สมชัย มองผลกระทบโควิด-19 ลากยาว แนะรัฐเยียวยากลุ่มเปราะบางแบบตรงจุด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

สมชัย มองผลกระทบโควิด-19 ลากยาว แนะรัฐเยียวยากลุ่มเปราะบางแบบตรงจุด

Date Time: 1 ก.พ. 2564 14:30 น.

Video

“ไทยรัฐ โลจิสติคส์” ถอดคราบ “ยักษ์เขียว” มุ่งสู่ขนส่งครบวงจร | Thairath Money Talk

Summary

  • ดร.สมชัย มองผลจากการระบาดโควิด-19 น่าจะลากยาว แนะ 5 ข้อที่รัฐควรใส่ใจ โดยเฉพาะการเยียวยากลุ่มเปราะบาง

Latest


ดร.สมชัย มองผลจากการระบาดโควิด-19 น่าจะลากยาว แนะ 5 ข้อที่รัฐควรใส่ใจ โดยเฉพาะการเยียวยากลุ่มเปราะบาง  

ดร.สมชัย จิตสุชน ผู้อำนวยการวิจัย นโยบายด้านการพัฒนาอย่างทั่วถึง สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาประเทศไทย หรือ TDRI  มองว่า การระบาดระลอกใหม่ของโควิด-19 ที่เริ่มมาตั้งแต่เดือน ธ.ค. ปีที่แล้ว ก่อให้เกิดความกังวลกับประชาชนไทยอีกครั้งหนึ่ง ทั้งความกังวลจากการติดโรคและความกังวลจากผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมที่จะตามมา

อย่างไรก็ตาม การระบาดระลอกใหม่มีความต่างในหลายด้านจากระลอกแรก เริ่มจากจำนวนผู้ติดเชื้อมีจำนวนมากกว่า กระจายไปหลายจังหวัดกว่า แต่ด้านมาตรการจำกัดการระบาดกลับมีความเข้มงวดน้อยกว่าทั้งในแง่จำนวนมาตรการและขนาดของพื้นที่ควบคุม และคาดว่าอาจจะผ่อนคลายเร็วกว่า อีกทั้งประชาชนน่าจะเริ่มคุ้นเคยกับการใช้ชีวิตอยู่กับการระบาดที่มีผู้ติดเชื้ออยู่ระดับหนึ่ง ไม่จำเป็นต้องเป็นศูนย์เลยเหมือนเช่นการควบคุมในระลอกแรก ซึ่งคาดจะเป็นเรื่องที่เป็นไปได้ยากอยู่แล้ว

ทั้งนี้ เพราะการระบาดระลอกใหม่มีแหล่งที่มาจากแรงงานต่างชาติที่ทำงานอยู่ในประเทศไทยและมีการเดินทางไปมาระหว่างประเทศไทยและประเทศตนเองเช่นพม่า และนำเชื้อเข้ามาประเทศไทย และมีความยากลำบากในการตรวจสอบและคุมเข้มเพราะไม่สามารถป้องกันด่านชายแดนธรรมชาติได้ทั้งหมด (จะเห็นได้ว่าจนถึงปัจจุบัน ก็ยังมีการระบาดในกลุ่มแรงงานต่างชาติ) อีกทั้งพวกเขามีจำนวนมากและอยู่กันอย่างแออัด เพิ่มโอกาสแพร่เชื้อระหว่างกันเองและไปสู่คนไทย ทำให้คาดว่าการระบาดระลอกสองคงไม่หมดไปอย่างรวดเร็วเหมือนรอบแรก

ผลจากการระบาดที่น่าจะลากยาวนี้จะทำให้ยังต้องมีมาตรการควบคุมต่อเนื่อง แต่จะไม่คุมเข้มอย่างรอบที่แล้วและส่งผลให้ผลกระทบทางเศรษฐกิจและสังคมเบาบางกว่า (เห็นได้จากมาตรการเยียวยาของรัฐบาล มีขนาดเล็กกว่าระลอกแรกพอควร) อีกทั้งเศรษฐกิจภายนอกประเทศก็มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นแสดงให้เห็นในตัวเลขการส่งออกที่ค่อนข้างดีตั้งแต่เดือนธันวาคมที่ผ่านมา ดังนั้นผลกระทบต่อเศรษฐกิจมหภาคจึงน่าจะน้อยกว่าระลอกแรกค่อนข้างมาก

แม้ภาพรวมเศรษฐกิจมหภาคจะดูดีกว่า แต่หากเจาะจงไปที่บางภาคเศรษฐกิจและบางกลุ่มประชากร ยังน่าเป็นห่วงว่าอาจได้รับผลกระทบที่รุนแรงขึ้น ตัวอย่างเช่นภาคเศรษฐกิจที่ไม่เคยฟื้นตัวเลยเช่นการท่องเที่ยวจากต่างประเทศ ซึ่งที่ผ่านมาได้รับประโยชน์จากการส่งเสริมการท่องเที่ยวในประเทศอยู่บ้างแต่ก็เป็นไปอย่างจำกัด ง่อนแง่น และไม่มั่นคง เมื่อถูกกระทบอีกระลอกก็อาจทำให้ไม่สามารถรักษากิจการได้อีกต่อไป

ทั้งนี้ เป็นความเสี่ยงต่อเนื่องไปถึงคนที่ทำงานในภาคนี้ และแม้ในภาคอื่นที่สภาพการณ์ดีกว่าแต่ก็มีกิจการขนาดเล็กจำนวนไม่น้อยที่สายป่านสั้น และเคยมีความหวังจะได้กลับมาทำธุรกิจหลังการระบาดระลอกแรกสงบลง ก็อาจเริ่มถอดใจและปิดกิจการในที่สุด ผลกระทบน่าจะเป็นลูกโซ่ไปสู่คนทำงานและธุรกิจที่เกี่ยวข้องอีกเช่นกัน

อย่างไรก็ตาม ธนาคารแห่งประเทศไทยได้ประมาณการว่าการระบาดระลอกสองจะกระทบแรงงานจำนวน 4.7 ล้านคน โดยในจำนวนนี้ 1.1 ล้านคนมีความเสี่ยงที่จะตกงาน และอีก 3.6 ล้านคนมีความเสี่ยงที่รายได้จะลดลงอย่างมาก

นอกจากนี้ยังพบว่า เงินออมโดยรวมที่เคยเพิ่มขึ้นหลังการระบาดระลอกแรก (ส่วนหนึ่งอาจมาจากการได้รับเงินช่วยเหลือจากภาครัฐ) มีแนวโน้มลดลงท่ามกลางการระบาดระลอกใหม่ ซึ่งอาจแสดงถึงความสามารถในการรองรับผลกระทบน้อยลงสำหรับประชาชนบางกลุ่ม โดยผลทางเศรษฐกิจที่ลากยาวและรุนแรงสำหรับคนบางกลุ่ม จะส่งผลกระทบด้านสังคมที่จะตามมาอีกหลากหลาย โดยเฉพาะในประชาชนกลุ่มเปราะบาง การศึกษาก่อนหน้า 1 พบว่า

กลุ่มเปราะบางได้รับผลกระทบทางเศรษฐกิจ และสังคมมากกว่ากลุ่มอื่นตั้งแต่ระลอกแรก โดยส่วนหนึ่งเป็นเพราะผู้หารายได้หลักในครอบครัวกลุ่มเปราะบางมักทำงานนอกระบบ ขาดความมั่นคงของการทำงานและรายได้เป็นปกติอยู่แล้วก่อนเกิดการระบาด จึงมักเป็นกลุ่มแรกๆ ที่ถูกกระทบแรงในแง่การสูญเสียรายได้ ส่วนด้านสังคมก็ถูกกระทบแรงกว่ากลุ่มอื่น

เช่น เด็กในครอบครัวยากจนมีความสามารถในการเรียนรู้ออนไลน์น้อยกว่าเด็กฐานะดี ผู้ปกครองก็มีความพร้อมและความสามารถในการเรียนร่วมกับลูกน้อยกว่า คนแก่ที่มีโรคประจำตัวในครอบครัวเปราะบางก็เข้าถึงบริการทางการแพทย์ลดลงมากกว่า เป็นต้น ข้อพิจารณาข้างต้นนำไปสู่ข้อเสนอแนะเชิงนโยบายหลายประการ ประกอบด้วย

ประการที่หนึ่ง ควรเร่งศึกษาผลกระทบทางสังคมต่อกลุ่มเปราะบางเพิ่มขึ้นในช่วงการระบาดระลอกสอง ทั้งความสามารถในการรับมือกับผลกระทบ ทางเลือกของเขาเหล่านั้นในการปรับตัวว่ามีมากน้อยเพียงใด มาตรการของภาครัฐอะไรบ้างที่ช่วยเขาได้ มาตรการอะไรที่อาจช่วยเขาได้แต่เขาไม่ได้หรือยังไม่ได้ และเพราะเหตุใดจึงไม่ได้หรือได้ช้า เป็นต้น

ประการที่สอง รัฐบาล ต้องมีมาตรการเยียวยาเป็นพิเศษสำหรับกลุ่มเปราะบางและกลุ่มที่เสี่ยงจะเกิดแผลเป็น โดยควรเป็นมาตรการที่หลากหลาย เพิ่มเติมจากการให้เป็นเงิน เช่นการดูแลให้เข้าถึงบริการภาครัฐด้านต่างๆ เช่นการจ้างงาน การดูแลสุขภาพ การช่วยดูแลบุตรหลานให้เรียนรู้ออนไลน์ได้มากขึ้น การเข้าถึงบริการเหล่านี้ต้องเป็นไปโดยไม่ตกหล่น

หรือควรเข้าถึงมากขึ้นกว่าในภาวะปกติด้วยซ้ำ การป้องกันการตกหล่นอาจใช้ทั้งกลไกภาครัฐบาลกลาง รัฐบาลท้องถิ่น ชุมชน ภาคเอกชน หรือแม้กระทั่งประชาชนทั่วไปในการแจ้งให้ภาครัฐทราบกรณีพบเห็นกลุ่มเปราะบางที่ตกหล่นจากการได้รับการช่วยเหลือและเยียวยา

ประการที่สาม ควรมีมาตรการเฝ้าระวัง (monitoring) การเกิดแผลเป็นทางเศรษฐกิจและสังคม โดยแผลเป็นหมายถึงกิจการหรือประชาชนที่ได้รับผลกระทบจากโควิด-19 แบบต่อเนื่องยาวนาน และไม่มีโอกาสฟื้นตัวแม้การระบาดจะหายไป 2 ตัวอย่างเช่นเจ้าของกิจการขนาดเล็กที่สิ้นเนื้อประดาตัว ไม่มีเงินทุนจะเริ่มกิจการใหม่ แรงงานที่ถูกเลิกจ้างถาวรและไม่มีโอกาสได้รับการจ้างงานใหม่ เป็นต้น

คาดว่ากลุ่มเหล่านี้จะทับซ้อนกับกลุ่มเปราะบางที่กล่าวถึง และเมื่อพบแผลเป็นเหล่านี้แล้ว ก็ต้องเร่งออกมาตรการในการบรรเทาความทุกข์ร้อนและประคับประคองให้เขาสามารถกลับเข้าสู่ระบบเศรษฐกิจและฟื้นฟูทางสังคมควบคู่กันไป

ประการที่สี่ รัฐอาจควรพิจารณาให้วัคซีนกับกลุ่มเปราะบางเร็วกว่ากลุ่มอื่น ด้วยเหตุผลว่าเป็นกลุ่มที่ไม่สามารถรองรับความเสี่ยงจากการขาดรายได้ได้มากนัก การได้รับวัคซีนก่อนจะมีผลทำให้ความเสี่ยงนี้ลดน้อยลง

ประการที่ห้า ในระยะยาว ประเทศไทยต้องทำการปรับปรุงระบบความคุ้มครองทางสังคม (social protection) ที่คำนึงถึงการได้รับผลกระทบที่ต่อเนื่องและรุนแรงของกลุ่มเปราะบางและผู้ที่จะกลายเป็นแผลเป็นจากการระบาด ซึ่งเป็นเรื่องใหญ่และต้องการการออกแบบที่เหมาะสม


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ