Business On My Way :  ฉายภาพอนาคต...หลังเผชิญวิกฤตการณ์ "โควิด-19"

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

Business On My Way : ฉายภาพอนาคต...หลังเผชิญวิกฤตการณ์ "โควิด-19"

Date Time: 2 พ.ค. 2563 05:00 น.

Summary

  • หลายคนคงเคยผ่านภาวะวิกฤติระดับโลกมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤติการเงินในเอเชียเมื่อปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2551

Latest

จับโรงงานผลิตเหล็กเส้นคุณภาพต่ำ "เอกนัฏ" ส่ง "ชุดตรวจการณ์สุดซอย" รวบนอมินีจีน

“หลายคนคงเคยผ่านภาวะวิกฤติระดับโลกมาแล้วหลายครั้ง ไม่ว่าจะเป็นวิกฤตการณ์ทางเศรษฐกิจ เช่น วิกฤติการเงินในเอเชียเมื่อปี 2540 และวิกฤติแฮมเบอร์เกอร์ ในปี 2551 รวมถึงวิกฤตการณ์ด้านสาธารณสุข เช่น การแพร่ระบาดของไวรัสซาร์ส เมอร์ส ไข้หวัดหมู และอีโบล่า รวมถึงวิกฤตการณ์ทางธรรมชาติอย่างสึนามิ ซึ่งล้วนเกิดในขอบเขตที่จำกัดทั้งในเชิงพื้นที่ และในเชิงผู้รับผลกระทบ”

นี่คือบทสนทนาช่วงหนึ่งที่คอลัมน์ Business On My Way ได้มีโอกาสพูดคุยกับ “ดร.พันธุ์อาจ ชัยรัตน์” ผู้อำนวยการสำนักงานนวัตกรรม (องค์การมหาชน) หรือ NIA (เอ็นไอเอ) ได้เล่าถึงอนาคตของโลกจากนี้ หลังวิกฤตการณ์โควิด-19 จบลง

ดร.พันธุ์อาจ เล่าว่า ในปัจจุบันที่มีการระบาดของไวรัสโควิด-19 วิกฤตการณ์นี้ได้สร้างผลกระทบวงกว้าง และรุนแรงเป็นอย่างมาก แม้ในเชิงตัวเลขของยอดผู้เสียชีวิตอาจดูไม่รุนแรงหากเทียบกับเมื่อครั้งการเกิดไข้หวัดหมู หรือสึนามิ แต่ด้วยการแพร่ระบาดที่เกิดขึ้นได้ง่ายและรวดเร็ว ทำให้เกิดความวิตกกังวลไปทั่วโลก

โดยสถาบันการมองอนาคตนวัตกรรม หรือ IFI ภายใต้การดำเนินงานของ เอ็นไอเอ ได้ทำการวิเคราะห์ผลกระทบของภาวะวิกฤติดังกล่าว ที่จะเป็นตัวแปรให้เกิดการเปลี่ยนแปลงในอนาคต โดยมีสิ่งที่น่าจับตามอง ประกอบไปด้วย

1.รูปแบบภูมิรัฐศาสตร์ ที่มีประเทศจีนเป็นศูนย์กลางจะเด่นชัดมากขึ้น โดยไวรัสโควิด-19 ที่เกิดขึ้น จีนเป็นประเทศแรกที่ได้รับผลกระทบภาคการผลิตของจีนที่หยุดชะงัก ส่งผลกระทบต่อห่วงโซ่มูลค่าโลกและทุกภูมิภาคทั่วโลก ทั้งผู้ผลิตต้นน้ำ กลางน้ำ และปลายน้ำ รวมถึงผู้บริโภค แต่จีนก็สามารถเข้าสู่ระยะฟื้นฟูได้รวดเร็วด้วยมาตรการต่อสู้กับการแพร่ระบาดของไวรัสที่เข้มงวดและมีประสิทธิภาพ

ประกอบกับจีนมีขนาดเศรษฐกิจที่ใหญ่เพียงพอที่สามารถสร้างแรงกระตุ้นทางเศรษฐกิจและการบริโภคภายในประเทศได้ง่าย ไม่ต้องพึ่งพิงเศรษฐกิจจากภายนอก และในขณะที่จีนกำลังจะฟื้นตัวอย่างรวดเร็ว หลายประเทศกำลังต่อสู้กับการแพร่ระบาด จึงเป็นโอกาสสำหรับธุรกิจและเศรษฐกิจของจีนที่จะฟื้นกลับมาด้วยอัตราเร่ง ในขณะที่พื้นที่เศรษฐกิจอื่นอย่างสหภาพยุโรป และสหรัฐอเมริกายังบอบช้ำ

2.สังคมที่เริ่มคุ้นชินกับเทคโนโลยีดิจิทัล ปฏิเสธไม่ได้ว่าที่ผ่านมา การเรียนรู้เทคโนโลยีดิจิทัลแพร่หลายเฉพาะในบางกลุ่มวัย แต่วิกฤตการณ์ โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้ผู้คนต้องดำรงชีวิตแบบเว้นระยะห่างทางสังคม ทำให้มีการเปิดรับเทคโนโลยีที่จะมาช่วยให้สามารถเชื่อมต่อกับโลกภายนอกมากขึ้น เช่น การเติบโตของการใช้งานระบบประชุมออนไลน์ การใช้เงินดิจิทัล การดูหนังออนไลน์ สิ่งเหล่านี้ช่วยให้ผู้บริโภคมีความคุ้นชิน และเปิดรับเทคโนโลยีดิจิทัลมากขึ้น ซึ่งนำไปสู่การเปลี่ยนพฤติกรรมที่ทำให้โลก ก้าวเข้าสู่สังคมดิจิทัลเร็วกว่าที่คาดการณ์

3.ทิศทางอุตสาหกรรมกับการพึ่งพาตัวเอง หลายประเทศสัดส่วนการพึ่งพิงอุตสาหกรรมบริการเทียบกับอุตสาหกรรมการผลิตมีการเติบโตอย่างต่อเนื่อง แต่สำหรับประเทศไทย อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและบริการเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ที่สร้างรายได้และการจ้างงาน จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ที่เกิดขึ้น ทำให้หลายประเทศปิดพรมแดน/ปิดประเทศ ผู้คนเริ่มใช้ชีวิตแบบเว้นระยะจากสังคม เกิดการดำรงชีวิตแบบไม่พึ่งพาระบบ

“แน่นอนส่งผลกระทบต่ออุตสาหกรรมบริการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจการเดินทาง ท่องเที่ยว ค้าส่งและค้าปลีก บันเทิง ร้านอาหารและร้านค้า ส่วนอุตสาหกรรมที่ได้รับผลกระทบน้อยจะเป็นกลุ่มบริการแพลทฟอร์มดิจิทัล และบริการที่มีมูลค่าสูง รวมถึงอุตสาหกรรมการผลิต สะท้อนให้เห็นถึงปัญหาความสามารถในการพึ่งพาตัวเองที่เชื่อมโยงกับทิศทางการขับเคลื่อนอุตสาหกรรมของประเทศ”

ผู้อำนวยการเอ็นไอเอ เล่าว่า นอกจากนี้ยังมีธุรกิจสตาร์ตอัพจะเป็นเรื่องที่ยากขึ้น โดยที่ผ่านมาธุรกิจสตาร์ตอัพล้วนเกิดขึ้นจากความต้องการแก้ปัญหาให้กับผู้บริโภค และเติบโตอย่างก้าวกระโดดด้วยการลงทุนของนักลงทุน แต่จากวิกฤตการณ์โควิด-19 ทำให้ระบบเศรษฐกิจทั่วโลกถดถอย ผู้บริโภคเริ่มหันไปให้ความสำคัญกับปัจจัยพื้นฐานมากกว่าความต้องการใหม่ๆ รวมถึงนักลงทุนจะชะลอการลงทุนเพราะต้องสำรองเงินไว้ฟื้นฟูธุรกิจ แต่ในวิกฤตินี้ก็อาจเป็นโอกาสสำหรับสตาร์ตอัพกลุ่มดิจิทัล และเทคโนโลยีขั้นสูง ที่จะเข้ามาแก้ปัญหาเร่งด่วน หรือตอบโจทย์พฤติกรรมที่เปลี่ยนแปลงไปของผู้บริโภค

4.การฟื้นฟูเศรษฐกิจต้องอาศัยภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่ การดำรงชีวิตแบบเว้นระยะห่างทางสังคม รวมถึงการปิดประเทศ จะส่งผลกระทบโดยตรงต่อผู้ใช้แรงงาน ธุรกิจบริการ ผู้ประกอบการขนาดย่อมและขนาดเล็ก ซึ่งผลกระทบจะรุนแรงมากขึ้น หากกินเวลานาน แต่ผู้ที่ยังสามารถดำเนินธุรกิจได้จะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่ที่มีเงินสำรองสูง มีธุรกิจรองรับหลากหลาย

ทั้งนี้เมื่อวิกฤตการณ์โควิด-19 ผ่านพ้นไป ภาครัฐและธุรกิจขนาดใหญ่จะมีบทบาทสำคัญในการฟื้นฟูเศรษฐกิจอย่างมาก แต่ภาครัฐจะต้องดูแลไม่ให้เกิดการผูกขาดและเกิดความเหลื่อมล้ำในการแข่งขัน และต้องทำงานร่วมกับธุรกิจขนาดใหญ่อย่างใกล้ชิดเพื่อให้เกิดการจ้างงาน และฟื้นฟูกิจกรรมทางเศรษฐกิจ

“เชื้อโควิด-19 ที่เกิดขึ้นยังเป็นบทเรียนสำคัญของโลก ที่จะต้องมีแนวทางการรับมือในภาวะวิกฤติ โดยแบ่งการรับมือออกเป็น 3 ขั้น คือ ขั้นที่ 1 การรับมือก่อนเกิดเหตุ ขั้นที่ 2 การรับมือระหว่างเกิดเหตุ และขั้นที่ 3 การฟื้นฟูหลังเกิดเหตุ” ดร.พันธุ์อาจ กล่าว

งานนี้ก็ต้องขอแรงทุกภาคส่วนทั้งรัฐ เอกชน ร่วมถึงประชาชนคนไทยทุกคน ร่วมแรงร่วมใจ ยับยั้งวิกฤตการณ์โควิด-19 นี้ให้ผ่านพ้นไปด้วยกัน.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ