ส่องอาชีพสุดฮอตในปี 2563 ฟู้ดไรเดอร์บริการส่งอาหารถึงมือคุณ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ส่องอาชีพสุดฮอตในปี 2563 ฟู้ดไรเดอร์บริการส่งอาหารถึงมือคุณ

Date Time: 16 ธ.ค. 2563 07:01 น.

Summary

  • หนึ่งในอาชีพสุดฮอตของปี 2563 ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ คนขับรถส่งอาหาร อาชีพทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดด เริ่มต้นจากการเติบโตของธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี

Latest

วัดเกม “ทุเรียน” 4สัญชาติ ชิงบัลลังก์ตลาดจีน เวียดนาม กดส่วนแบ่งไทยลดลง ฟิลิปปินส์-มาเลเซีย ไล่บี้

หนึ่งในอาชีพสุดฮอตของปี 2563 ที่ไม่พูดถึงไม่ได้ คือ คนขับรถส่งอาหาร อาชีพทางเลือกที่ได้รับความนิยมอย่างก้าวกระโดด เริ่มต้นจากการเติบโตของธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรี ที่ตอบสนองเทรนด์ของผู้บริโภคยุคใหม่ และมีตัวเร่งให้ธุรกิจนี้ได้รับความนิยมและเติบโตแบบก้าวกระโดด ในช่วงการแพร่ระบาดของโควิด-19 คนไทยถูกล็อกดาวน์อยู่บ้าน เมื่อออกไปไหนไม่ได้หรือไม่อยากออกนอกบ้าน ก็สั่งอาหารแบบดีลิเวอรีกัน นั่งอยู่บ้านสบายๆ อาหารก็ส่งมาถึงมือได้

มีการประเมินกันว่าธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรีมีมูลค่าสูงถึงปีละ 35,000 ล้านบาท และมีแนวโน้มที่จะเติบโตขึ้นอีกมากมาย โดยศูนย์วิจัยกสิกรไทย มองว่าจำนวนครั้งของการจัดส่งอาหารจะอยู่ที่ 66- 68 ล้านครั้ง หรือขยายตัวสูงถึงร้อยละ 78.0-84.0 เมื่อเทียบกับปีที่ผ่านมา ซึ่งเป็นอัตราการเติบโตอย่างก้าวกระโดด

ในตลาดนี้มีผู้เล่นหลักอยู่รายหลาย ไม่ว่าจะเป็น FoodPanda ที่เริ่มทำตลาดก่อนใครเมื่อ 8 ปีก่อนตามมาด้วย Grab เปิดตัวในไทยเป็นปีที่ 7 เริ่มต้นส่งอาหารมาเกือบ 3 ปี รวมทั้งมี LINE MAN และ GET ที่ต่อมาเปลี่ยนชื่อเป็น Gojek และในปีนี้ได้เห็นผู้เล่นหน้าใหม่เข้ามาทำตลาดอีกหลายเจ้า ล่าสุดก็คือ Robinhood ที่มีธนาคารไทยพาณิชย์ให้การสนับสนุน

เมื่อความนิยมในการใช้บริการเพิ่มมากขึ้น ส่งผลให้มีความต้องการคนขับในระบบมากขึ้นตาม ว่ากันว่าในธุรกิจฟู้ดดีลิเวอรีนี้มีคนขับให้บริการอยู่หลายแสนคน โดยเฉพาะในช่วงโควิด หลายคนตกงาน หลายคนรายได้ลดลง จึงมองหาอาชีพเสริม งานขับรถส่งอาหารจึงกลายเป็นทางเลือกที่ได้รับความนิยม เพราะสมัครง่าย รายได้ดี (ถ้าขยัน) ยิ่งขับมากก็ได้รายได้เพิ่ม ไม่เหมือนงานประจำที่ถูกกำหนดค่าแรงขั้นต่ำ แถมสามารถรับงานได้จากหลายแอป ภายใต้คุณสมบัติ มีใจรักบริการ มีใบขับขี่ ไม่ต้องใช้วุฒิการศึกษา ที่สำคัญเลยต้องไม่มีประวัติอาชญากรรม

มีตัวอย่าง คนขับ LINE MAN คุณเจมส์ เทพ ธารินทร์ ทำงานตัวเป็นเกลียวตั้งแต่เช้ายันดึก รวม 405 งาน ภายใน 15 วัน พลิกวิกฤติ โควิด-19 ให้เป็นโอกาสในการทำเงิน สร้างรายได้ถึงครึ่งแสน ในช่วงเดือน มี.ค.2563 ยิ่งในปีนี้ที่มีจำนวนคนตกงานแล้ว 750,000 คน และคงยังไม่นิ่งไปจนถึงปีหน้า อาชีพคนจัดส่งอาหารหรือพัสดุจึงกลายเป็นทางเลือกของคนตกงาน ไม่ว่าจะเป็น เชฟร้านอาหาร ไกด์ทัวร์ หรือแม้แต่กัปตันสายการบิน ก็หันมาเป็น “พาร์ตเนอร์คนขับ”

สำหรับรูปแบบการจัดส่งส่วนใหญ่คนขับเหล่านี้เลือกให้บริการด้วยมอเตอร์ไซค์ เพราะเดินทางสะดวก ถึงที่หมายไว จอดรถง่าย ทำรอบได้เร็ว แต่ก็มีบางคนที่เลือกใช้วิธีอื่นอย่างการปั่นจักรยาน ใช้สกูตเตอร์ไฟฟ้า หรือเดินเท้า เช่น Grab มีกลุ่มที่เรียกว่า GrabFood Walk ส่วนใหญ่เป็นนักศึกษาที่ทำงานในส่วนนี้เพราะไม่มีรถมอเตอร์ไซค์ ให้บริการจัดส่งอาหารในระยะไม่เกิน 1 กิโลเมตร มักอยู่ตามย่านออฟฟิศอย่างสีลม สาทร หรือสุขุมวิท ในขณะที่ GET หรือ Gojek ก็มีบริการ GET Runner เพื่อส่งอาหารด้วยการเดินหรือปั่นจักรยานเช่นกัน นอกจากนี้ ในช่วงล็อกดาวน์ บางคนยังอาจเห็นคนส่งอาหารด้วยรถยนต์ อย่าง Grab เปิดให้คนขับรถยนต์หรือแท็กซี่ที่ไม่มีงานรับส่งผู้โดยสารเนื่องจากมีการปิดประเทศ มีโอกาสหารายได้เสริมจากการส่งอาหารด้วย

นอกเหนือจากบริการส่งอาหารแล้ว ในปัจจุบันแอปพลิเคชันเหล่านี้ต่างพยายามที่จะตอบสนองพฤติกรรมผู้บริโภคในยุคนิวนอร์มอล โดยนำเสนอบริการใหม่ๆ ไม่ว่าจะเป็นการส่งพัสดุ สินค้า บริการสั่งซื้อสินค้าของสดหรือของใช้จากห้าง อย่าง Grab ที่มี GrabMart หรือ PandaMart ของ FoodPanda หรือบริการผู้ช่วยอำนวยความสะดวกอย่าง Grab Assistant ที่ทำให้ชีวิตคนไทยง่ายขึ้นกับบริการที่หลากหลาย ไม่ว่าจะเป็น ฝากซื้ออาหารสัตว์ ผลิตภัณฑ์ดูแลสัตว์ ฝากซื้อยาสามัญประจำบ้านจากร้านขายยา ฝากซื้ออุปกรณ์เย็บ ปัก ถัก ร้อย หรือฝากรับเสื้อผ้าจากร้านซักรีด ร้านซักแห้ง ทำให้คนขับมีงานและมีรายได้เสริมมากขึ้นนอกจากการส่งอาหาร

หลายคนอาจจะเข้าใจว่า คนส่งอาหารเหล่านี้เป็นพนักงานของแอปพลิเคชัน แต่จริงๆ แล้วพวกเขาไม่ใช่พนักงาน เขาไม่ได้รับเงินเดือนหรือต้องตอกบัตรเข้างานเหมือนพนักงานทั่วไป เรียกได้ว่า เป็นการทำงานแบบพาร์ตไทม์สะดวกช่วงเวลาไหนก็รับงานช่วงนั้น บางเจ้าจึงเรียกคนขับเหล่านี้ว่า “ไรเดอร์” บ้าง หรือ “พาร์ตเนอร์” บ้าง เพราะถ้ามองกันจริงๆ แล้ว พวกเขาเหล่านี้ก็ไม่ต่างจากผู้ใช้บริการ ที่ใช้ประโยชน์จากแอปพลิเคชันในการสร้างรายได้เสริม

อย่างไรก็ตาม แม้จะไม่ใช่พนักงานแต่ความน่าสนใจของการเป็น “พาร์ตเนอร์คนขับ” ก็มีสิทธิประโยชน์อื่นๆ นอกเหนือจากค่าตอบแทนที่ได้จากการให้บริการแล้ว บางเจ้าให้เป็นโบนัส หรืออินเซนทีฟ บางราย เช่น Grab ทำประกันคุ้มครองอุบัติเหตุให้กับคนขับทุกคนในระหว่างการรับงาน นอกจากนี้ คนขับยังได้รับส่วนลดและสิทธิพิเศษอื่นๆ จากคู่ค้าหรือพันธมิตรธุรกิจ

ที่สำคัญคือ คนขับเหล่านี้มีโอกาสในการเข้าถึงบริการทางการเงินที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากผู้ให้บริการแอปพลิเคชันเหล่านี้มีการออกเอกสารรับรองรายได้ให้กับคนขับ ซึ่งธนาคารหรือสถาบันการเงินต่างๆ เชื่อถือและให้การยอมรับ จึงเป็นประโยชน์ต่อการทำธุรกิจกรรมหรือกู้ยืมเงิน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ