ศักดิ์สยาม เตรียมนำประเด็นปัญหาขยายสัมปทานรถไฟฟ้าสายสีเขียว เสนอบิ๊กตู่ โดยเฉพาะประเด็นค่าโดยสาร ที่จะต้องใช้ฐานการคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค ราคาสูงสุดจะต่ำกว่า 65 บาท แน่นอน
เมื่อวันที่ 3 ธ.ค. 63 นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวถึงปัญหาการขยายสัญญาสัมปทานรถไฟฟ้า สายสีเขียว ซึ่งจะครอบคลุมส่วนต่อขยายหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต และช่วงแบริ่ง-สมุทรปราการ ที่ กทม. มีกับ BTS และสัมปทานจะสิ้นสุดในปี 2572 โดยจะมีการขยายสัมปทานออกไป 30 ปี และยังมีประเด็นปัญหาที่กระทรวงคมนาคมยังไม่เห็นด้วย ในหลายประเด็นนั้น
ล่าสุด ตนกำลังนัดหมายเพื่อขอนำข้อมูลทั้งหมดที่มี เสนอต่อนายกรัฐมนตรีฯ เพื่อทราบ โดยเฉพาะข้อมูลที่เกี่ยวข้องกับการกำหนดค่าโดยสาร ที่มีการนำเสนอข้อมูลก่อนหน้านี้ว่า ได้มีการคำนวณราคาค่าโดยสารรวมในเส้นทางปัจจุบัน รวมกับส่วนต่อขยายแล้ว จะมีราคาสูงสุดไม่เกินคนละ 65 บาทนั้น ซึ่งในส่วนนี้ไม่ทราบว่าหน่วยงานที่มีการคำนวณค่าโดยสารดังกล่าวนำฐานข้อมูลมาจากไหน
ในส่วนของกระทรวงคมนาคมที่มีหน่วยงานทางกรมการขนส่งทางราง (ขร.) และการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย หรือ รฟม.ซึ่งเป็นผู้ให้สัมปทานรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน อยู่ ใช้ฐานการคำนวณจากดัชนีราคาผู้บริโภค หรือ CPI (Consumer Price Index ) และจากข้อมูลที่กระทรวงคมนาคม นำมาคำนวณค่าโดยสารของรถไฟฟ้าสายสีเขียวรวมกับส่วนต่อขยายแล้ว ยืนยันว่าประชาชนจะจ่ายค่าโดยสารสูงสุด ต่ำกว่า 65 บาทแน่นอน
ส่วนประเด็นที่คณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร ยังมีข้อสงสัยในเรื่องที่ กทม.และบีทีเอส ได้เคยเข้าไปชี้แจง ในอีกหลายประเด็นนั้น เป็นเรื่องที่หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องไปชี้แจง คณะกรรมาธิการฯ เอง
นายศักดิ์สยาม กล่าวย้ำว่า เรื่องการพิจารณารายละเอียดของการขยายสัมปทาน โครงการรถไฟฟ้าสายสีเขียวนั้น ยังมีระยะเวลาที่สามารถพิจารณารายละเอียดได้ ไม่ต้องรีบร้อน เนื่องจากสัมปทานจะหมดในปี 2572 โดยยืนยันว่าการพิจารณาจะต้องคำนึงถึงประโยชน์สูงสุดของประชาชนผู้ใช้บริการ และมั่นใจว่าการขยายสัมปทาน จะไม่ส่งผลกระทบต่อการเดินรถสายสีเขียวแน่นอน
ผู้สื่อข่าวรายงานว่า การคำนวณอัตราค่าโดยสาร รถไฟฟ้าสายสีเขียว จากคูคต–เคหะสมุทรปราการ จำนวน 59 สถานี โดยมีการนำเสนอข้อมูลว่า จะจัดเก็บในราคาสูงสุดไม่เกิน 65 บาท จากราคาปกติ 158 บาทตลอดสาย และเกิดเป็นประเด็นปัญหาข้อขัดแย้งขึ้น ระหว่างกรุงเทพฯที่ สังกัดกระทรวงมหาดไทย และกระทรวงคมนาคม ซึ่งใช้ฐานข้อมูลต่างกัน
โดยจากข้อมูลของหลายหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ตรวจสอบพบว่าการคำนวณค่าโดยสาร ที่ระบุว่าจะกำหนดค่าโดยสารสูงสุดไม่เกิน 65 บาท (ข้อมูล กทม.และบีทีเอส) นั้น ใช้ All CPI ที่มีการนำต้นทุนอาหาร และเครื่องดื่มระหว่างการเดินทาง (Food and Beverage) มาคิดคำนวณด้วย
ขณะที่การคำนวณอัตราค่าโดยสารของกระทรวงคมนาคม จะเป็นแบบ Non- Food and Beverage และจากข้อมูลในหน่วยงานกระทรวงคมนาคมขณะนี้ ยืนยันว่าอัตราค่าโดยสารสูงสุดจะต่ำกว่าราคา 65 บาทมากกว่า 20% แน่นอน