“เฉลิมชัย” ฝันดันราคายาง 65 บาท เกษตรกรเปิดกระเป๋ารอหลังยอดใช้ยางทะลัก

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“เฉลิมชัย” ฝันดันราคายาง 65 บาท เกษตรกรเปิดกระเป๋ารอหลังยอดใช้ยางทะลัก

Date Time: 5 ก.ย. 2563 09:01 น.

Summary

  • “เฉลิมชัย” เอาใจชาวสวนมองไกลราคายางสถานีต่อไปกิโลกรัมละ 65 บาท สั่ง กยท.เร่งเจรจาเอกชนร่วมทุนผลิตถุงมือยางส่งออก-ผลักดันใช้ยางในประเทศ

Latest

อาเซียน ตั้งเป้า “ศูนย์กลางการผลิตโลก” ฮับรถ EV - เซมิคอนดักเตอร์ สังคมชนชั้นกลางที่ร่ำรวย

“เฉลิมชัย” เอาใจชาวสวนมองไกลราคายางสถานีต่อไปกิโลกรัมละ 65 บาท สั่ง กยท.เร่งเจรจาเอกชนร่วมทุนผลิตถุงมือยางส่งออก-ผลักดันใช้ยางในประเทศ หวังดันราคายางก้อนถ้วยให้ถึงราคาประกัน ด้าน กยท.เฮลั่น! หลังราคายางพาราทะลุ 60 บาท/กก. สูงสุดรอบ 3 ปี 2 เดือน เมื่อต้นสัปดาห์ที่ผ่านมา สาเหตุหลักมาจากความต้องการจีนเพิ่ม-ใช้ในประเทศ ส่งผลให้โครงการประกันรายได้ระยะที่สอง ใช้เงินน้อยลงกว่า 2 หมื่นล้านบาท

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ขณะนี้เกษตรกรผู้ปลูกยางพารามีความสุข ยิ้มได้ กระทรวงเกษตรฯจึงเตรียมปรับเป้าหมายราคายางพาราสูงขึ้นมากกว่า 65 บาท/กิโลกรัม (กก.) หลังผ่านเป้าหมายแรก 60 บาท/กก. แต่โครงการประกันรายได้ชาวสวนยางพารา ระยะที่ 2 (เฟส 2) กำหนดราคายางแผ่น 60 บาท กก. น้ำยางสด 57 บาท กก. ยางก้อนถ้วย 46 บาท กก. แม้ขณะนี้ราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 จะทะลุ 60 บาท กก.แล้วโครงการนี้ยังคงต้องดำเนินการ เนื่องจากราคายางก้อนถ้วยที่เกษตรกรขายได้ยังห่างจากราคารับประกันอยู่มาก

ดังนั้น จะเร่งผลักดันมาตรการใช้ยางในประเทศให้มากที่สุด ที่เหลือจากใช้และผลิตเป็นสินค้าเพื่อส่งออก จึงจะส่งออก แต่เป้าหมายที่สั่งให้ การยางแห่งประเทศไทย (กยท.) เร่งดำเนินการ คือทำแผนการใช้ยางให้ประเทศ โดยล่าสุดให้ กยท. ร่วมหารือกับผู้ผลิตในประเทศ เพื่อร่วมลงทุนตั้งบริษัทร่วมทุน เพื่อผลิตสินค้าที่ทำจากยางพารา ในประเทศไทย ส่งออก โดยจะร่วมมือกับกระทรวงพาณิชย์ในการหาตลาดเพื่อผลิตสินค้าป้อน เบื้องต้น เตรียมตั้งบริษัทร่วมทุนระหว่างรัฐกับเอกชน เพื่อผลิตถุงมือยางส่งออก ภายในประมาณ 2 เดือนข้างหน้า หรือไม่เกินปลายปี 2563 นี้

“ปี 2564 ไทยจะเป็นผู้ผลิตผลิตภัณฑ์จากยางพาราเพื่อส่งออก เพราะไทยเป็นผู้ผลิตยางพาราคุณภาพดีเหมาะสำหรับทำผลิตภัณฑ์ทางการแพทย์ หรือผลิตล้อยางพารา เพื่อส่งออก แทนการส่งออกเป็นวัตถุดิบ ไทยจะกลายเป็นผู้ผลิตสินค้าจากยางพาราเอง จากนี้ผู้ซื้อยางพาราจากต่างประเทศที่เคยกดราคายางพาราของไทย ก็จะไม่สามารถ กดราคายางพาราได้ เพราะไทยจะเป็นผลผลิตปลายน้ำ ในอุตสาหกรรมยาง พาราของโลก”

นายเฉลิมชัย กล่าวว่า สำหรับการใช้ยางพาราในประเทศ ในส่วนของหน่วยงานราชการ เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำยางพาราในประเทศและสร้างสมดุลราคายางพาราให้เหมาะสม ที่ได้ผลและเป็นรูปธรรม และต้องขอขอบคุณมากแทนเกษตรกร คือ โครงการของกระทรวงคมนาคม ที่กรมทางหลวงและกรมทางหลวงชนบทจะรับซื้อน้ำยางจากเกษตรกรเพื่อผลิตเป็นแผ่นยางธรรมชาติครอบกำแพงคอนกรีต (แบริเออร์จากยางพารา) ส่วนการลดปริมาณพื้นที่เพาะปลูกยางปีละ 400,000 ไร่ โดยจ่ายเงินชดเชยให้ไร่ละ 16,000 บาท และดำเนินโครงการลดพื้นที่ปลูกยางพาราเพื่อปลูกพืชอื่นทดแทน เป็นการปรับเปลี่ยนสวนยางที่มีอายุเกิน 25 ปีแล้วไปปลูกพืชอื่น

สำหรับแผนการทำงานของ กยท.ปี 2564 ถือว่าเป็นปีที่นายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ที่เพิ่งได้รับตำแหน่งใหม่ จะต้องพิสูจน์ผีมือ ราคายางและผลผลิตยางพาราต้องเกิดความสมดุล ราคายางที่เกษตรกรขายได้ ต้องสูงขึ้น จากมาตรการต่างๆ รวมทั้งการเปิดตลาดใหม่ ที่ต้องร่วมดำเนินการกับกระทรวงพาณิชย์ หากไม่สามารถทำได้ 6 เดือนก็จะต้องแสดงความรับผิดชอบ

ด้านนายณกรณ์ ตรรกวิรพัท ผู้ว่าการการยางแห่งประเทศไทย (กยท.) ได้ให้สัมภาษณ์เมื่อวันที่ 1 ก.ย. ว่าในวันดังกล่าวราคายางปรับตัว สูงขึ้นทะลุ 60 บาท/กิโลกรัม (กก.) ซึ่งถือเป็นราคาที่สูงสุดครั้งแรกในรอบ 3 ปี 2 เดือน โดยราคายางแผ่นรมควันชั้น 3 ปรับตัวสูงขึ้นมาอยู่ที่ราคา 60.50 บาท/กก. ราคายางมีแนวโน้มจะสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง เพราะจีนสั่งซื้อปริมาณมาก หลังเริ่มฟื้นฟูประเทศทำให้การผลิตภาคอุตสาหกรรมกระเตื้องขึ้น อีกทั้งคนจีนยังหันมาใช้รถยนต์ส่วนบุคคลแทนรถโดยสารสาธารณะ เป็นผลให้ล้อยางจำหน่ายเพิ่มขึ้น ล่าสุดยอดการใช้ยางพาราในจีนเพิ่มขึ้นเป็น 2 เท่าแล้ว

“ขณะนี้ราคายางพาราปรับตัวเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการในตลาดโลกและประเทศจีน อาจมีผลทำให้โครงการประกันรายได้ยางพาราระยะที่ 2 ที่ขณะนี้คณะรัฐมนตรียังไม่ได้นำมาพิจารณา วงเงินประมาณ 33,000 ล้านบาท จะใช้งบประมาณลดลงมากกว่า 20,000 ล้านบาท แต่คาดว่ายังต้องมีโครงการจากภาครัฐเข้ามาช่วยสนับสนุนเพื่อ ให้ราคายางสูงขึ้น

ซึ่งปัจจัยสำคัญหลักๆที่ทำให้ราคายางพาราเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง เกิดจากมาตรการส่งเสริมการใช้ยางพาราในประเทศ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหน่วยงานภาครัฐ ซึ่งนายกรัฐมนตรีเป็นประธานเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้ เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน จังหวัดจันทบุรี และล่าสุดในวันอาทิตย์ที่ 6 ก.ย.นี้ ทางนายอนุทิน ชาญวีรกูล รองนายกรัฐมนตรี นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม จะมาเป็นประธานเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้ ที่จังหวัดสตูล และจากนั้นนายศักดิ์สยามจะเดินสายเป็นประธานเปิดโครงการนำร่องการนำยางพารามาใช้ เพื่อปรับปรุงเพิ่มความปลอดภัยทางถนน ที่จังหวัดบึงกาฬต่อไป

ทั้งนี้ความร่วมมือดังกล่าวถือเป็นข้อตกลงร่วม (MOU) ระหว่างกระทรวงเกษตรและสหกรณ์และกระทรวงคมนาคม โดยกระทรวงคมนาคมรับซื้อยางพาราจากสถาบันเกษตรกรเป็นวัสดุในการปรับปรุง ก่อสร้าง เพื่อส่งเสริมการใช้น้ำยางพาราในประเทศและสร้างสมดุลราคายางพาราให้เหมาะสม ตลอดจนเพิ่มความปลอดภัยบนท้องถนน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ