สิ้นสุดโควิดเจ็บแต่ไม่จบ เกณฑ์จ้างงานเข้มข้นขึ้น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

สิ้นสุดโควิดเจ็บแต่ไม่จบ เกณฑ์จ้างงานเข้มข้นขึ้น

Date Time: 6 พ.ค. 2563 09:33 น.

Summary

  • เจ็บแต่ไม่จบ สภาองค์การนายจ้างเผยสิ้นสุดโควิด ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม นายจ้างเลือกพนักงานเข้มข้นมากขึ้น แห่เปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์ และการจับจ่ายใช้สอยของคนทั่วโลกจะไม่คึกคักเหมือนเดิม

Latest

จากโครงการบ้านเพื่อคนไทย ทำไมการจะมี "บ้าน" สักหลังของคนไทย จึงอาจเป็นเรื่องแค่ "ฝัน"

เจ็บแต่ไม่จบ สภาองค์การนายจ้างเผยสิ้นสุดโควิด ทุกอย่างไม่เหมือนเดิม นายจ้างเลือกพนักงานเข้มข้นมากขึ้น แห่เปิดโครงการเออร์ลี่รีไทร์ และการจับจ่ายใช้สอยของคนทั่วโลกจะไม่คึกคักเหมือนเดิม

นายธนิต โสรัตน์ รองประธานสภาองค์การนายจ้างผู้ประกอบการค้าและอุตสาหกรรมไทย (อีคอนไทย) เปิดเผยว่า ภายหลังการแพร่ระบาดของไวรัสโควิด-19 จบลง มีแนวโน้มว่านายจ้างจะมีนโยบายปรับตัวที่สำคัญๆ 3 ด้าน ได้แก่

1.ลดต้นทุนให้สอดรับกับขนาดองค์กรที่เหมาะสม โดยหนึ่งในต้นทุนที่จะปรับคือแรงงาน ที่หลังจบโควิด-19 แล้วจะกลับมาไม่เท่าเดิม เพราะนายจ้างจะเลือกคนกลับมาทำงานใหม่เข้มข้นมากขึ้น และจะใช้นโยบายสมัครใจลาออก (เออร์ลี่รีไทร์) สูงขึ้น รวมทั้งเน้นใช้เทคโนโลยีมาทำงานแทนคน ทั้งระบบหุ่นยนต์ ระบบออนไลน์ ฯลฯ

2.นายจ้างจะฟื้นตัวได้ยากขึ้น โดยเฉพาะธุรกิจขนาดกลางและเล็ก (เอสเอ็มอี) เพราะหลังโควิด-19 จบลงสถาบันการเงินต่างๆจะเข้มงวดมากในการปล่อยสินเชื่อ ธุรกิจรายใหญ่เคยมีประสบการณ์จากวิกฤติต้มยำกุ้งมาบ้างแล้วอาจเตรียมตัวได้ดีกว่า แต่รายที่ไม่สามารถรับมือได้ก็อาจต้องปิดตัวลง

3.ตลาดจำหน่ายสินค้าทุกชนิด ทั้งบริโภคอุปโภคจะไม่กลับไปฟื้นตัวหรือคึกคักเหมือนเดิม เพราะการบริโภคของประชาชนจะชะลอตัวต่อเนื่อง เพราะประชาชนจะใช้จ่ายลดลง ประหยัดมากขึ้น ซึ่งสำหรับ ประเทศไทย แม้โควิด-19 จะคลี่คลายลง แต่จะยังมีปัญหาภัยแล้งมาซ้ำเติมต่อไป แม้รัฐบาลจะมีมาตรการอัดฉีดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจซึ่งจะลดผลกระทบได้บ้าง แต่จากนี้ไปเชื่อว่าประชาชนจะใช้จ่ายประหยัดขึ้น เพื่อความไม่ประมาท

ดังนั้น ภาคธุรกิจจะต้องปรับตัวรองรับกับการบริโภคที่ไม่เพียงแต่เฉพาะในประเทศที่ลดลง แต่ยังรวมถึงการส่งออก ที่คาดว่าจะเป็นเวลา 1-2 ปีข้างหน้า จึงจะกลับมาสู่ภาวะปกติ

“หากโควิด-19 จบลง สำหรับประเทศไทยอาจหมายถึงการเปิดให้กิจการดำเนินการได้ตามปกติ แต่สำหรับภาพรวมของโลกแล้ว คงต้องรอจนกว่าจะมีวัคซีนมาป้องกันโรคนี้ได้และอาจต้องใช้เวลา 1-2 ปี ซึ่งระหว่างนี้ทั้งภาคนายจ้างและลูกจ้างต่างต้องปรับตัวกันทั้งหมด แต่บทเรียนโควิด-19 ได้สอนลูกจ้างมากกว่า เพราะนายจ้างเคยผ่านช่วงวิกฤติมาบ้างพอสมควร จากนี้เชื่อว่าลูกจ้างจะใช้จ่ายระวังขึ้น ทำให้การบริโภคในประเทศไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป”

ทั้งนี้ จากการที่ภาครัฐได้คลายมาตรการล็อกดาวน์ให้กลับมาดำเนินกิจการได้ใน 6 กิจกรรมภายใต้เงื่อนไขที่กำหนด โดยเฉพาะร้านอาหาร ร้านตัดผม ฯลฯ แต่กิจกรรมที่กลับมาเหล่านี้ จะทำให้แรงงานกลับเข้ามาสู่ระบบได้ไม่เกิน 1 ล้านคนโดยเฉพาะร้านอาหาร ที่ต้องจัดที่นั่งเว้นระยะห่างให้ผู้คนเข้ามาบริโภคในร้าน ทำให้รองรับคนได้จำนวนไม่มากเหมือนเดิม แรงงานที่เป็นพนักงานเสิร์ฟคงกลับมาทำงานได้เพียงบางส่วน

“ช่วงครึ่งปีหลัง รัฐบาลต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด เพราะอาจได้รับผลกระทบมากขึ้น โดยเฉพาะที่ต้องพึ่งตลาดส่งออก เนื่องจากทุกๆประเทศทั่วโลกต่างบอบช้ำจากโควิด-19 แม้ว่าการแพร่ระบาดจะคลี่คลายแต่ก็ไม่ได้หมายความว่าประเทศคู่ค้าของไทยจะมีกำลังซื้อที่ฟื้นตัว”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ