"สมคิด" สั่ง "คลัง" หามาตรการกระตุ้นท่องเที่ยวชุมชน ดึงคนรวยออกมาใช้จ่าย หวังส่งเสริมการจ้างงานในชุมชม พร้อมสั่ง ธปท. หากลไกช่วยผู้ประกอบการท่องเที่ยว-สายการบินเข้าถึงแหล่งเงินทุน
วันที่ 2 ก.ค. 2563 นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี กล่าวหลังเป็นประธานการประชุมหารือมาตรการเศรษฐกิจร่วมกับผู้บริหารกระทรวงการคลัง ว่า ได้สั่งให้สำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) และ กรมสรรพากร ไปคิดมาตรการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวภายในประเทศ เพิ่มเติมจากที่การท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ได้ออกมาตรการกระตุ้นการท่องเที่ยวในประเทศไปแล้วที่ออกมาก่อนหน้านี้แล้ว โดยจะต้องสรุปมาตรการให้เสร็จสิ้นภายในกลางเดือน ก.ค.นี้
สำหรับมาตรการที่ออกมา จะต้องเน้นการกระตุ้นการบริโภคและการท่องเที่ยวในชุมชน เพื่อกระตุ้นให้เกิดการจับจ่ายใช้สอย โดยเฉพาะคนระดับบน หรือ คนรวย ที่จะต้องดึงคนเหล่านี้ออกมาใช้จ่ายมากขึ้น เพราะคนกลุ่มนี้มีกำลังซื้อสูง ทั้งนี้ การกระตุ้นท่องเที่ยวในชุมชนยังช่วยลดปัญหาการว่างงานในชุมชนอีกด้วย เพราะจากสถานการณ์โควิด-19 แพร่ระบาด โรงงานปิดตัวหลายแห่ง จึงทำให้มีแรงงานจำนวนมากย้ายกลับถิ่นฐานของตนเอง
ขณะที่ เรื่องสินเชื่อดอกเบี้ยต่ำ (ซอฟต์โลน) จำนวน 500,000 ล้านบาท ที่ปัจจุบันผู้ประกอบต่างๆ ไม่สามารถเข้าถึงสินเชื่อส่วนนี้ได้นั้น ได้ให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) และกระทรวงการคลัง ร่วมกันหากลไกหรือผ่อนคลายเงื่อนไขอย่างไรได้บ้าง เพื่อให้กลุ่มผู้ประกอบการที่มีขนาดเกิน 500 ล้านบาท ซึ่งไม่สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนของ ธปท.ได้ และยังขาดสภาพคล่องอยู่ เช่น ธุรกิจโรงแรม, ท่องเที่ยว, สายการบิน เป็นต้น สามารถเข้าถึงซอฟต์โลนของ ธปท.ได้ ภายในกลางเดือน ก.ค.นี้
ส่วนเรื่องที่เอกชน ขอให้สถาบันการเงินขยายเวลาพักชำระหนี้ออกไป 2 ปี จากปัจจุบันผ่อนปรนให้เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งจะสิ้นสุดลงในเดือน ก.ย.นี้ ได้มอบให้กระทรวงการคลัง และ ธปท.หาแนวทางอยู่ว่าจะทำได้หรือไม่ เพื่อแก้ไขปัญหาตั้งแต่ต้นทาง โดยไม่ต้องรอให้ธุรกิจปิดกิจการไปก่อนค่อยแก้ไขปัญหา
ทางด้าน นายอุตตม สาวนายน รมว.คลัง เปิดเผยว่า กระทรวงการคลังกำลังพิจารณาให้บรรษัทค้ำประกันสินเชื่ออุตสาหกรรมขนาดย่อม (บสย.) และ สศค.ออกโครงการค้ำประกันเงินกู้แก่ผู้ประกอบการเอสเอ็มอี หรือ PGS9 เพื่อสนับสนุนการปล่อยสินเชื่อซอฟท์โลนของ ธปท. ให้มากขึ้น คาดว่าไม่เกิน 2 สัปดาห์จะได้ข้อสรุปที่ชัดเจนถึงวงเงินที่จะใช้ในการค้ำประกัน
ส่วนเรื่องการจ้างงานนั้น จะเน้นการจ้างงานให้เกิดขึ้นในชุมชนมากที่สุด โดยจะให้สถาบันการเงินเฉพาะกิจของรัฐ เข้าไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการ รวมถึงจ้างชาวบ้านลงพื้นที่เพื่อเก็บฐานข้อมูลเพื่อดำเนินในโครงการต่างๆ ของภาครัฐ เบื้องต้นคาดว่าจะทำให้เกิดการจ้างงานใหม่ 400,000 คน
สำหรับมาตรการกระตุ้นการบริโภคและท่องเที่ยวนั้นที่จะออกมานั้น จะให้สิทธิ์ลดหย่อนภาษีหรือไม่ กำลังให้สรรพากรพิจารณาอยู่ เพราะต้องกระตุ้นกลุ่มคนมีเงินให้ออกมาใช้จ่ายให้ได้ ส่วนที่เอกชนขอยืดหนี้ออกไป 2 ปีนั้น ตอนนี้ยังบอกไม่ได้ว่าจะยืดหนี้ออกไปหรือไม่ เพียงแต่ขอให้ ธปท.พิจารณาแนวทางช่วยเหลือเอกชนเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม เรื่องกระตุ้นผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) จะได้เท่าไรนั้น เลิกพูดได้แล้ว เพราะคาดการณ์ยาก มันมีปัจจัยที่นอกเหนือการควบคุม สิ่งที่รัฐพยายามทำได้คือ การจ้างงาน การสร้างอาชีพใหม่ หลังวิกฤติโควิด-19.