ปิดตำนานโรงภาพยนตร์ย่านสยามสแควร์

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปิดตำนานโรงภาพยนตร์ย่านสยามสแควร์

Date Time: 4 ก.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • เหลือเพียงอีกวันเดียว คือวันที่ 5 ก.ค.63 โรงภาพยนตร์ในรูปแบบสแตนด์อะโลน โรงสุดท้ายจะปิดฉากลงเหลือไว้แต่ประวัติศาสตร์ที่กลุ่มผู้คนรักหนังที่มีประสบการณ์เสพอรรถรสความบันเทิง

Latest

FTA ไทย–EFTA เจรจาสำเร็จ!!

เหลือเพียงอีกวันเดียว คือวันที่ 5 ก.ค.63 โรงภาพยนตร์ในรูปแบบสแตนด์อะโลน โรงสุดท้ายจะปิดฉากลงเหลือไว้แต่ประวัติศาสตร์ที่กลุ่มผู้คนรักหนังที่มีประสบการณ์เสพอรรถรสความบันเทิงกับความยิ่งใหญ่ของโรงภาพยนตร์สกาลา จะเป็นโรงสุดท้ายในเครือเอเพล็กซ์ ที่จะปิดตัวลง

ในอดีตที่ผ่านมา เครือเอเพล็กซ์ได้ดำเนินการธุรกิจโรงภาพยนตร์ที่มีชื่อเสียง และได้รับความนิยมอย่างมากถึง 4 โรงด้วยกัน เริ่มตั้งแต่ การเข้าไปปรับปรุงโรงภาพยนตร์ศาลาเฉลิมไทย ริมถนนราชดำเนินกลางซึ่งกลายเป็นตำนานของโรงมหรสพและโรงภาพยนตร์ นำระบบโรงภาพยนตร์ที่ทันสมัยที่สุดเข้ามาฉาย จนต่อมาได้ลงทุนเพิ่ม 3 โรงในย่านสยามสแควร์ ซึ่งเป็นย่านที่กลุ่มวัยรุ่นนิยมไปแฮงเอาต์ นัดพบปะและใช้ชีวิตกันที่นั่น

ได้แก่โรงภาพยนตร์สยาม, ลิโด้ และสกาลา โดยโรงภาพยนตร์สยาม จากการชุมนุมทางการเมืองครั้งใหญ่ในปี 2553 ถูกวางเพลิงจนอาคารเสียหายไปทั้งหลัง ขณะที่โรงภาพยนตร์ลิโด้ ซึ่งหมดสัญญาเช่ากับทางจุฬาฯ เมื่อปี 2561 ได้ปิดตัวลงก่อนหน้า และสุดท้ายคือ โรงภาพยนตร์สกาลา ซึ่งจะหมดสัญญาเช่าลงในปัจจุบันจะเป็นโรงสุดท้ายที่ปิดตัวลง

กว่า 50 ปีที่ผ่านมา โรงภาพยนตร์ทั้ง 3 แห่งได้เปิดให้บริการด้วยการลงทุนทางด้านการออกแบบ ก่อสร้างแบบอลังการพร้อมกับนำเทคโนโลยีที่ทันสมัยที่สุดเข้ามาให้บริการ หนังใหม่ๆจะต้องถูกเปิดตัวฉายที่โรงภาพยนตร์ที่นี่ก่อน ขณะที่ราคาค่าชมในสมัยนั้นเริ่มตั้งแต่ 10 บาท 15 บาท และ 30 บาท

สำหรับโรงภาพยนตร์สกาลา ตั้งชื่อตามโรงอุปรากร Teatro alla Scala แห่งเมืองมิลาน ประเทศอิตาลี ถูกออกแบบในศิลปะอาร์ตเดโค ภายในมีเสาคอนกรีตโค้ง การผสมผสานกันระหว่างวัฒนธรรมตะวันออกกับตะวันตก และโคมไฟระย้าทรงหยดน้ำค้างแข็ง 5 ชั้นขนาดยักษ์ที่สั่งตรงจากอิตาลี ได้รับรางวัลอนุรักษ์สถาปัตยกรรมดีเด่น ปี 2555 จากสมาคมสถาปนิกสยาม

ซึ่งหากมีการทุบทิ้งไปคงจะเสียดายกันไม่น้อย

ในช่วงวันสองวันสุดท้ายนี้ได้มีการจัดกิจกรรมสั่งลาโรงภาพยนตร์

สแตนด์อะโลนแห่งสุดท้ายของกรุงเทพฯเพื่อให้แฟนคอหนังได้มีโอกาสเก็บเกี่ยวความทรงจำและร่วมเป็นส่วนหนึ่งของประวัติศาสตร์ของ “ราชาโรงหนังแห่งสยาม” ซึ่งเท่าที่ตามดูบัตรชมภาพยนตร์ทั้งหมดขายหมดเกลี้ยงแล้ว

สำหรับโรงภาพยนตร์ในยุคต่อมาในรูปแบบ “มัลติเพล็กซ์” ซึ่งเป็นโรงภาพยนตร์หลายๆโรงแต่มีขนาดเล็ก ตั้งอยู่ในศูนย์การค้า ซึ่งมาจากการลงทุนของกลุ่มธุรกิจที่เคยดำเนินการโรงแบบสแตนด์อะโลนทั่วกรุงเทพฯ จนได้รับความนิยมต่อเนื่องมาถึงปัจจุบัน

แต่กระนั้นก็ตามเมื่อเผชิญกับปัญหาการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ธุรกิจโรงภาพยนตร์ก็ได้รับผลกระทบอย่างหนักกับการปิดให้บริการเพื่อป้องกันการแพร่ระบาด แม้จะเปิดมาให้บริการครบหนึ่งเดือนเต็ม แต่ต้องเฝ้าระวังกับมาตรการที่เข้มงวด การรักษาความสะอาด การรักษาระยะห่าง ให้ผู้ชมเข้าโรงได้เพียง 25%

ขณะเดียวกันยังได้นำระบบ “ไดรฟ์-อิน” มาชิมลางให้ผู้บริโภคได้สัมผัสกันในยุคชีวิตวิถีใหม่ โดย “ค่ายเอสเอฟ” จับมือกับพันธมิตรจัด “CAT Drive-in Cinema” โรงภาพยนตร์ “ไดรฟ์-อิน” ระบบดิจิทัล ชมภาพยนตร์ภายในรถยนต์กับภาพยนตร์เรื่อง “Trolls World Tour” จนถึง 5 ก.ค.นี้ ที่คริสตัล ดีไซน์ เซ็นเตอร์ เลียบทางด่วนเอกมัย-รามอินทรา

สำหรับ “เมเจอร์ ซีนีเพล็กซ์” ร่วมกับพันธมิตร จัดงาน Major Cineplex Drive-in Theater กับบรรยากาศการขับรถยนต์ชมภาพยนตร์ แบบย้อนยุคที่ลานจอดรถลอยฟ้า ศูนย์การเซ็นทรัล อีสต์วิลล์ จนถึงวันที่ 5 ก.ค.นี้ เช่นเดียวกัน

นับเป็นการปรับตัว ในยุคโควิดกันอีกครั้ง.

วานิชหนุ่ม
wanich@thairath.co.th 


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ