“สมคิด” อัด 4 แสนล้านฟื้นชนบท ธ.ก.ส.ประกาศพักหนี้เกษตรกรทุกราย 1 ปี

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

“สมคิด” อัด 4 แสนล้านฟื้นชนบท ธ.ก.ส.ประกาศพักหนี้เกษตรกรทุกราย 1 ปี

Date Time: 1 พ.ค. 2563 07:01 น.

Summary

  • “สมคิด” วางโจทย์ให้ สศช.พิจารณาโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ จากวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ต้องก่อให้การจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นหรือเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อชดเชยการท่องเที่ยว

Latest

วัดเกม “ทุเรียน” 4สัญชาติ ชิงบัลลังก์ตลาดจีน เวียดนาม กดส่วนแบ่งไทยลดลง ฟิลิปปินส์-มาเลเซีย ไล่บี้

“สมคิด” วางโจทย์ให้ สศช.พิจารณาโครงการฟื้นฟูเศรษฐกิจภายในประเทศ จากวงเงินกู้ 4 แสนล้านบาท ต้องก่อให้การจ้างงานและสร้างรายได้ให้แก่ท้องถิ่นหรือเศรษฐกิจภายในประเทศ เพื่อชดเชยการท่องเที่ยวและส่งออกที่ลดลง ให้เปลี่ยนตัวชี้วัดจากเดิมเน้นการเติบโตของเศรษฐกิจ มาเป็นความเข้มแข็งแทน ด้าน ธ.ก.ส.ประกาศพักหนี้เงินต้น-ดอกเบี้ยเกษตรกร 3.3 ล้านราย 1 ปี โดยอัตโนมัติ

นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี เปิดเผยภายหลังประชุมร่วมกับผู้บริหารสำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ว่า ในฐานะ สศช.เป็นประธานคณะกรรมการกลั่นกรองการใช้จ่ายเงินกู้ ภายใต้พระราชกำหนด (พ.ร.ก.) ให้อำนาจกระทรวงการคลังกู้เงินเพื่อแก้ไขปัญหาเยียวยาและฟื้นฟูเศรษฐกิจและสังคมที่ได้รับผลกระทบจากการระบาดของโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา พ.ศ.2563 วงเงิน 1 ล้านล้านบาท จึงมอบนโยบายให้ สศช.รีบดำเนินการวางเงื่อนไข หลักเกณฑ์และตัวดัชนีชี้วัดผลงาน หรือความสำเร็จของงาน (เคพีไอ) ของการใช้เงินในส่วนที่จะนำมาฟื้นฟูเศรษฐกิจ 400,000 ล้านบาท เข้าสู่ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณา หลังจากนั้นจะเปิดรับพิจารณาโครงการจากส่วนราชการ และองค์กรต่างๆได้ทันที เพื่อให้เกิดการลงทุนในเดือน มิ.ย. และให้เกิดความต่อเนื่องกับเงินเยียวยา 600,000 ล้านบาท ที่รัฐบาลให้ลูกจ้างนอกระบบ ผู้ประกอบอาชีพอิสระที่ได้รับความเดือดร้อนจากโควิด-19 เดือนละ 5,000 บาท เป็นเวลา 3 เดือน ซึ่งได้เริ่มจ่ายเงินไปแล้วตั้งแต่เดือน เม.ย.ที่ผ่านมา และจะสิ้นสุดในเดือน มิ.ย.นี้

“ในช่วง 2 เดือนที่ผ่านมา (มี.ค.-เม.ย.) รัฐบาลมีความจำเป็นต้องหยุดการแพร่ระบาดของโควิด-19 ทำให้ต้องใช้มาตรการเข้มงวด ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจหยุดชะงัก ประชาชนต้องตกงาน และบางคนต้องทำงานอยู่ที่บ้าน ขณะที่ธุรกิจต้องหยุดกิจการชั่วคราว จึงเป็นที่มาของมาตรการเยียวยาประชาชน แต่ก็สามารถช่วยได้เพียง 3 เดือน ในช่วงที่ระหว่างนี้จนถึงเดือน ต.ค. ซึ่งเป็นปีงบประมาณใหม่ จึงเกิดคำถามว่า ที่มีประชาชนจำนวนหนึ่งเดินทางกลับบ้านโยกย้ายจากเมืองไปอยู่ชนบท จะมีงานทำและมีรายได้หรือไม่ ช่วงนี้จึงถือเป็นรอยต่อที่สำคัญที่รัฐบาลจะต้องเข้าไปดูแลและฟื้นฟูชีวิตความอยู่ของประชาชน”

ดังนั้น นโยบายของรัฐบาลต้องเน้นการสร้างกิจกรรมทางเศรษฐกิจที่จะช่วยให้เกิดการสร้างงานและสร้างรายได้ให้คนในต่างจังหวัด ประกอบด้วย 4 เรื่องคือ 1.การพัฒนาภาคการเกษตร 2.การพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานในชนบท เช่น การพัฒนาแหล่งน้ำ 3.การพัฒนาท่องเที่ยวชุมชน แม้ปีนี้เศรษฐกิจไทยจะหวังพึ่งพาการส่งออกและท่องเที่ยวไม่ได้อีกแล้ว แต่รัฐบาลก็จะไม่ตัดทิ้ง แต่ถือโอกาสพัฒนาแหล่งท่องเที่ยวและชุมชน เพื่อทำให้ทุกอย่างดีขึ้นเมื่อกลับเข้าสู่ภาวะปกติ การท่องเที่ยวจะมีความยั่งยืน จึงจำเป็นต้องสร้างการเติบโตของเศรษฐกิจจากภายในประเทศ (local economy) เพื่อชดเชยการส่งออก และการท่องเที่ยวที่ลดลง

4.การฝึกอบรมและพัฒนาไอที โดยต้องสร้างระบบตลาดให้เกิดขึ้นในท้องถิ่น ระบบการขนส่ง (โลจิสติกส์) รวมถึงการพัฒนาแพลตฟอร์มด้านการขายสินค้า ถือเป็นเรื่องที่มีความสำคัญด้วยเช่นกัน เพราะในอดีตเมื่อมีผลผลิตทางการเกษตรออกมาขายแล้ว แต่ไม่มีคนซื้อ เกษตรกรก็ขาดทุน แต่ในขณะนี้มีระบบไอทีสามารถเข้ามาช่วยส่งเสริมการขายได้ จึงถือเป็นโอกาสที่ดีที่ท้องถิ่นจะพัฒนาตนเองขึ้นมาได้ โดยเฉพาะเรื่องการฝึกอบรมและการพัฒนาบุคลากรในท้องถิ่น

“ผลของโควิด-19 ในช่วงไตรมาสแรก ถือเป็นจุดเริ่มต้นของการแพร่ระบาด ขณะที่ไตรมาส 2 จะเป็นผลพวงของเศรษฐกิจที่หยุดชะงัก และเริ่มเห็นผลกระทบดังกล่าวแล้วในช่วงนี้ หากรัฐบาลสามารถเตรียมตัวและรับมือได้ดี ผลกระทบที่จะเกิดขึ้นในอนาคตจะลดน้อยลง ดังนั้น สศช.จะประเมินเศรษฐกิจไทยโดยเน้นอัตราการเติบโตของเศรษฐกิจไม่ได้อีกแล้ว แต่จะต้องเน้นเรื่องความเข้มแข็งของเศรษฐกิจไทยทั้งภายในและภายนอก โดยในแต่ละปีมีจำนวนนักศึกษาจบใหม่ ต้องการงานทำนับแสนคน และเมื่อรวมแรงงานที่ว่างงานเนื่องจากได้รับผลกระทบจากโควิด-19 ยอดจะเพิ่มมากขึ้น จึงจำเป็นต้องมีมาตรการรองรับเหตุการณ์ที่เกิดขึ้นในอนาคตด้วย”

นายอภิรมย์ สุขประเสริฐ ผู้จัดการธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.) เปิดเผยว่า เพื่อช่วยเหลือเกษตรกรลูกค้าที่ได้รับผลกระทบจากภัยธรรมชาติและการระบาดของเชื้อไวรัสโควิด-19 ธ.ก.ส. จึงได้เพิ่มมาตรการช่วยเหลือให้แก่ลูกค้า ธ.ก.ส.ให้ครอบคลุมทุกกลุ่ม โดยการพักชำระหนี้ต้นเงินและดอกเบี้ยเงินกู้ที่ถึงกำหนดชำระตั้งแต่งวดเดือน เม.ย.2563-งวดเดือน มี.ค.2564 เป็นเวลา 1 ปี โดยอัตโนมัติ และยังคงชั้นหนี้เดิมของลูกค้าก่อนเข้าโครงการ ซึ่งมาตรการดังกล่าวครอบคลุมลูกค้าทุกกลุ่ม ทั้งที่เป็นเกษตรกรรายบุคคล ผู้ประกอบการ (นิติบุคคล) กลุ่มเกษตรกร สหกรณ์ กองทุนหมู่บ้านและชุมชนเมือง รวมผู้ที่ได้รับประโยชน์จำนวน 3.34 ล้านราย คิดเป็นต้นเงินกู้จำนวน 1.26 ล้านล้านบาท

ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ยังได้เตรียมมาตรการในการฟื้นฟูเพื่อช่วยเหลือให้เกษตรกรลูกค้ากลับมาพัฒนาอาชีพที่สอดคล้องกับวิถีชีวิตและชุมชน มีรายได้ควบคู่กับการร่วมดูแลรักษาสิ่งแวดล้อมของชุมชนอย่างยั่งยืน โดยน้อมนำความรู้ตามหลักปรัชญาของเศรษฐกิจพอเพียงมาใช้ในการดำเนินชีวิต ซึ่ง ธ.ก.ส.มุ่งหวังว่าสามารถช่วยผู้ที่ได้รับผลกระทบ จำนวนกว่า 1 ล้านราย.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ