คนโสด is happy แก่ตัวไม่เหงา มีความสุขในทุกๆ วันถ้ามี "เงิน"

Money

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

คนโสด is happy แก่ตัวไม่เหงา มีความสุขในทุกๆ วันถ้ามี "เงิน"

Date Time: 1 ก.พ. 2564 06:35 น.

Video

"CINDY CHAO The Art Jewel" สองทศวรรษอัญมณีศิลป์ | Brand Story Exclusive EP.4

Summary

  • โลกใบนี้ขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม และเงิน เงิน เงิน ลองถามตัวเองในทุกๆ ถ้าไม่มีเงินแล้วเราจะอยู่อย่างไร

Latest


"แต่งงานเถิดน้อง อย่ามัวแต่มองข้ามผ่าน เดี๋ยวตายไปยมบาลไม่สงสาร อดขึ้นสวรรค์ เลยหนอ" แต่ถ้าเป็นคนโสดจริงๆ หากได้ยินเพลงท่อนนี้ต่างพูดเป็นเสียงเดียวว่า "โสดนี่แหละสวรรค์ชั้น 7"

ถ้าเป็นเพลงฮิตของพี่เบิร์ด ธงไชย แมคอินไตย์ ที่ว่า "ก็อยู่อย่างคนไม่มีแฟน จะหาใครมาแทน ก็กลัวว่าเขาจะมาซ้ำ ก็เดี๋ยวนี้คนน่ะใจดำ เลยคบกันเที่ยวแบบขำขำ ก็เจ็บประจำ ก็เลยต้องอยู่คนเดียว" นี่ก็เป็นเหตุผลหนึ่งที่ทำให้ใครหลายคนเลือกที่จะเป็นโสด จะโสดแซ่บๆ โสดเป็นพักๆ หรือ โสดตลอดไป สุดท้ายปลายทางก็ คือ "ต้องอยู่คนเดียว"

เมื่อยุคสมัยเปลี่ยนไป ผู้หญิง และผู้ชายเริ่มครองตัวเป็นโสดมากขึ้น โดยเฉพาะคนโสดที่เป็นผู้หญิที่แต่งงานช้าลง โสดมากขึ้น ที่สำคัญส่วนใหญ่ถ้าแต่งงานก็จะเลือกที่ไม่มีลูก ซึ่งสอดคล้องกับงานวิจัยของ ผศ.ดร.ศศิวิมล วรุณศิริปวีณวัฒน์ คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และ Ms. Lusi Liao นักศึกษาปริญญาเอก คณะเศรษฐศาสตร์ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย

โดยทั้ง 2 ได้ศึกษารูปแบบการตัดสินใจแต่งงานและมีลูกของผู้หญิงไทยในช่วงระยะเวลากว่า 30 ปีที่ ผ่านมา (1985-2017) โดยใช้ข้อมูลจากการสำรวจภาวะการทำงานของประชากรของสำนักงานสถิติ แห่งชาติพบว่า ระดับการศึกษาของผู้หญิงไทยที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ทำให้ผู้หญิงไทยมีแนวโน้มที่จะเป็นโสดมากขึ้น และมีลูกน้อยลง

นอกจากนี้ ทั้งคู่อธิบายว่า ปรากฏการณ์ Marriage strike นั่นเกิดขึ้นในหลายๆ ประเทศทั่วโลก โดยปรากฏการณ์นี้เกิดขึ้นผู้หญิงที่มีการศึกษาสูง โดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่มที่สำเร็จการศึกษา ระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีแนวโน้มที่จะชะลอการแต่งงานให้ช้าลง เนื่องจากระดับการศึกษาที่สูงขึ้นทำให้ผู้หญิงได้รับค่าจ้างในตลาดแรงงานเพิ่มขึ้น และทำให้ต้นทุนค่าเสียโอกาสจากการแต่งงาน และการลาคลอด บุตรเพิ่มสูงขึ้น

ที่สำคัญปรากฏการณ์ Marriage strike ก็เกิดขึ้นในประเทศไทยเช่นกัน โดยสัดส่วนของผู้หญิงโสดในไทยมีแนวโน้มเพิ่มสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะกลุ่มคนรุ่นใหม่ที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป ผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไปนั้น ไม่เพียง แค่จะชะลอการแต่งงานให้ช้าลงเท่านั้น แต่มีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดตลอดไปเพิ่มขึ้นอีกด้วย หรือที่เรียกว่า Gold miss ซึ่งเกิดในประเทศพัฒนาแล้วในทวีปเอเชียหลายๆ ประเทศ เช่น เกาหลีใต้ หรือ ญี่ปุ่น เป็นต้น

ทั้งนี้ ปรากฏการณ์ Gold miss นี้มีสาเหตุส่วน หนึ่งมาจากรูปแบบทางสังคม และวัฒนธรรมของประเทศในทวีปเอเชีย โดยคาดหวังให้ผู้หญิงที่แต่งงาน แล้วต้องรับผิดชอบทั้งการดูแลครอบครัวในฐานะแม่บ้าน และการทำงานนอกบ้านเพื่อหารายได้ไปพร้อมๆ กัน โดยความคาดหวังของสังคมที่มีต่อผู้หญิงนี้ทำให้ผู้หญิงในทวีปเอเชียโดยเฉพาะกลุ่มที่มีการศึกษาสูง เลือกที่จะให้ความสำคัญกับความก้าวหน้าในหน้าที่การงาน และชีวิตส่วนตัวมากกว่าการแต่งงานมี ครอบครัว และมีแนวโน้มที่จะอยู่เป็นโสดมากยิ่งขึ้น

งานวิจัยยังพบอีกว่า ผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับปริญญาตรีขึ้นไป มีโอกาสที่จะแต่งงานลดลง 14% เมื่อเทียบกับผู้หญิงไทยที่สำเร็จการศึกษาระดับมัธยมหรือต่ำกว่า และหากผู้หญิงไทยกลุ่มนี้แต่งงานจะมีจำนวนลูกที่น้อยกว่ากลุ่มอื่น โดยผู้หญิงไทยที่มีระดับการศึกษาที่สูงขึ้น 1 ปีมีแนวโน้มที่จะมีลูกลดลง 10% นั่นเอง

ถ้าเป็นแบบนี้สาวโสด และหนุ่มโสดควรจะดูแลตัวเองอย่างไรเพื่อรับมือการเข้าสู่ยุคสูงวัยแบบคุณภาพ หรือที่เรียกว่า คนโสด is happy แก่ตัวไม่เหงา และมีความสุขในทุกๆ วัน ที่สำคัญปัญหาทั้งหมดทั้งมวลจะจัดการได้ง่ายขึ้น "ถ้าเรามีเงิน"

เตรียมพร้อมเข้าสู่ช่วงสูงวัย

โลกใบนี้ขับเคลื่อนด้วยทุนนิยม และเงิน เงิน เงิน ลองถามตัวเองในทุกๆ ถ้าไม่มีเงินแล้วเราจะอยู่อย่างไร ส่วนที่ว่าเงินจะมากจะน้อยนั่นก็อยู่ที่ความพึงพอใจของแต่ละบุคคล เพราะความต้องการของแต่ละคนไม่เท่ากัน การจะมากะเกณฑ์ว่า แก่แล้วควรใช้เงินเท่านี้ คนนี้แก่น้อยกว่าใช้เงินแค่นี้พอ หากเป็นเช่นนี้คนโสดอาจจะมีเซ็งได้ เพราะ "เงินของฉันหามาด้วยตัวเองนะจ๊ะ ทำไมต้องมายุ่งวุ่นวาย"

นอกจากนี้ การดูแลตัวเองก็สำคัญ ฉะนั้นต้องดูสุขภาพตัวเองตั้งแต่ตอนนี้ ออกกำลังกาย พักผ่อนให้เพียงพอ ทานอาหารให้ครบ 5 หมู่ ที่สำคัญห้ามเครียด และสิ่งที่ไม่ควรละเลยคือ การตรวจสุขภาพประจำปี 

เงินใช้จ่ายในวันที่ไม่ต้องทำงาน  

หากไม่ได้ทำงานแล้ว เราต้องมีเงินเท่าไรต่อเดือนถึงจะอยู่รอด สูตรคิดง่ายๆ ที่ใช้กันอย่างแพร่หลาย 70-80% ของค่าใช้ปัจจุบันแล้วคูณด้วย 12 เดือน จากนั้นก็คูณต่อด้วยว่าจะมีอายุปีหลังเกษียณ 

70-80% ของค่าใช้จ่ายปัจจุบัน x 12 x จำนวนปีหลังเกษียณ = จำนวนเงินที่ต้องมี ณ วันเกษียณ

ยกตัวอย่างดังนี้ 

- เกษียณตอนอายุ 60 ปี จะมีอายุถึง 80 ปี เท่ากับเรามีเวลาเหลือ 20 ปี

- ค่าใช้จ่ายต่อเดือนปัจจุบัน 35,000 บาท แต่ถ้าเกษียณจะมีค่าใช้จ่าย 24,500 บาท หรือคิดเป็น 294,000 บาทต่อปี (70% x 35,000 x12 )

- จากนั้นเอา 294,000 x 20 = 5,880,000 บาท

แต่อย่าลืมว่าตัวเลขทั้งหมดถูกคิดในปี 2021 ซึ่งหลายๆ คนยังอยู่ในช่วงอายุ 30-45 ปี นั้นแสดงว่าอีก 20 ปี เราถึงจะเกษียณจริง สูตรการคำนวณก็จะต้องเปลี่ยนไป เช่น เงินที่ใช้จ่ายต่อเดือน และเงินที่คาดว่าหวังว่าจะใช้ยามเกษียณ

จุดสำคัญอีกประเด็น คือ หากใครมีกองทุนสำรองเลี้ยงชีพ กองทุนรวมเพื่อการเลี้ยงชีพ หรือ RMF รวมถึงกองทุนประกันสังคม โดยเฉพาะเงินชราภาพที่จะนำมาจ่ายเป็นรายเดือนก็สามารถนำมาคำนวณเพิ่มได้อีกด้วย 

บ้าน หรือ บ้านพักคนชราดี 

เมื่อจัดการเรื่องเงินๆ ทองๆ เสร็จสิ่งที่วางแผนต่อมา คือ ที่อยู่อาศัย หลายๆ คนอาจมองว่า บ้านที่อยู่ปัจจุบันก็น่าจะอยู่ได้ และไม่มีที่ไหนสุขใจเท่าที่บ้านของเรา แต่สิ่งที่ควรจะเพิ่มเข้าไป คือ บ้านที่อยู่นั้นต้องเหมาะกับผู้สูงอายุ ต้องมีอุปกรณ์อำนวยความสะดวกสำหรับคนชรา และหากอุปกรณ์ที่สามารถเชื่อมต่อตรงไปยังโรงพยาบาล หรือศูนย์วิทยุฉุกเฉิน 1669 ก็ยิ่งดี นั่นหมายความว่า บ้านที่เรามีควรทำเป็น "บ้านอัจฉริยะ" ที่ตอบโจทย์การใช้งานผู้สูงวัยนั่นเอง 

ส่วนบ้านพักคนชรานั้นมีให้เลือกทั้งของรัฐบาล เอกชน รวมไปถึงมูลนิธิ และสมาคมต่างๆ ที่เปิดรับดูแลผู้สูงอายุ ผู้สูงอายุที่ดูแลตัวเองไม่ได้ หรือที่เรียกว่าป่วยติดเตียง ซึ่งมีให้เลือกหลายระดับ เช่น

- บ้าน คอนโดมิเนียม ซึ่งเป็นคอมเพล็กซ์สำหรับผู้สูงวัย มีทั้งห้างสรรพสินค้า โรงพยาบาล รวมถึงสาธารณูปโภคต่างๆ ที่จำเป็นต่อผู้สูงอายุ 

- บ้าน คอนโดมิเนียม ริมทะเล หรือริมเขา มีทีมแพทย์ พยาบาล และเจ้าหน้าที่คอยดูแล 24 ชั่วโมง

- บ้านพักคนชรา หรือ บ้านพักผู้สูงอายุ ของรัฐบาล เช่น บ้านบางแค  

- เนอร์สซิ่งโฮม (nursing home) หรือ บ้านพักผู้สูงอายุที่มีทั้งเช้าไปเย็นกลับ รวมถึงพักอยู่ถาวร และการดูแลผู้ป่วยติดเตียงอีกด้วย

อย่างไรก็ตาม ที่กล่าวมาทั้งหมดล้วนแล้วแต่ต้องใช้เงินทั้งสิ้น ณ ปี 2021 ค่าใช้จ่ายบ้านพักคนชรานั้นเริ่มต้นที่หลักพันไล่เรียงจนถึงหลักล้าน โดยในส่วนของหลักล้านนั้นเป็นการซื้อสิทธิอยู่จนถึงเสียชีวิต แต่อย่าลืมว่าจะต้องมีค่าใช้จ่ายรายเดือน เช่น ค่ากิน ค่าน้ำ ค่าไฟ ค่าจิปาถะต่างๆ ที่ใช้จ่ายในแต่ละวัน นั่นก็หมายความว่า เงินบำเหน็จ บำนาญที่คาดว่าจะได้รับในอีก 20-30 ปีข้างหน้าจะต้องมีพอ และมีเหลือ 

 จัดการบั้นปลายชีวิต

มาถึงสิ่งสุดท้ายที่ไม่ควรลืม บั้นปลายชีวิตของคนโสดทั้งหลายบ้างไร้ลูก ไร้หลาน ไร้ญาติมิตร หรือมีญาติแต่ห่างๆ กัน ซึ่งถ้าเป็นแบบนั้นก็ควรวางแผนจัดการศพตัวเองไว้แต่เนิ่นๆ เช่น 1. อุทิศร่างกายเป็นอาจารย์ใหญ่ให้กับนักศึกษาแพทย์ 2. บริจาคอวัยวะที่สามารถส่งต่อให้กับคนอื่นๆ ได้ ซึ่งสามารถทำได้ตั้งแต่ตอนนี้เพียงเข้าไปลงทะเบียนที่เว็บไซต์ สภากาชาดไทย 


นอกจากนี้ สิ่งที่ควรทำต่อ คือ การทำพินัยกรรม จะระบุให้ใครเป็นผู้จัดการมรดกจัดการศพ หรือ เงินที่ควรได้หลังจากเสียชีวิตจะดำเนินต่อไปอย่างไร หรือ จะนำทรัพย์สินที่มีอยู่ไปจัดการอย่างไร ยกตัวอย่างเช่น บริจาคให้เป็นสาธารณกุศล หรือจะมอบให้กับญาติพี่น้อง บุคคลใกล้ชิด ไปดำเนินการ แต่ข้อสำคัญที่สุดพินัยกรรมนั้นต้องสมบูรณ์ และถูกตามกฎหมาย 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ