มีมติเห็นชอบงบประมาณปี 2565 แล้ว เป็นงบประมาณที่แปลกที่ไม่เคยเห็นมาก่อน ตั้งงบแบบถอยหลังลงคลอง ถ้าเป็นบริษัทจดทะเบียน ราคาหุ้นคงร่วงระนาวไปแล้ว รัฐบาลตั้งงบปี 65 ไว้ที่ 3.1 ล้านล้านบาท น้อยกว่างบปี 64 ถึง 1.85 แสนล้านบาท เท่ากับว่าเศรษฐกิจไทยไม่โตแล้วยังถอยหลัง งบลงทุนของประเทศก็น้อยกว่าเงินกู้ขาดดุลที่สูงถึง 700,000 ล้านบาท แต่มีงบลงทุนเพียง 624,000 ล้านบาท แล้วจะไปฟื้นฟูเศรษฐกิจประเทศได้อย่างไร มีแต่หนี้ที่งอกงามเพิ่มขึ้น
วันนี้เอกชนเริ่มไม่ค่อยเชื่อถือตัวเลขหนี้ของรัฐบาล โดยเฉพาะ สัดส่วนหนี้สาธารณะต่อจีดีพี ที่ดูสวยหรูเกินความเป็นจริง รัฐบาลระบุว่า หนี้สาธารณะต่อจีดีพีปี 2563 อยู่ที่ร้อยละ 49.34 จากความจำเป็นต้องกู้เงินเพื่อชดเชยการขาดดุลงบประมาณ และการกู้เงินเพื่อเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจจากการระบาดของไวรัสโควิด-19 คาดว่าหนี้สาธารณะต่อจีดีพีปี 2565-2568 จะเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง คาดว่า ณ สิ้นปี 2568 (อีก 4 ปีข้างหน้า) หนี้สาธารณะจะอยู่ที่ร้อยละ 58.72 แต่ยังไม่เกินเพดานร้อยละ 60 ดูตัวเลขแล้วไปคิดกันดู น่าเชื่อถือหรือไม่
ยอดหนี้สาธารณะที่โผล่ขึ้นมาให้เห็นเป็นทางการ ก็เหมือน “ยอดภูเขานํ้าแข็ง” ที่โผล่ขึ้นมาเหนือนํ้า ใต้นํ้าลงไปมีหนี้อีกเท่าไหร่ไม่มีใครรู้ โดยเฉพาะ หนี้ที่ไม่ผ่านงบประมาณ และหนี้ที่ผ่าน “รัฐวิสาหกิจ” ต่างๆที่มีการวางตัว นายพลทหาร และ คนของนักการเมือง เข้าไป เป็นบอร์ดคุมอยู่ในทุกรัฐวิสาหกิจ ที่เป็นข่าวฉาวโฉ่ก็มีมากมาย ใช้เงินลงทุนกันมันมือ ประมูลกันเป็นว่าเล่น ไม่มีใครไปตรวจสอบต้นทุน สตง. ป.ป.ช.ก็วางเฉย
ในรายงาน “ความเสี่ยงฐานะการเงินการคลัง” ระบุว่า การจัดเก็บภาษีเงินได้นิติบุคคล ภาษีเงินได้บุคคลธรรมดา และ ภาษีมูลค่าเพิ่ม ล้วนอยู่ในระดับตํ่า สะท้อนถึงกลไกการกระจายรายได้ และการสร้างเสถียรภาพในตัวเอง (Automatic Stabilizer) ของระบบภาษีของประเทศไทย ที่อาจไม่สามารถทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร โดยระบุว่า ภาษีมูลค่าเพิ่มไทยอยู่ในระดับตํ่าเมื่อเทียบกับต่างประเทศ ทำให้มีการตีความว่า รัฐบาลจะเก็บเพิ่มภาษีมูลค่าเพิ่ม (VAT) ที่เก็บอยู่ในอัตรา 7% จากเพดาน 10% แต่ ดร.วิษณุ เครืองาม รองนายกฯได้ออกมาปฏิเสธแล้ว ถ้ามีการขึ้นภาษีมูลค่าเพิ่มเมื่อไหร่ นั่นคือ “ฟางเส้นสุดท้าย” ที่ประชาชนจะอดทน
ตลอด 7 ปีที่ครองอำนาจ พล.อ.ประยุทธ์ ได้ใช้งบประมาณภาษีประชาชนไปแล้วกว่า 20.82 ล้านล้านบาท ถ้ารวมงบปี 65 เข้าไปด้วยอีก 3.1 ล้านล้านบาท รวม 8 ปี พล.อ.ประยุทธ์ใช้เงินงบประมาณไปถึง 23.92 ล้านล้านบาท มากมายมหาศาล แต่เศรษฐกิจกลับไม่ดีขึ้น ความเหลื่อมล้ำกลับกว้างขึ้น คนจนเพิ่มขึ้นจนน่าตกใจจากตัวเลขบัตรคนจนของรัฐบาล มีแต่ข้าราชการและคนรวยที่รวยขึ้น จากการแสดงบัญชีทรัพย์สินของบิ๊กข้าราชการ
สภาพเช่นนี้ ไม่เพียงฐานะการเงินการคลังจะตกอยู่ในความเสี่ยง แต่ อนาคตของคนไทย 68 ล้านคน และ อนาคตประเทศไทย ก็ตกอยู่ ในความเสี่ยงด้วย
“ลม เปลี่ยนทิศ”