ทัวร์!มะกันทรุดซํ้า ทราเวลบับเบิลกู้ชีพ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ทัวร์!มะกันทรุดซํ้า ทราเวลบับเบิลกู้ชีพ

Date Time: 2 ก.ค. 2563 05:01 น.

Summary

  • “ท่องเที่ยวไทย” มาถึงจุดนี้ได้ไง? ...ฉายภาพไปที่ “สหรัฐฯ” คู่ซี้ไทยแลนด์ สวรรค์แชร์นักท่องเที่ยวกันมาร่วม 60 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2503

Latest

บอร์ดอีวีไฟเขียวลดภาษีสรรพสามิต ถึงคิวรถยนต์ไฮบริดบูม

“ท่องเที่ยวไทย” มาถึงจุดนี้ได้ไง? ...ฉายภาพไปที่ “สหรัฐฯ” คู่ซี้ไทยแลนด์ สวรรค์แชร์นักท่องเที่ยวกันมาร่วม 60 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 ที่เพิ่งก่อตั้ง อสท.ได้ทัวริสต์นานาชาติมาเที่ยวเป็นน้ำจิ้ม 81,340 คน...ส่วนใหญ่คือ “อเมริกัน”

ย้อนอดีตในวันวานด้วยขณะนั้นการเปิดตลาดช้อนคนมาแห่งแรกก็อเมริกานี่แหละ...โดยขนคณะนาฏศิลป์ไปเผยแพร่วัฒนธรรมไทย ณ ลานร็อกกีเฟลเลอร์ พลาซา กลางมหานครนิวยอร์ก

แล้วก็มีไลฟ์สดผ่านโทรทัศน์สร้างการรับรู้ สามารถเพิ่มตัวเลขได้ เวลาต่อมาจึงมีสำนักงานท่องเที่ยวไทยต่างประเทศเป็นประเดิมที่เมืองนี้เมื่อปี 2508 และ LA ปี 2512 ต่อมาไปเปิดที่ชิคาโก

แต่ก็ต้องปิดตัวลงไป...เนื่องจากถูกพิษต้มยำกุ้งเล่นงานในปี 2540

ช่วงนั้น...แม้สถานการณ์โลกจะผันผวนซ้ำเหมือนกรรมซัด แต่ลูกค้าตลาดนี้ก็รักเที่ยวไทยทุกปี เช่น ปี 2549 มีมา 6.94 แสนคน ปี 2554 เพิ่มเป็น 7.68 แสนคน พอปี 2560 ตะโกนล้านแล้วจ้า เคาะตัวเลขอยู่ที่ 1.05 ล้านคน และ 1.12 ล้านคน ปี 2561 กับ 1.6 ล้านคน ปี 2562 ทำรายได้ เข้าประเทศ 1.3 แสนล้านบาท

อดีตนักท่องเที่ยวกลุ่มนี้เคยใช้วันพักเฉลี่ยในไทย 9-10 วัน ปัจจุบันขยายเป็น 14-18 วัน เคยใช้เงินต่อวันต่อคน 4,451 บาท ก็ยินดีเทจ่ายเพิ่มมากขึ้นเป็น 5,204 บาท

นี่คือสิ่งบ่งชี้ศักยภาพตลาดอเมริกาที่น่าคบค้า เพื่อขับเคลื่อนให้เกิด การขยายตัวสู่เป้าหมายการหาเงินต่างประเทศ แก้ปัญหาเศรษฐกิจไทย ซึ่งรูดหล่นมาตลอด หากเทียบตลาดจีนที่ไทยเป็นเหาฉลามมากว่า 2 ทศวรรษ อาจด้อยเรื่องจำนวนที่อาเฮียนำโด่งถึง 11 ล้านคน เพราะเป็น Mass Market แบบสินค้าโบ๊เบ๊เหมาโหล

วันนี้...เรากำลังปรับมิติสู่ “New Normal”...ชีวิตวิถีใหม่ แต่ก็เห็นเซลท่องเที่ยวรัฐไม่หยุด ฟูมฟายหาอาเฮีย ให้รีบกลับมาเร็วๆ...โดยไม่รู้ว่า เตรียมรับมือหนังจีนม้วนเก่าไว้พร้อมรึยัง?

อย่างไรก็ตาม...ขณะวิกฤติโควิด-19 ระบาดถึงไทย หากโฟกัสตลาด อเมริกา กระทรวงการท่องเที่ยวฯเผยเดือนมกราคมมีมาเที่ยว 113,847 คน ลดลง 2.62% เมื่อเทียบกับช่วงเดียวกันปีก่อนหน้า แต่พอถูกโควิดกระหน่ำหนัก เดือนกุมภาพันธ์ลดเหลือ 72,484 คน ติดลบ 24.55%

เดือนมีนาคม อุต๊ะ! เหลือ 24,151 คน หายไป 77.97% ขณะที่เดือนเมษายน ยกการ์ดตั้งมั่นยังไงก็ไม่วายถูกน็อก เมื่อสำนักงานการบินพลเรือนฯ ประกาศปิดสนามบินห้ามต่างชาติแหยมเข้ามา

เท่ากับปิดจ๊อบสถิตินักท่องเที่ยวต่างชาติ และอเมริกันที่ “โบ๋เบ๋” เป็นศูนย์ในทันที

นี่เป็นครั้งแรก...ที่ท่องเที่ยวไทยถึงทางตันให้หันมาโปรยเงินอีก 22,400 ล้านบาท พึ่งตลาดไทยด้วยโครงการ “แพ็กเกจกำลังใจ-เที่ยวกัน-ปันสุข” วิธีเดิมๆแจกเงินจ้างเที่ยว โดยไม่มีอะไรแปลกใหม่ตื่นเต้น?

ส่วนอเมริกาตลาดน้ำซึมบ่อทรายของไทย ผ่านมาถึงวันนี้ก็คงไม่ต้องเอิ้นถึง...เนื่องจากถิ่นนี้มีประชากร 329 ล้านคน เป็นผู้ติดเชื้อกว่า 2 ล้านคน ตายอีกนับแสน...ท่ามกลางขณะที่ไทยจะขายท่องเที่ยวแบบ “เข็นครกขึ้นภูเขา”...ความวัวไม่ทันหายความควายเข้ามาแทรก...เมื่อจอร์จ ฟลอยด์ อเมริกันผิวสี ถูกตำรวจเมืองมินนีแอโปลิส จับนอนราบกับพื้นถนนแล้วใช้เข่ากดคอจนฟลอยด์ต้องร้องวอน “I can’t breathe”...ก่อนสิ้นใจ

ประดุจดั่ง...เป็นน้ำผึ้งหยดเดียวจลาจลเผาบ้านเผาเมืองลามไปรัฐต่างๆ...และที่แอตแลนตา รัฐจอร์เจีย ตำรวจมะกันยิงใส่แผ่นหลังวัยรุ่นผิวสีผู้ต้องสงสัยเสพยาไปเสียชีวิตที่โรงพยาบาลอีกราย เรื่องราวเหล่านี้เลยลุกลามต่อเนื่อง...ถึงขั้นมวลชนเรียกร้องให้เร่งปฏิรูปตำรวจล้างปัญหา

ในยามนี้แน่นอนว่าแผ่นดินอเมริกาจึงร้อน...ไหนจะถูกโควิด-19 รุมเร้า แล้วยังเกิดศึกผิวสี เศรษฐกิจตกต่ำ จีดีพีติดลบ 5% รัฐต้องเยียวยาเหยื่อโควิด 80 ล้าน ที่เสียภาษีช่วงสองปีล่าสุดคนละ 1,200$ ลูกอายุไม่เกิน 17 ปี อีกคนละ 500$ แล้วยังปิดสนามบิน...ปัจจัยสนับสนุนการเดินทางท่องเที่ยวไปถึงต้นเดือนกันยายน โดยไม่รู้ตอนนั้น...สถานการณ์เลวร้ายคลี่คลายรึยัง?

ประเด็นทั้งหมดเหล่านี้ นักวิเคราะห์ตลาดท่องเที่ยวไทยในตลาดอเมริกา มองว่า...ปีนี้คงยากที่ตลาดภูมิภาคนี้จะกลับมาสดใส เรายังหวังไม่ได้...ปีหน้าหรือปีไหน เขาถึงจะมั่นใจกลับมาเที่ยว เพราะอเมริกายังไม่มี วัคซีนป้องกันโควิด ประการสำคัญหน่วยงานท่องเที่ยวไทยในอเมริกาต้องแสดงบทบาทให้เขารู้ว่า...

“รัฐบาลไทยมีมาตรการควบคุมป้องกันที่ดี ชาวไทยทั่วประเทศให้ความร่วมมือ จึงมีความมั่นคงปลอดภัยไร้การระบาดตามแหล่งท่องเที่ยวและสถานบริการทุกแห่งทั่วประเทศ”

ประเด็นสำคัญ...อยู่ที่ “เศรษฐกิจครัวเรือนอเมริกัน” ที่ทรุดหนัก ให้ต้องออมเงินยังชีพก่อนท่องเที่ยว หรือเที่ยวกันเองในประเทศ จากนั้นเที่ยวประเทศใกล้เคียง เช่น แคนาดา เม็กซิโก กับละตินอเมริกา อย่างอาร์เจนตินา บราซิล ชิลี โคลอมเบีย “แล้วถึงค่อยบินไกลมาไทย...เมื่อเศรษฐกิจครัวเรือนมั่นคงแข็งแรง”

ยามนี้...เทรนด์ท่องเที่ยวแนวใหม่ “Travel Bubble” กำลังถูกพูดถึง เมื่อนิวซีแลนด์จับคู่ออสเตรเลีย สร้างบรรยากาศท่องเที่ยวหลังศึกโควิด ภายใต้กติกาสากลรักษาสังคมปลอดเชื้อ

และเอสโตเนียเริ่มทำกับลัตเวีย-ลิทัวเนีย นอร์เวย์คู่เดนมาร์ก เยอรมนีคู่สวิตเซอร์แลนด์-ออสเตรีย สิงคโปร์คู่จีนในบางมณฑล ส่วนไทยที่กำลังมีเสียง “เห็นด้วย” และ “ไม่เห็นด้วย” เซ็งแซ่ แต่ก็มีแผนจับคู่จีนรวมฮ่องกง-มาเก๊า ตามด้วยญี่ปุ่น เกาหลี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ ไม่ลืม สปป.ลาว-กัมพูชา

ยกเว้น...อเมริกาที่ยังไม่มีวี่แววใครจะเสนอตัวจับคู่ด้วย...แม้แต่เพื่อนซี้เก่าอย่างไทย

“Travel Bubble” คือข้อตกลงระหว่างกลุ่มประเทศที่สถานการณ์การแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 ดีขึ้น จนสามารถอนุญาตให้เดินทางข้ามประเทศได้ โดยไม่ต้องกักตัว 14 วัน หรือกักตัวแค่ระยะสั้นๆ แต่ หัวใจสำคัญของนโยบายนี้อยู่ที่มาตรการตรวจยืนยันว่า “ผู้เดินทางมีสุขภาพแข็งแรงไม่มีการติดเชื้อ”

เปิด 2 เงื่อนไขสำหรับการเดินทางเข้ามาภายในประเทศไทย นั่นก็คือ หนึ่ง...Fit to Fly คือ ผู้เดินทางจะต้องสุขภาพแข็งแรงดี ไม่ปรากฏอาการผิดปกติใดๆ สอง...Immune Passport คือ การตรวจยืนยันว่าไม่มีการติดเชื้อ โดยจะต้องมีการตรวจติดตามเป็นระยะๆ ด้วยวิธีการแยงจมูกหาเชื้อโดยตรง (PCR) หรือวิธีการเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกัน เพื่อใช้เป็นเสมือน “พาสปอร์ตด้านสุขภาพ” สำหรับผู้เดินทาง

รายละเอียด...ตรวจครั้งที่ 1 ในช่วง 5 วัน ก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศ...ตรวจครั้งที่ 2 ในช่วง 1 วัน ก่อนเดินทางเข้ามาในประเทศ เมื่อเดินทางเข้ามาภายในประเทศแล้ว จำเป็นจะต้องได้รับการกักกันเป็นระยะเวลาสั้นๆ เพื่อรอดูผลตรวจซ้ำ และตรวจครั้งที่ 3 ในช่วง 4-5 วัน หลัง จากเดินทางเข้ามาในประเทศแล้ว

สำหรับวิธีการเจาะเลือดตรวจภูมิคุ้มกัน ถ้าได้ผลเป็น “ท่องเที่ยวไทย” มาถึงจุดนี้ได้ไง? ...ฉายภาพไปที่ “สหรัฐฯ” คู่ซี้ไทยแลนด์ สวรรค์แชร์นักท่องเที่ยวกันมาร่วม 60 ปี นับตั้งแต่ปี พ.ศ.2503 “ผลลบ” ก็สามารถเข้าสู่ประเทศได้อย่างปลอดภัย อย่างไรก็ตาม แม้ว่าผลการตรวจเลือดจะเป็น “ผลบวก” ผู้เดินทางอาจจะต้องได้รับการกักตัวต่อ 14 วัน หรือตรวจซ้ำด้วยวิธีการแยงจมูก ซึ่งถ้า “ไม่พบเชื้อ” แล้ว ก็จะสามารถเข้าสู่ประเทศได้เช่นกัน

ประเด็นสำคัญสุดท้ายที่ ศ.นพ.ธีระวัฒน์ เหมะจุฑา ศูนย์วิทยาศาสตร์สุขภาพโรคอุบัติใหม่ คณะแพทยศาสตร์จุฬาฯ สภากาชาดไทย ฝาก ย้ำเตือนทิ้งท้าย...ต้องไม่ลืม 4 ข้อ การใช้ชีวิตแบบ New Normal นั่นก็คือ ระบบติดตามตัว...การสวมหน้ากากอนามัย...การหมั่นล้างมือให้สะอาด...การรักษาระยะห่าง

เหล่านี้ยังคงเป็น “หัวใจสำคัญ” ในทุกกิจกรรมทั้งระหว่างการ “เดินทาง” และการ “ใช้ชีวิต” ภายในประเทศ.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ