ออกได้ก็เข้าได้
ฟื้นฟูท่องเที่ยว
“อียู” หรือสหภาพยุโรปประกาศอย่างเป็นทางการให้ไทยเป็น 1 ใน 14 ประเทศที่สามารถเดินทางเข้าประเทศได้ตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63 เป็นต้นไป
แต่ปรากฏว่าไม่มีชื่อจีนอยู่ในรายได้ดังกล่าว โดยอ้างเงื่อนไขอียูพร้อมที่จะใส่ลงในบัญชีรายชื่อ หากรัฐบาลจีนอนุญาตให้นักเดินทางจากอียูเดินทางเข้าประเทศได้
การรับรองกำหนดเกณฑ์ดังกล่าวประเทศใดนั้นถือว่าเป็นประเทศที่มีความปลอดภัยอย่างเป็นทางการ
เท่ากับเป็นหมุดหมายหรือการันตีได้อย่างหนึ่งว่าการป้องกันและแก้ไขปัญหาโควิด-19 ของไทยนั้นได้รับการยอมรับถึงผลสำเร็จในระดับต้นๆของโลก
ยุโรปนั้นมีรายได้สำคัญอันไม่ต่างไปจากไทยคือ การท่องเที่ยวและที่มาคู่กันคือช็อปปิ้ง เพราะสภาพภูมิประเทศสวยงาม มีศิลปวัฒนธรรม อาหารการกิน เดินทางได้สะดวกสบาย เนื่องจากหลายประเทศมีพื้นที่ติดต่อกัน
แม้การแพร่ระบาดของไวรัสในระยะเริ่มต้นจะรุนแรงหนักพอสมควร แต่เมื่อสามารถควบคุมได้ก็ต้องเร่งฟื้นฟูเศรษฐกิจเป็นลำดับแรก
การท่องเที่ยวจึงเป็นอะไรที่มีความพร้อมอยู่แล้ว หารายได้ง่ายและเร็วที่สุดจึงมุ่งเน้นในเรื่องนี้เป็นหลัก
แต่นั่นหมายถึงต้องอยู่บนมาตรการควบคุมไม่ต่างกัน
ไทยนั้นเคยมีการคาดการณ์กันว่าจะเปิดรับนักท่องเที่ยวได้ราวเดือน ก.ย.-ต.ค.63 แต่ล่าสุดได้มีการเปิดเผยออกมาแล้วว่าน่าจะเร็วขึ้นกว่าเดิมคือเดือน ส.ค.63
เริ่มนำร่อง 3 จังหวัด 5 จุดหมายที่มีความพร้อมคือ ภูเก็ต เกาะพีพี ที่กระบี่ สมุย พะงัน และเกาะเต่า ที่สุราษฎร์ธานี ขณะนี้อยู่ระหว่างหารือกับกระทรวงสาธารณสุขเพื่อกำหนดหลักเกณฑ์ให้ชัดเจนและจัดสรรโควตาจำนวนนักท่องเที่ยวในแต่ละพื้นที่
คำนวณจากขีดความสามารถในด้านการตรวจหาเชื้อโควิด-19 และศักยภาพด้านสาธารณสุขเป็นหลัก
แต่แนวโน้มนักท่องเที่ยวต่างประเทศในปีนี้นั้นจะไม่เกิน 10 ล้านคน เนื่องจากไทยมียอดสะสมจากเดือน ม.ค.-มี.ค.ปี 63 อยู่ที่ 6.7 ล้านคน และในช่วง 3-4 เดือน ที่จะเกิดการรับนักท่องเที่ยวได้ในปีนี้คงเป็นเรื่องยากที่จะมีนักท่องเที่ยวเข้ามาถึง 1.1 ล้านคนต่อเดือน
เนื่องจากมีข้อจำกัดในด้านโควตาและพื้นที่รองรับ
เช่นเดียวกันสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) ได้ประกาศอนุญาตให้เปิดเส้นทางการบินเข้าประเทศเริ่มตั้งแต่วันที่ 1 ก.ค.63
แต่จะต้องเป็นบุคคลที่กำหนดเอาไว้ 11 ประเภทก่อนในเบื้องต้น
การเปิดรับนักท่องเที่ยวภายใต้มาตรการผ่อนปรนนั้นถือว่าเป็นเรื่องสำคัญที่จะทำให้การฟื้นฟูประเทศด้านเศรษฐกิจมีทิศทางที่ชัดเจนและเป็นรูปธรรม
เพียงแต่จะต้องมีเป้าหมายและการกำหนดประเภทนักท่องเที่ยวว่าจะเป็นไปในลักษณะไหนซึ่งก็เป็นเรื่องสำคัญ
ที่พูดกันว่าท่องเที่ยวอย่างมีคุณภาพและความยั่งยืน
เพราะที่ผ่านมาแม้จะเป็นกิจการที่ทำรายได้อย่างมหาศาล แต่ก็เป็นเรื่องของปริมาณมากกว่าคุณภาพและเกิดปัญหาตามมาตลอดเวลา
ดังนั้น เมื่อเริ่มต้นใหม่จึงเป็นเรื่องที่จะต้องคิดและทบทวนเพื่อให้เกิดความคุ้มค่าได้ทั้งเงินและกล่อง
ที่สำคัญก็คือรัฐจะต้องได้เม็ดเงินอย่างเต็มเม็ดเต็มหน่วยไม่ตกหล่นกลางทาง.
“สายล่อฟ้า”