แม้ว่าจะผ่านมาแล้วประมาณเดือนกว่าๆ นับตั้งแต่วันที่ 31 ธ.ค.ปีที่แล้ว ซึ่งเป็นวันที่องค์การอนามัยโลก (WHO) ในประเทศจีนได้แจ้งเตือนถึงโรคปอดอักเสบจากไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ แต่จนถึงขณะนี้การแพร่ระบาดของ “พิบัติภัย” ใหม่ที่เกิดขึ้นทั่วโลกยังทวีความรุนแรง เพิ่มจำนวนผู้ติดเชื้อ และผู้เสียชีวิตอย่างต่อเนื่อง
โดยล่าสุด ตัวเลข ณ วันที่ 2 ก.พ.ที่ผ่านมา สำนักข่าวซีเอ็นเอ็นรายงานว่า มีผู้ติดเชื้อไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ในประเทศจีน จำนวน 14,380 คน โดยในวันที่ 1 ก.พ.ที่ผ่านมาผู้ติดเชื้อเพิ่มขึ้นสูงถึง 2,500 คนภายในวันเดียวในขณะที่มีผู้เสียชีวิต 304 คน ขณะที่สถานการณ์การแพร่ระบาดทั่วโลกมีมากกว่า 25 ประเทศแล้วที่พบผู้ติดเชื้อ
ขณะเดียวกัน ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่ หรือไวรัสอู่ฮั่น กำลังกลายพันธุ์เป็นวิกฤติเศรษฐกิจรอบใหม่ของหลายประเทศ ทั้งผลกระทบทางตรงจากเศรษฐกิจจีนและกระทบทางอ้อมจากราคาสินทรัพย์ที่ดิ่งลง
ศูนย์วิจัยกสิกรไทยประมาณการว่า ผลกระทบจากไวรัสอู่ฮั่น ซึ่งส่งผลให้จีนต้องประกาศปิดประเทศ ธุรกิจต่างชาติในจีนยุติการผลิต และค้าขายการท่องเที่ยวและการใช้จ่ายหยุดชะงักในช่วง 1 เดือนที่ผ่านมา คิดเป็นมูลค่าสูงถึง 300,000 ล้านหยวน หรือ 1.34 ล้านล้านบาท คิดเป็น 0.3% ของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของจีน
โดยล่าสุด ในกรณีเลวร้ายว่าจีนอาจจะขยายตัวเพียง 4.5% ในปีนี้จากประมาณการเดิมที่ 5.5-5.9% ขณะที่นักวิเคราะห์มองว่า ความเสียหายของวิกฤติอู่ฮั่นต่อเศรษฐกิจโลกอาจจะรุนแรงกว่าที่คาดการณ์ไว้
กลับมาดูสถานการณ์ในไทยแม้จะยังมีผู้ติดเชื้อ 19 คน แต่เราถูกจัดว่าเป็นหนึ่งในประเทศที่มีความเสี่ยงสูงที่จะเกิดการแพร่ระบาดรุนแรง เนื่องจากใกล้ชิดกับจีน ทั้งด้านการค้า การลงทุน โดยเฉพาะอย่างยิ่งการท่องเที่ยว โดยในปี 2562 การ ท่องเที่ยวแห่งประเทศไทย (ททท.) ระบุ ว่า นักท่องเที่ยวจีนที่มาเที่ยวไทยเป็นอันดับ 1 ทั้งในแง่จำนวนและรายได้ โดยมีนักท่องเที่ยวจีนทั้งสิ้น 11 ล้านคน หรือ 28% ของจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติที่มาไทย 39.7 ล้านคน
นายยุทธศักดิ์ สุภสร ผู้ว่าการ ททท. กล่าวว่า การปิดประเทศห้ามจัดทริปทัวร์จีนออกนอกประเทศได้ส่งผลกระทบต่อการท่องเที่ยวไทย เพราะตามปกติมีชาวจีนเที่ยวไทยเดือนละ 800,000 คน มีค่าใช้จ่ายคนละ 50,000 บาทต่อทริป
และกรณีเลวร้ายสุด ถ้าเหตุการณ์นี้ยืดเยื้อ 3 เดือน นักท่องเที่ยวจีนจะหายไป 1.89 ล้านคน ทำให้รายได้จากการท่องเที่ยวหายไป 94,500 ล้านบาท (ซึ่งกรณีนี้ยังไม่รวมจำนวนนักท่องเที่ยวชาติอื่นที่อาจจะเปลี่ยนจุดหมายการท่องเที่ยวจากประเทศไทยซึ่งเป็นประเทศที่มีการระบาดของโรค)
ขณะที่ในด้านการค้า การส่งออก ตัวเลขรายปีล่าสุด ปี 2561 ที่ผ่านมา จีนเป็นตลาดใหญ่เบอร์ 1 ของไทยเช่นเดียวกับการท่องเที่ยว โดยมีมูลค่าการส่งออก 960,000 แสนล้านบาท หรือ 11.9% ของมูลค่าการส่งออกรวมของไทย ผลกระทบที่เกิดในภาคการผลิต และส่งออกของจีนย่อมกระทบต่อคำสั่งซื้อของไทยอย่างหลีกเลี่ยงไม่ได้
ผลกระทบหลักอีกอย่างหนึ่งของเศรษฐกิจไทย คือกระทบบรรยากาศการใช้จ่ายของคนไทย โดยจะเห็นได้ว่าในช่วง 2 สัปดาห์ที่ผ่านมา หากใครไปเดินตามสถานที่ท่องเที่ยว ห้างสรรพสินค้า หรือแม้แต่ตลาดนัด จะเห็นได้ชัดถึงจำนวนคนที่เบาบางลง และหากการแพร่ระบาดลุกลามจะกระทบต่อความเชื่อมั่นในการจับจ่ายมากขึ้น
ในการประชุม ครม.เศรษฐกิจที่ผ่านมา ได้ตัดสินใจปรับลดการขยายตัวของจีดีพีปีนี้ของไทยลงจากการระบาดของไวรัสโคโรนา และความล่าช้าของงบประมาณรายจ่ายประจำปี 63 ที่เกิดปัญหาการลงคะแนนแทนกัน ซึ่งสอดคล้องกับธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ที่คาดว่า การขยายตัวปีนี้จะหลุดเป้าหมายเดิมที่ตั้งไว้ว่าจะขยายตัว 2.8%
หลายคนตั้งคำถามว่า ไวรัสโคโรนาสายพันธุ์ใหม่รุนแรงกับเศรษฐกิจไทยมากกว่าที่คาดกันไว้ใช่ไหม นั่นอาจจะเป็นหนึ่งคำตอบของคำถามที่ว่า ไวรัสโคโรนากำลังบอกอะไรกับเศรษฐกิจไทยในขณะนี้
เพราะเหตุผลหนึ่งที่คนไทยกำลังรู้สึกว่า โรคระบาดครั้งใหม่นี้มีผลร้ายต่อเศรษฐกิจไทยมาก ก็เพราะมันมาเมืองไทยในช่วงที่ “ภูมิคุ้มกันและความทนทาน” ของเศรษฐกิจไทยเหลือน้อยเต็มที จากหลายๆปัจจัยลบที่กระทบเศรษฐกิจไทยต่อเนื่องในช่วงที่ผ่านมา ทำให้ความรู้สึกวันนี้จึงคล้ายๆ “ฟางเส้นสุดท้ายบนหลังลา” ดังนั้น หากสามารถยุติการแพร่ระบาดได้เร็วมากเท่าไร จะผ่อนคลายบรรยากาศอึดอัดในไทยได้เร็วยิ่งขึ้น
นอกจากนั้น อีกเสียงกระซิบจากไวรัสโคโรนาที่เตือนเศรษฐกิจไทย กูรูท่านหนึ่งให้แง่คิดที่น่าสนใจว่าวันนี้ “เศรษฐกิจไทยกำลังพึ่งพาเศรษฐกิจมากเกินไปหรือไม่ทั้งในแง่การเป็นห่วงโซ่การผลิต และโดยเฉพาะอย่างยิ่งด้านการท่องเที่ยว” หลังจากเหตุการณ์นี้เราควรเร่งรัดที่จะเพิ่มศักยภาพการผลิตของตัวเองสู่ประเทศผู้ผลิตสินค้าหลักรวมทั้งมีความสุขกับการหลั่งไหลเข้ามาของนักท่องเที่ยวจีนน้อยลง และเร่งหาตลาดใหม่ๆเพิ่มขึ้นหรือไม่
ณ เวลานี้ เราคงต้องช่วยกันภาวนาส่งกำลังใจให้ทุกฝ่ายที่สู้กับไวรัสมรณะให้ได้ ขณะเดียวกัน ในทุกวิกฤติมีโอกาส และบทเรียนที่ดีที่จะช่วยให้เกิดการพัฒนาที่ดีขึ้นในอนาคตเช่นกัน.
ประอร นพคุณ