นายโสภณ ซารัมย์ ประธานคณะกรรมาธิการคมนาคม สภาผู้แทนราษฎร เปิดเผยถึงการเสนอขยายต่ออายุสัญญาสัมปทาน รถไฟฟ้าสายสีเขียว ออกไปอีก 30 ปีให้กับบริษัท บีทีเอส กรุ๊ป โฮลดิ้งส์ จำกัด (มหาชน) ที่กระทรวงมหาดไทยเสนอต่อคณะรัฐมนตรี เพื่อขอความเห็นชอบร่างสัญญาร่วมลงทุนว่า หลังจากที่เชิญหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง อาทิ กรุงเทพมหานคร (กทม.), กระทรวงการคลัง, กรมการขนส่งทางราง มาชี้แจง ยอมรับว่าข้อมูลที่ได้รับฟังยังมองว่ายังไม่มีความชัดเจนที่สามารถตรวจสอบ หรืออ้างอิงที่มาที่ไปที่จะรับฟังได้ หากมีการต่อขยายอายุสัญญาให้เอกชน ว่า ประชาชน และภาครัฐจะได้ประโยชน์อย่างไร
“คณะกรรมาธิการฯจึงได้ทำหนังสือถึงหน่วยงานต่างๆที่เกี่ยวข้องกับโครงการเพื่อตอบคำถามในสิ่งที่คณะกรรมาธิการฯได้ถามไปให้ตอบกลับมาเป็นลายลักษณ์อักษร ภายใน 1-2 สัปดาห์นี้ จากนั้นคณะกรรมาธิการฯจะมาสรุปผลทั้งข้อดี ข้อเสีย เหตุผลในทุกๆด้านมาประกอบการพิจารณา หากได้ข้อสรุปออกมา ก็ยังพบว่าไม่เป็นประโยชน์กับประชาชน หรือภาครัฐ หรือสุ่มเสี่ยงไปในทางที่ไม่โปร่งใส ก็จะส่งผลสรุปไปยังหน่วยงานที่ตรวจสอบความไม่โปร่งใสคือ สำนักงานการตรวจเงินแผ่นดิน (สตง.), คณะกรรมการป้องกันและปราบปรามการทุจริตแห่งชาติ (ป.ป.ช.) และรัฐบาลต่อไป”
สาเหตุที่ต้องขอความเห็นจากหน่วยงานต่างๆ เนื่องจากที่ผ่านมาได้ผู้เกี่ยวข้องให้มาชี้แจงกลับพบว่า บางหน่วยงานให้ข้อมูลที่ไม่ชัดเจน เพราะการขยายต่ออายุสัญญา แลกกับค่าโดยสารที่ 65 บาทตลอดสาย ขณะที่สัญญาสัมปทานที่ กทม.มีกับบีทีเอส เดิมสิ้นสุดปี 2572 หากขยายไปสิ้นสุดปี 2602 ขณะที่มีการอ้างว่า หากต่อขยายสัญญาเพื่อให้ทันตามแผนการเปิดให้บริการเดินรถไฟฟ้าสายสีเขียว ช่วงหมอชิต-สะพานใหม่-คูคต ในสิ้นปีนี้ ทำให้ประชาชนได้รับประโยชน์ เรื่องนี้ ในทางปฏิบัติหากไม่ต่อขยายสัญญา โครงการก็จะตกเป็นของภาครัฐอยู่แล้ว และในอนาคต รัฐบาลมีรถไฟฟ้าหลายสาย หากมีการเชื่อมต่อระบบระหว่างกันจะทำให้มีการควบคุมราคา หรือลดราคา โดยการใช้ตั๋วร่วม ทำได้ยาก ทันที จึงมองว่าเป็นเรื่องสำคัญ และภาคสังคมได้มีการติดตามเรื่องนี้ใกล้ชิด ในฐานะนิติบัญญัติ เมื่อได้ข้อมูลมาจึงต้องตรวจสอบ เพราะหากมีการต่อขยายอายุสัญญาให้กับเอกชน ถือเป็นการเพิ่มนัย ที่สำคัญของสัญญาทันที โดยที่ไม่มีการเปิดประมูลหาเอกชนเข้ามาดำเนินการหลังหมดสัญญา.