ห่วงโกง “เที่ยวด้วยกัน” บิดเบือนตัวเลขเศรษฐกิจ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ห่วงโกง “เที่ยวด้วยกัน” บิดเบือนตัวเลขเศรษฐกิจ

Date Time: 2 ก.พ. 2564 05:04 น.

Summary

  • ข่าวการจับกุมโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร และประชาชนที่ให้ความร่วมมือจำนวนมาก ในการโกงโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ของรัฐบาล พร้อมกับตั้งคำถามไว้ว่า การโกงอย่างมโหฬารครั้งนี้

Latest

จับโรงงานผลิตเหล็กเส้นคุณภาพต่ำ "เอกนัฏ" ส่ง "ชุดตรวจการณ์สุดซอย" รวบนอมินีจีน

เมื่อวานนี้ ผมเขียนถึงข่าวการจับกุมโรงแรม ร้านค้า ร้านอาหาร และประชาชนที่ให้ความร่วมมือจำนวนมาก ในการโกงโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” ของรัฐบาล พร้อมกับตั้งคำถามไว้ว่า การโกงอย่างมโหฬารครั้งนี้ เป็นเพราะอะไรกันแน่?

เกิดจาก อุปนิสัย ของคนไทยยุคใหม่ที่มีข้อสังเกตว่า โกงมากขึ้น แผ่ขยายวงกว้างขึ้น ไม่เฉพาะภาคข้าราชการเท่านั้น แต่ระยะหลังๆภาคเอกชน ภาคประชาชนบางส่วนก็เอาด้วย กลายเป็นโกงทุกระดับประทับใจ

หรือว่าเกิดจากความ เดือดร้อน เกิดจากความเคราะห์ร้ายโชคร้าย ธุรกิจพังทลายจากพิษโควิด-19 ซึ่งเป็นมหันตภัยทั้งแก่ชีวิตมนุษย์ และทำลายเศรษฐกิจทั่วโลก รวมถึงประเทศไทย?

จริงๆแล้วใจผมค่อนข้างเชื่อไปทางข้อแรก เพราะช่วงหลังๆนี้ไม่เพียงแต่นักวิชาการเท่านั้น ที่มีสถิติว่าการโกง หรือคอร์รัปชันในภาคเอกชนก็สูงไม่น้อย...เพื่อนผมที่ทำธุรกิจใหญ่ๆหลายคนก็มาบ่นเสมอว่า ต้องคอยควบคุมดูแลอยู่ตลอด เผลอเมื่อไรเป็นรั่วไหลทันที

ผมเองเมื่อเขียนคอลัมน์เมื่อวานส่งมาโรงพิมพ์เรียบร้อยแล้ว ก็นึกขึ้นมาได้ว่า เมื่อตอนเกิดเหตุการณ์ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” เศรษฐกิจไทยพังครืน เมื่อปี 2540 นั้น ได้มีการพูดกันอย่างกว้างขวางว่า สาเหตุหนึ่งที่ทำให้เศรษฐกิจไทยเราย่ำแย่กว่าที่ควรจะเป็นก็เพราะการขาด ธรรมาภิบาล ในการบริหารงานของบริษัทต่างๆในภาคเอกชนจำนวนไม่น้อย

ที่ฮือฮามากก็คือการก่อตั้งบริษัทขึ้นแล้วทำทีว่า ค้าขายโน่นนี่กับลูกค้าในต่างประเทศ จนยอดการค้าสูงลิ่ว ทั้งๆที่ไม่ได้มีการค้าจริง

ตั้งบริษัทขึ้นก็เพื่อที่จะหลอกขอภาษีแวตคืนจากกรมสรรพากรโดยเฉพาะ

มีอยู่ช่วงหนึ่ง กรมสรรพากรมีนโยบายส่งเสริมผู้ส่งออกให้คืนแวตได้เร็วแบบคืนก่อนตรวจทีหลัง ก็เลยเข้าทางกลุ่มหัวใสที่ว่านี้...สามารถโกงเงินคืนแวตไปเป็นจำนวนมาก

การค้าขายปลอมๆนี่เองที่เป็นผลทำให้ตัวเลขส่งออกของประเทศพุ่งกระฉูด ทั้งๆที่ไม่มีการส่งออก

มีการพูดกันในแบบเบื้องหลังข่าว ซึ่งอาจเป็นจริงหรือไม่เป็นจริงก็ได้ว่า ที่นาย จอร์จ โซรอส เข้ามาจู่โจมค่าเงินบาทประเทศไทย จนทำให้เราพังในครั้งนั้นก็เพราะตัวเลขส่งออกนี่แหละ

เหตุเพราะก่อนปี 2540 ตัวเลขส่งออกของเราสูงมาก เนื่องจากส่วนหนึ่งเป็นตัวเลขปลอมๆเพื่อโกงเงินแวตดังได้กล่าวแล้ว

จนปี 2538 หรือ 2539 นี่แหละ กรมสรรพากรเริ่มจับได้และ หันมาควบคุมการขอคืนแวตอย่างจริงจัง

ปรากฏว่า ยอดส่งออกที่เคยเพิ่มถึงปีละ 25 เปอร์เซ็นต์ ก่อนหน้านั้นลดเหลือแค่ 2 เปอร์เซ็นต์เท่านั้น ในปีต่อมา

บอกแล้วว่าเป็นเรื่องเล่าที่ไม่มีการยืนยันความถูกต้องหรือหลักฐาน ...แต่ที่ผมนำมาเล่าก็เพื่อเป็นอุทาหรณ์ไว้ว่า ถ้าเรื่องนี้เป็นเรื่องจริง ก็น่าสาปแช่งพวกขี้โกงกลุ่มนั้นให้หนักขึ้น

เพราะไม่เพียงแค่จะโกงเงินหลวงไปเข้ากระเป๋าตัวเองเท่านั้น ยังทำให้เกิดตัวเลขที่เกินความจริง และไปเข้าตาปีศาจการเงินอย่างนายโซรอส จนเข้ามาแหย่ ทำให้เศรษฐกิจของเราพังเร็วขึ้นและแรงขึ้น

มองย้อนหลังกลับไปอย่างนี้แล้ว ผมก็นึกขึ้นมาได้ว่า อุปนิสัยอันไม่ซื่อสัตย์สุจริตนั้นได้เกิดขึ้นในภาคเอกชนไทยเรานานแล้ว

อย่างน้อยก็ในช่วงก่อนต้มยำกุ้งที่เห็นได้ชัดเจนนั่นแหละ

กลับมาที่ประเด็นของการทุจริตในโครงการ “เราเที่ยวด้วยกัน” คราวนี้อีกครั้ง เพราะไหนๆก็เล่าเรื่องตัวเลขส่งออกปลอมแล้ว ผมก็ขอฝากให้นักวิเคราะห์เศรษฐกิจที่ทำหน้าที่คำนวณจีดีพีของประเทศไทยได้ตรวจสอบตัวเลขล่าสุดให้ถูกต้องด้วย

ดูให้ชัดว่า การโกงในโครงการนี้มีผลกระทบต่อตัวเลขหมุนเวียนทางเศรษฐกิจเท่าไร เพราะเมื่อไม่ได้มีการใช้จ่ายจริงๆ หรือเข้าพักจริงๆ หรือซื้ออาหารจริงๆเช่นนี้ ตัวเลขที่แท้จริงคงจะหดมาบ้าง

เพื่อประโยชน์ในการวางนโยบายที่ถูกต้องของรัฐบาลในการฟื้นฟูเศรษฐกิจไทยหลังโควิด-19 ว่างั้นเถอะ

เราเคยพูดกันว่า ไตรมาสที่แล้วเศรษฐกิจกระเตื้องขึ้นเยอะเลย และโครงการนี้แหละเป็นพระเอกเลย

มาถึงตอนนี้ชักไม่แน่แล้วซีว่า เป็นพระเอกจริงหรือเปล่า? และตัวเลขที่ว่าดีขึ้นนั้นดีจริงหรือไม่? ผมก็ฝากสภาพัฒน์ ฝากแบงก์ชาติ ช่วยดูอีกทีก็แล้วกันนะครับ.

“ซูม”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ