2 เศรษฐีตอบจดหมาย “บิ๊กตู่” เจ้าสัวซีพี เสนอพัฒนาแหล่งน้ำแก้มลิง 4.0

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

2 เศรษฐีตอบจดหมาย “บิ๊กตู่” เจ้าสัวซีพี เสนอพัฒนาแหล่งน้ำแก้มลิง 4.0

Date Time: 2 พ.ค. 2563 05:45 น.

Summary

  • เปิดจดหมายตอบนายกฯ “เจ้าสัวธนินท์” เสนอโครงการปลูกน้ำ-เกษตรผสมผสาน-วิจัยสู้โควิด-เรียนทางไกล

Latest

วัดเกม “ทุเรียน” 4สัญชาติ ชิงบัลลังก์ตลาดจีน เวียดนาม กดส่วนแบ่งไทยลดลง ฟิลิปปินส์-มาเลเซีย ไล่บี้

เปิดจดหมายตอบนายกฯ “เจ้าสัวธนินท์” เสนอโครงการปลูกน้ำ-เกษตรผสมผสาน-วิจัยสู้โควิด-เรียนทางไกลและแพทย์ทางไกล และศูนย์กลางธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ “ประยุทธ์” เดินหน้าช่วยเหลือเกษตรกรจังหวัดลำพูนให้มีรายได้ที่แน่นอน

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า ขณะนี้มหาเศรษฐี 20 อันดับของไทยได้ทยอยส่งจดหมายตอบกลับ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและ รมว.กลาโหม หลังจากที่นายกฯได้ส่งจดหมายเปิดผนึกถึง 20 มหาเศรษฐีไทย เมื่อวันที่ 20 เม.ย.2563 ที่ผ่านมา โดยก่อนหน้านี้ นายแพทย์ปราเสริฐ ปราสาททองโอสถ 1 ใน 20 มหาเศรษฐี ได้ส่งหนังสือถึงนายกฯเป็นที่เรียบร้อยแล้ว

ล่าสุด “เจ้าสัวธนินท์ เจียรวนนท์” มหาเศรษฐีอันดับหนึ่งของไทย ผู้ก่อตั้งเครือเจริญโภคภัณฑ์ (ซีพี) หรือเจ้าสัวซีพี ได้ส่งหนังสือตอบรับนายกรัฐมนตรี โดยระบุว่า “ผมถือเป็นหน้าที่ที่จะต้องทำเพื่อประเทศ โดยเฉพาะในยามวิกฤติ เครือซีพีพร้อมสนับสนุนรัฐบาล และเป็นกำลังใจให้นายกฯและรัฐบาลนำประเทศชาติ ก้าวผ่านสถานการณ์โรคระบาดโควิด-19 ที่ถือเป็นวิกฤตการณ์ร้ายแรงของประเทศและของโลกในครั้งนี้ และขอยกย่องความเสียสละของบุคลากรทางการแพทย์ ที่ทำให้สถานการณ์การแพร่ระบาดไวรัสโควิด-19 ในประเทศมีแนวโน้มดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง และทุกครั้งที่ประเทศไทยอยู่ในภาวะวิกฤติจะเห็นความสามัคคี ความร่วมแรงร่วมใจของคนไทยทุกภาคส่วนให้ความช่วยเหลือซึ่งกันและกัน เช่นเดียวกับวิกฤติครั้งนี้ โดยในส่วนของซีพี ได้ดำเนินการไปแล้วรวมมูลค่ากว่า 700 ล้านบาท อาทิ โรงงานหน้ากากอนามัยฟรี โครงการมอบอาหารต้านภัยโควิด-19 ให้บุคลากรทางการแพทย์ แจกอุปกรณ์สื่อสารให้โรงพยาบาล ให้ดาต้า หุ่นยนต์ ซิมอินเตอร์เน็ต เป็นต้น

ส่วนโครงการที่เสนอและต้องทำอย่างเร่งด่วนและระยะต่อไป โดยโครงการที่เครือซีพีวางแผนดำเนินการเพิ่มเติม อาทิ โครงการปลูกน้ำ พัฒนาแหล่งระบบชลประทานเป็นแก้มลิง 4.0 โครงการเกษตรผสมผสาน ทำโครงการต้นแบบ 4 ประสานเพิ่มรายได้เกษตรกร โครงการแพลตฟอร์มออนไลน์ เรียนทางไกลและแพทย์ทางไกล โครงการวิจัยสู้ภัยโควิด-19 ทั้งวิจัย Test kit, วัคซีน และยารักษาโรค

เปิดข้อเสนอแนะมุมมอง “ซีพี”

ส่วนข้อเสนอแนะต่อรัฐบาลในมุมของซีพี ดังนี้ 1. มาตรการด้านดิจิทัลยุควิถีชีวิตใหม่ (New Normal) 2.มาตรการดึงดูดคนเก่ง ผู้เชี่ยวชาญมาอยู่เมืองไทย (Talent Attraction) 3.มาตรการช่วยเหลือด้านท่องเที่ยวสู่การเป็นศูนย์กลางการแพทย์และสุขภาพ 4.มาตรการช่วยเหลือเกษตรกรให้มีรายได้สูงขึ้น 5.มาตรการปฏิรูประบบชลประทานให้ครอบคลุมพื้นที่เกษตร 100%

เจ้าสัวธนินท์ยังระบุอีกว่า ระยะต่อไปสิ่งที่ประเทศต้องดำเนินการอย่างเร่งด่วนคือ การเตรียมการเข้าสู่ช่วงฟื้นฟูอย่างมีประสิทธิภาพ ซึ่งต้องรักษาความเชื่อมั่น และประคองระบบสังคม วิถีชีวิต ให้ดำรงอยู่ได้ ทั้งธุรกิจขนาดเล็ก กลาง ใหญ่ ต้องไม่ล้มหายตายจาก รักษาการจ้างงานพี่น้องประชาชน มีรายได้เลี้ยงชีพ อาชีพอิสระ อาชีพรับจ้าง เกษตรกร หรือแม้กระทั่งคนว่างงาน มีรายได้เพียงพอในการยังชีพ มีความปลอดภัยในชีวิตและทรัพย์สิน

“ในยามที่ฟ้ามืดต้องเตรียมตัวให้พร้อม เมื่อยามฟ้าสว่างนั่นคือ การเตรียมแผนฟื้นฟูประเทศไทยให้กลับสู่ภาวะปกติโดยเร็ว และหากมองวิกฤตินี้เป็นโอกาส ประเทศไทยต้องกล้าตั้งเป้าหมายให้ประเทศเป็นศูนย์กลางเศรษฐกิจโลก ทั้งการค้า การลงทุน การเงิน และเทคโนโลยี ซึ่งไทยมีความพร้อมอยู่แล้ว”

ขณะที่ไทยมีศักยภาพในการพัฒนาการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพและการแพทย์ โดยเฉพาะผู้ให้ความสนใจเดินทางมายังไทยเพื่อรักษาพยาบาล และดูแลสุขภาพที่ปลอดภัยตั้งแต่ต้นทางจนถึงปลายทาง โดยไทยมีโรงพยาบาลที่ได้รับมาตรฐาน JCI กว่า 69 โรงพยาบาล และเป็นอันดับ 1 ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เป็นที่ 2 รองจากจีนในเอเชีย และเป็นอันดับ 4 ของโลก ซึ่งในช่วงโควิด-19 ทำให้คนทุกมุมโลกใส่ใจสุขภาพและต้องการเดินทางไปอาศัยอยู่ในที่ปลอดภัย มีความพร้อมด้านสาธารณสุข ทำให้ธุรกิจ Medical Tourism หรือการท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ เป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโต หากเข้าสู่ขั้นตอนการฟื้นฟู แต่ละประเทศเริ่มเปิดให้เดินทางได้ จากวิกฤติด้านการท่องเที่ยว อาจกลายเป็นโอกาส โดยจะเป็นการตรวจสุขภาพตั้งแต่ต้นทางว่าผู้ที่ต้องการเดินทางไม่ติดเชื้อโควิด-19 และมีการบริหารจัดการตลอดเส้นทางการเดินทาง เพื่อให้มั่นใจว่ามีความปลอดภัย

ศูนย์กลางธุรกิจท่องเที่ยวเชิงสุขภาพ

ทั้งนี้ ปัจจุบันมีต่างชาติที่เดินทางมารักษาตัวในโรงพยาบาลในไทย รวมถึงนักท่องเที่ยวต่างชาติที่เดินทางมาท่องเที่ยว พร้อมใช้บริการด้านสุขภาพ อาทิ ตรวจสุขภาพทั่วไป ทำฟัน ทำศัลยกรรมความงาม มีแนวโน้มเติบโตอย่างมาก และไทยมีชื่อเสียงด้านนี้อยู่แล้ว สำหรับประเทศไทยมีส่วนแบ่งตลาดในภูมิภาคเอเชียกว่า 38% เป็นอันดับที่ 1 ของภูมิภาค โดยมีจุดแข็งคือคุณภาพการรักษาและการดูแลผู้ป่วยอยู่ในระดับมาตรฐานสากล ดังนั้น จึงเป็นโอกาสหากรัฐบาลส่งเสริมให้ไทยเป็นศูนย์กลางด้านสุขภาพ Medical Hub พร้อมทั้งนำเสนอขั้นตอนดำเนินการ ผนึกกำลังกับประเทศต้นทาง บริษัทนำเที่ยว โรงแรมมาตรฐานสูง และโรงพยาบาลที่ได้รับการยอมรับ เปิดให้ซื้อแพ็กเกจเดินทางมาไทย แต่ต้องตรวจสุขภาพและเมื่อพบว่าไม่มีเชื้อก็จะทำประกันสุขภาพให้ผู้เดินทางทุกคน

จากนั้นเก็บตัวในโรงแรมต้นทาง 14 วัน สำหรับผู้ปลอดเชื้อทั้งหมด โดยมีบริการต่างๆครบวงจรในโรงแรมต้นทาง เพื่ออำนวยความสะดวกให้นักท่องเที่ยวก่อนการเดินทาง และก่อนการเดินทางมายังสนามบิน จะมีการตรวจเชื้ออีกครั้ง หากปลอดภัยก็เดินทางด้วยเครื่องบินเหมาลำที่มีการดูแลความปลอดภัยและมีมาตรฐาน เมื่อเดินทางมาถึงประเทศไทย จะมีการตรวจเชื้อซ้ำอีกครั้ง หากพบว่าปลอดเชื้อจะส่งตัวมาพักในโรงแรมระดับมาตรฐานที่ร่วมมือกับโรงพยาบาลชั้นนำ โดยแพ็กเกจสุขภาพ จะมีให้เลือกหลากหลาย โดยจำกัดพื้นที่ในโรงแรมอย่างน้อย 14 วัน

รวมถึงมีการบริการทางการแพทย์ กิจกรรมพักผ่อนในโรงแรมครบวงจร เมื่อครบกำหนด 14 วัน จะประสานบริษัทนำเที่ยวเพื่อท่องเที่ยวสถานที่ ต่างๆ หรือพักอาศัยในประเทศไทยได้นานขึ้น ซึ่งจะก่อให้เกิดการใช้จ่ายระหว่างอาศัยอยู่ในไทย นำรายได้เข้าสู่ประเทศ อย่างไรก็ตาม ต้องมีการวางแผนอย่างรอบคอบ และได้รับความร่วมมือจากทุกภาคส่วน หากทำสำเร็จ จะเป็นการปรับฐานสู่การท่องเที่ยวคุณภาพ และทำรายได้จากการท่องเที่ยวมากกว่าเดิม

“ในช่วงเวลาที่ผ่านมารัฐบาลได้ออกหลายมาตรการเพื่อบรรเทาความเดือดร้อนในภาวะวิกฤติโควิด-19 ดังนั้น การเสนอโครงการของซีพีเป็นเพียงส่วนเสริมในการบรรเทาความเดือดร้อนพี่น้องประชาชน และข้อเสนอนี้เป็นมุมมองของเครือซีพี ซึ่งอยู่ที่ภาครัฐจะเลือกนำไปใช้ตามความเหมาะสม หากมีคำแนะนำสิ่งใดที่ควรทำเพิ่มเติม เครือซีพียินดีให้ความร่วมมือกับภาครัฐ เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนของพี่น้องประชาชนต่อไป”

เจ้าพ่อ “เนสกาแฟ” ช่วยชาวสวนลำไย

ขณะที่นายประยุทธ์ มหากิจศิริ ประธานกลุ่มบริษัท พีเอมส์ กรุ๊ปส์ เจ้าของบริษัทไทย-น็อคซ์ สเตนเลส และไทยคอปเปอร์ หรือเจ้าพ่อเนสกาแฟ ได้ทำหนังสือตอบกลับนายกฯเช่นเดียวกัน โดยที่ผ่านมาได้ดำเนินการแล้ว คือ การบริจาคให้สภากาชาดไทยและสถานศึกษาสร้างหอปฏิบัติธรรม สนับสนุนสุขภาพบุคลากรทางการแพทย์ในการป้องกันโควิด-19 สนับสนุนเกษตรกรไทย รวม 150 ล้านบาท และยังได้ส่งมอบ “P80 สู้ภัยโควิด-19” ให้บุคลากรทางการแพทย์ เจ้าหน้าที่ที่เกี่ยวข้อง รวมถึงผู้ป่วยจากการติดเชื้อโควิด-19 ที่พักรักษาตัวอยู่ในโรงพยาบาลอีกด้วย

สำหรับสิ่งที่จะเพิ่มเติมเพื่อช่วยเหลือพี่น้องคนไทย ดังนี้ โครงการรับซื้อผลผลิตจากเกษตรกร อาทิ การรับซื้อลำไยจากเกษตรลำพูน จะช่วยให้เกษตรกร 1,000 ครัวเรือนมีรายได้ที่มั่นคงเป็นเวลา 6 เดือน, การรับซื้อสินค้าจากวิสาหกิจชุมชนลำพูนหรือเกษตรกรแปลงใหญ่ ช่วยเกษตรกร 5,000 ครัวเรือน เป็นเวลา 6 เดือน ซึ่งการรับซื้อสินค้าเกษตรโดยตรง โดยไม่ผ่านพ่อค้าคนกลางนั้น จะทำให้เกษตรกรมีรายได้เพิ่มมากขึ้น

นอกจากนี้ ยังจะจัดส่งผู้เชี่ยวชาญไปทำงานวิจัยร่วมกับเกษตรกรในท้องที่ เพื่อพัฒนาคุณภาพ และเพิ่มผลผลิตต่อไป ตลอดจนการหาตลาดทั้งในและต่างประเทศให้ผลผลิตที่คิดค้นขึ้น โดยจะนำร่องในวิสาหกิจชุมชนที่จังหวัดลำพูน 1,000 ครัวเรือน โครงการเปิดพื้นที่ให้ประชาชนสามารถนำสินค้าเกษตร ผลิตภัณฑ์ชุมชน โอทอป มาวางจำหน่ายได้ที่เมาน์เทน- ครีก กอล์ฟรีสอร์ท แอนด์ เรสซิเดนซ์ สีคิ้ว จังหวัดนครราชสีมา ซึ่งอยู่บนถนนมิตรภาพโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายเป็นเวลา 8 เดือน และยังเปิดแพลตฟอร์มการซื้อขายผ่านออนไลน์ภายใต้ www.411estore.com  ให้ประชาชนที่มีผลิตภัณฑ์นำมาโพสต์ขายได้ โดยไม่หักค่าใช้จ่ายใดๆเป็นเวลา 6 เดือน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ