นางอรมน ทรัพย์ทวีธรรม อธิบดีกรมเจรจาการค้าระหว่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า ในช่วง 6 เดือน (ม.ค.-มิ.ย.) ปี 63 ทั่วโลกเริ่มสำรองสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์กลุ่มที่ใช้ในการฉีดวัคซีน เช่น เข็มฉีดยา หลอดฉีดยามากขึ้น และมีแนวโน้มเพิ่มมากขึ้นอีกหากมีการคิดค้นวัคซีนสำหรับการรักษาโควิด-19 ได้แล้ว ขณะที่ไทยมีศักยภาพในการผลิตและส่งออกเข็มฉีดยาทำด้วยโลหะเป็นอันดับ 1 ในอาเซียน เป็นอันดับที่ 6 ของโลก และยังเป็นผู้ส่งออกเข็มและหลอดฉีดยาอันดับที่ 11 ของโลกอีกด้วย
“ผู้ประกอบการไทยควรใช้โอกาสนี้ในการเตรียมความพร้อมเพิ่มกำลังการผลิตสินค้าให้เพียงพอกับความต้องการทั้งภายในประเทศ และต่างประเทศ พร้อมขยายการส่งออกไปประเทศที่ไทยมีความตกลงการค้าเสรี (เอฟทีเอ) ด้วย เนื่องจากประเทศคู่เอฟทีเอของไทยทั้ง 18 ประเทศ ไม่เก็บภาษีนำเข้าจากไทยในสินค้าเข็มและหลอดฉีดยา รวมถึงอุปกรณ์ทางการแพทย์ทุกรายการ ส่งผลให้สินค้าของไทยได้เปรียบด้านราคาเมื่อเปรียบเทียบกับคู่แข่ง อีกทั้งยังมีแนวโน้มที่ประเทศต่างๆจะทยอยลดเลิกอุปสรรคด้านภาษีในสินค้าอุปกรณ์ทางการแพทย์ในระยะยาวด้วย”
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือนของปี 63 ไทยส่งออกสินค้าเข็มฉีดยาและหลอดฉีดยาสู่ตลาดโลก รวม 199.8 ล้านเหรียญสหรัฐฯ ขยายตัว 10.6% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 62 แบ่งเป็นการส่งออกเข็มฉีดยาโลหะ 62.9 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 4% เข็มฉีดยาอื่นๆ 134.1 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 14% และหลอดฉีดยาแบบมีหรือไม่มีเข็ม 2.8 ล้านเหรียญฯ ส่วนการส่งออกไปประเทศที่ไทยมีเอฟทีเอด้วยรวม 86.3 ล้านเหรียญฯ คิดเป็นสัดส่วน 43% ของการส่งออกเข็มและหลอดฉีดยาทั้งหมดของไทยขยายตัว 8% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันของปี 2562
ทั้งนี้ ในช่วง 6 เดือน หลายประเทศนำเข้าเข็มฉีดยามากขึ้น เช่น สหรัฐฯนำเข้า 403 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 4%, ญี่ปุ่น 97 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 6%, ฝรั่งเศส 67 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 0.4%, รัสเซีย 28 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 11%, ชิลี 5 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 31% และนำเข้าหลอดฉีดยาเพิ่มขึ้น โดยสหรัฐฯ นำเข้า 382 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 4%, ฝรั่งเศส 377 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 6%, ญี่ปุ่น 50 ล้านเหรียญฯ เพิ่มขึ้น 23%, ชิลี 11 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 44%, เปรูนำเข้า 11 ล้านเหรียญฯ ขยายตัว 30% เป็นต้น.