ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ความคืบหน้าการพัฒนาบุคลากร ตามแนวทาง “อีอีซีโมเดล โอกาสมาถึงบ้านงานมาถึงตัว” ของสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (สกพอ.หรือสำนักงานอีอีซี) ได้ดำเนินการพัฒนาบุคลากรกับผู้ประกอบการ ตามแนวทางอีอีซีโมเดล ตามที่มีประมาณการความต้องการ 5 ปี (2562-2566) จำนวน 475,793 คน ซึ่งเป็นการพัฒนาบุคลากรแบบ Demand Driven หรือตามความต้องการของอุตสาหกรรมเป้าหมายในพื้นที่ โดยให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องกับการพัฒนาบุคลากรในอีอีซีใช้ EEC Model Type A เป็นรูปแบบที่เอกชน จ่าย 100% เรียนฟรี มีงานทำ รายได้สูง และ EEC Model Type B เป็นรูปแบบที่สถานศึกษาของรัฐบาลและผู้ประกอบการภาคเอกชนร่วมกันจัดระบบการศึกษา โดยเอกชนจะรับนักศึกษาเข้าฝึกงาน รัฐจ่าย 50% และเอกชนจ่าย 50% เป็นแนวทางหลักในการพัฒนาบุคลากรในอีอีซี และให้ศูนย์ประสานการพัฒนาทรัพยากรมนุษย์ เขตพัฒนาเศรษฐกิจพิเศษ ภาคตะวันออก (EEC-HDC) ของ สกพอ.เป็นผู้ประสานงานหลัก
โดยสำนักปลัดกระทรวงการอุดมศึกษา วิทยาศาสตร์ วิจัยและนวัตกรรม (อว.) ได้ปรับหลักสูตรที่ได้รับปริญญาหรือประกาศนียบัตรวิชาชีพ เป็นแบบ EEC Model Type A ให้มากที่สุด เพื่อให้ได้ตามเป้าหมาย 30,000 คน ในระยะนี้ และ 100,000 คน ภายในระยะเวลา 5 ปี ขณะเดียวกัน สกพอ.ได้ขยายกรอบความร่วมมือกับสำนักงานคณะกรรมการการอาชีวศึกษาเพื่อผลักดันให้สถาบันอาชีวศึกษาในภาคตะวันออก 12 สถาบัน ซึ่งมีกำลังการผลิตนักศึกษาระดับประกาศนียบัตรวิชาชีพชั้นสูง (ปวส.) รวมปีละ 8,200 คน เป็นรูปแบบ EEC Model Type A ให้ได้อย่างน้อย 30% ของผู้สำเร็จการศึกษา ปวส. ในปี 2566 โดยดำเนินการแล้วประมาณ 1,500 คน ต้องการเพิ่ม 7,000 คน และขยายจำนวนนักศึกษาที่เข้าอบรมหลักสูตรระยะสั้น รัฐเอกชนร่วมจ่าย 50 : 50 ให้ได้ 20,000 คน ในปีงบประมาณ 2564 รวมทั้งให้ขยายผลการจัดการเรียนรู้แบบบูรณาการภาษากับเนื้อหา กับการเรียนการสอนกลุ่มอาชีวศึกษา ซึ่งผู้สอนในสาขาวิชาชีพต่างๆนำภาษาอังกฤษไปสอดแทรกในการจัดการเรียนรู้ เพื่อให้นักศึกษาสามารถใช้ภาษาอังกฤษเฉพาะทางได้ นอกจากนี้ สกพอ.ได้ร่วมมือกับกรมพัฒนาฝีมือแรงงาน พัฒนาฝีมือแรงงานให้หน่วยฝึกอบรมของกรมพัฒนาฝีมือแรงงานในอีอีซี เช่น สถาบันพัฒนาบุคลากรสาขาเทคโนโลยีการผลิตอัตโนมัติและหุ่นยนต์ด้วย.