เปิดประตูสู่ ซิลิคอน วัลเล่ย์ ภารกิจ "พุทธพงษ์" ในวันที่ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

เปิดประตูสู่ ซิลิคอน วัลเล่ย์ ภารกิจ "พุทธพงษ์" ในวันที่ประเทศไทยไม่เหมือนเดิม

Date Time: 3 ก.พ. 2563 06:01 น.

Summary

  • หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 น่าจะเข้าสู่ภาวะ “เผาจริง” หลังจากที่ผ่านสภาพ “เผาหลอก” ร้อนรุ่มแบบครั่นเนื้อครั่นตัวมาตลอดทั้งปี 2562

Latest

บอร์ดอีวีไฟเขียวลดภาษีสรรพสามิต ถึงคิวรถยนต์ไฮบริดบูม

หลายคนตั้งข้อสังเกตว่าเศรษฐกิจไทยในปี 2563 น่าจะเข้าสู่ภาวะ “เผาจริง” หลังจากที่ผ่านสภาพ “เผาหลอก” ร้อนรุ่มแบบครั่นเนื้อครั่นตัวมาตลอดทั้งปี 2562

ประเดิมตั้งแต่ต้นปี ปัจจัยลบที่ถาโถมข้ามา ไม่ว่าจะเป็นปฏิบัติการลอบสังหารนายพลผู้นำกองกำลังแห่งอิหร่านด้วยน้ำมือของประธานาธิบดีสหรัฐฯ ที่ทำให้โลกร้อนระอุขึ้นทันที ตามมาด้วยการแพร่กระจายของไวรัสโคโรนา ซึ่งก่อกำเนิดขึ้นในประเทศจีน และยังไม่มีทีท่าว่าจะควบคุมได้

ตลอดจนปัจจัยลบภายใน ตั้งแต่กำลังซื้อที่ซบเซา ราคาผลผลิตทางการเกษตรตกต่ำ ภาวะภัยแล้ง ความล่าช้าในการเบิกจ่ายงบประมาณ 2563 และฝุ่นจิ๋ว PM 2.5 ออกอาละวาด ล้วนแล้วแต่เป็นปัจจัยกดดันการขับเคลื่อนกิจกรรมทางเศรษฐกิจใหม่ๆ จนหลายสำนักพยากรณ์ตัวเลขเศรษฐกิจที่เชื่อถือได้ ต้องปรับประมาณการเศรษฐกิจในปีนี้ใหม่ แน่นอน...เติบโตถดถอยลงจากประมาณการเดิม

ท่ามกลางบรรยากาศที่ขาดหายความเชื่อมั่น เป็นหน้าที่อันสำคัญยิ่งของรัฐบาล ในฐานะทีมบริหารประเทศ ในการกอบกู้ ผลักดันและขับเคลื่อนเศรษฐกิจให้เติบโตต่อไป

หนึ่งในความพยายามนั้น เกิดขึ้นจากการเดินทางไปเยือนซิลิคอน วัลเล่ย์ เมืองหลวงแห่งโลกไอที ประเทศสหรัฐอเมริกาของ พุทธิพงษ์ ปุณณกันต์ รมว.ดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ระหว่างวันที่ 14-22 ม.ค.2563 ที่ผ่านมา

การแวะเยี่ยมเยียนบริษัทไอทียักษ์ใหญ่ ได้แก่ กูเกิล, เฟซบุ๊ก, ซิสโก้ ซิสเต็มส์, ไมโครซอฟท์, ซีเกท, อเมซอนและ Plug and Play ในครั้งนี้ นอกจากเพื่อแสวงหาโอกาส ดึงดูดบริษัทเทคโนโลยีรายใหญ่ รายใหม่เข้ามาลงทุน หวังผลักดันไทยสู่การเป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของอาเซียนแล้ว

รมว.ดีอีเอส ยังถือโอกาสจับเข่าคุยเข้มข้นถึงความพยายามในการปราบเฟกนิวส์หรือข่าวปลอมในประเทศไทย โดยหวังได้รับความร่วมมืออย่างแน่นแฟ้นยิ่งขึ้นจากเฟซบุ๊กและกูเกิล

การเดินทางข้ามน้ำข้ามทะเลในครั้งนี้ จะเป็นการเปิดประตูไปสู่โอกาสใหม่ๆ ได้หรือไม่ โปรดติดตาม...

ครั้งแรก...รัฐบาลไทยเยือนเฟซบุ๊ก-กูเกิล

การเดินทางไปโรดโชว์สำนักงานใหญ่เฟซบุ๊ก (Facebook) ในครั้งนี้ ถือเป็นครั้งแรกของรัฐบาลไทย มีเป้าหมายหารือเรื่องข่าวปลอมหรือเฟกนิวส์ (Fake News) ซึ่งกำลังเป็นปัญหาสำคัญ บั่นทอนความมั่นคง ความเชื่อมั่น และความสงบสุขในสังคมไทย

หลังการหารือ รับทราบได้ว่า เฟซบุ๊กให้ความสำคัญและต่อต้านข่าวปลอมเช่นเดียวกัน โดยกำลังติดตามและกำจัดข่าวปลอมต่อเนื่อง ด้วยการใช้เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) เข้ามาช่วยดำเนินการ และมีทีมเจ้าหน้าที่จำนวนไม่น้อย ช่วยคัดกรองเนื้อหาภาษาไทย

แต่เนื่องด้วยในแต่ละวัน มีเนื้อหาจำนวนมาก บางเนื้อหามีความจริงปะปนอยู่กับความเท็จ ทำให้การคัดกรองและนำออกจากระบบเป็นไปด้วยความลำบาก โดยเนื้อหาที่ผิดกฎระเบียบของเฟซบุ๊กมี 4 กรณี ได้แก่ อาวุธปืน, การค้ามนุษย์, สัตว์หายาก และยาเสพติด ซึ่งหากพบเนื้อหาที่พัวพัน 4 กฎเหล็กดังกล่าว ทางเฟซบุ๊กจะดึงออกจากระบบทันที โดยไม่ต้องแจ้งเจ้าของบัญชี

ขณะที่กระทรวงดีอีเอส ได้อธิบายปัญหาที่เกิดขึ้นในขั้นตอนปฏิบัติของไทยว่า ทุกครั้งที่ต้องการให้เฟซบุ๊กนำคอนเทนต์ออกจากระบบ ได้ผ่านขบวนการทางกฎหมายเป็นที่เรียบร้อยแล้ว ทุกอย่างเป็นไปด้วยความรอบคอบ จึงขอให้เฟซบุ๊กให้ความร่วมมือในการคัดกรองข่าวปลอม เนื้อหาไม่เหมาะสมต่อประเทศไทย อย่างเข้าใจมากขึ้น

เช่นเดียวกับการเข้าพบกูเกิล (Google) ซึ่งเป็นการหารือเรื่องข่าวปลอม คลิปปลอม โดยเฉพาะบนยูทูบ (YouTube) ซึ่งกูเกิลเป็นเจ้าของ นอกจากนี้ยังหารือถึงปัญหาการใช้งาน Google map ที่มีผู้ไม่หวังดีย้ายจุดปัก สถานที่ท่องเที่ยวต่างๆในไทย ทำให้นักท่องเที่ยวเดินทางไปผิดที่ โดยจะมีการหารือเรื่องนี้ต่อในประเทศไทย

กระทรวงดีอีเอสยังขอความร่วมมือจากกูเกิล ในการพัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ของไทย เพื่อมีช่องทางการค้าขายเพิ่มขึ้น โดยขอให้กูเกิลเพิ่มข้อมูลร้านค้าไทยในเครื่องมือค้นหาของกูเกิล เพื่อให้ผู้ที่สนใจสามารถค้นหาข้อมูลร้านค้าได้โดยง่าย

“ทางไทยยังได้หยิบยกประเด็นการจัดเก็บภาษีธุรกิจดิจิทัลมาหารือด้วย เนื่องจากปัจจุบันมีการค้าขายผ่านออนไลน์จำนวนมาก ซึ่งเฟซบุ๊กและกูเกิลไม่ได้แสดงความกังวลใดๆ และพร้อมให้ความร่วมมือ โดยแจ้งว่าการจัดเก็บภาษีต้องอยู่ในอัตราที่เหมาะสม และเป็นไปตามมาตรฐานโลก หากเป็นเช่นนั้น เชื่อว่าผู้ประกอบการต่างชาติทุกรายพร้อมจะเสียภาษีอย่างถูกต้องให้กับประเทศที่เข้าไปลงทุนหรือเข้าไปให้บริการ

หมดเวลาขายวิวทะเล-ยิ้มสยาม

นายพุทธิพงษ์ กล่าวอีกว่า วันนี้สถานการณ์การลงทุนเปลี่ยนแปลงไป ในอดีตการไปโรดโชว์ต่างประเทศ จะเน้นชักชวนนักลงทุนให้มาสร้างโรงงานผลิตและลงทุนในอุตสาหกรรมหนัก เช่น อุตสาหกรรมรถยนต์ อุตสาหกรรมปิโตรเคมี อุตสาหกรรมการผลิตชิ้นส่วนอุปกรณ์อิเล็กทรอนิกส์ เป็นต้น ซึ่งเป็นการลงทุนที่ต้องใช้เวลาในการตัดสินใจกว่าจะได้เม็ดเงินเข้ามา และเมื่อตัดสินใจลงทุนแล้ว ก็ต้องใช้เวลาในการสร้างโรงงาน เริ่มสายการผลิต อีกไม่น้อยกว่า 5 ปี

ขณะที่การผลักดันให้เกิดการลงทุนในอุตสาหกรรมดิจิทัล จะใช้เวลาในการลงทุนไม่เกิน 1–2 ปี ได้เม็ดเงินเข้าประเทศอย่างว่องไว

“ประเทศไทยวันนี้ไม่เหมือนเดิมอีกต่อไป เราไม่สามารถขายข้าวเหนียวมะม่วง วิวทะเล หรือยิ้มสยาม ได้เหมือนเมื่อก่อน ต้องออกไปประชาสัมพันธ์ให้โลกรู้ว่าไทยมีความพร้อม มีศักยภาพหลายด้าน หากไม่ทำอะไร บริษัทยักษ์ใหญ่จะไปลงทุนที่ประเทศเพื่อนบ้านหมด ไทยจะเสียโอกาส ลูกหลานเก่งๆ ต้องไปทำงานประเทศเพื่อนบ้าน เพราะบ้านเราไม่มีงานบริษัทระดับโลกให้ทำ”

ทั้งนี้ ในเดือน มี.ค.นี้ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีและรัฐมนตรีกระทรวงกลาโหม จะเดินทางไปเยือนสหรัฐอเมริกา จึงมีดำริจะเชิญนายกรัฐมนตรีและนายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายกรัฐมนตรี ไปเมืองซิลิคอน วัลเล่ย์ด้วย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้กับนักลงทุน

ซีเกท-ซิสโก้-ไมโครซอฟท์ ลงทุนเพิ่ม

การได้พบพันธมิตรเก่าแก่ ที่มาลงทุนในประเทศนานกว่า 20 ปี ได้แก่ บริษัท ซีเกท จำกัด, บริษัท ไมโครซอฟท์ จำกัด และบริษัท ซิสโก้ ซิสเต็มส์ จำกัด ทำให้ทั้ง 3 บริษัทยักษ์ใหญ่ตัดสินใจลงทุนในไทยเพิ่มเติม

โดยซีเกท ได้ร่วมมือกับมหาวิทยาลัยไทย 10 แห่ง ได้แก่ ม.สุรนารี ม.ขอนแก่น ม.พระจอมเกล้า ลาดกระบัง ร่วมพัฒนาทักษะนักศึกษาป้อนสู่ตลาดแรงงานดิจิทัล ซึ่งขณะนี้เป็นที่ต้องการอย่างมากในทุกกลุ่มอุตสาหกรรม

ส่วนซิสโก้ได้เลือกประเทศไทย เป็นสถานที่จัดตั้งศูนย์ Cisco Co-Innovation แห่งแรกในเอเชีย เนื่องจากเห็นความพร้อมของประเทศไทยที่มีการประกาศและบังคับใช้ พ.ร.บ.การรักษาความมั่นคงปลอดภัยไซเบอร์แล้ว

ศูนย์แห่งนี้มุ่งฝึกอบรมบุคลากรที่มีหน้าที่ดูแลด้านระบบรักษาความปลอดภัยหรือไซเบอร์ซีเคียวริตี้ของหน่วยงานและองค์กรต่างๆ โดยเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวข้องกับโครงสร้างพื้นฐานสำคัญทางสารสนเทศ เพื่อสร้างและเพิ่มทักษะความเชี่ยวชาญให้กับบุคลากรสาขานี้

ส่วนไมโครซอฟท์ จะจัดตั้งศูนย์เทคโนโลยีปัญญาประดิษฐ์ (AI) และ IoT Insider Lab เพื่อสนับสนุนผู้ประกอบการด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัล สามารถผลิตและนำสินค้าออกสู่ตลาดได้รวดเร็วขึ้น ช่วยหาช่องทางการตลาดและจับคู่ธุรกิจ โดยปัจจุบันมีลูกค้าที่เข้าร่วมโครงการไปแล้วกว่า 300 รายทั่วโลก

ศูนย์แห่งนี้ใช้เงินลงทุนมากกว่า 1,000 ล้านบาท โดยไมโครซอฟท์มุ่งมั่นที่ให้ประเทศไทย เป็นศูนย์กลางด้านเทคโนโลยีและนวัตกรรมดิจิทัลของอาเซียน เป็นประตูสู่ประเทศเพื่อนบ้าน (กัมพูชา ลาว เมียนมา และเวียดนาม-CLMV) และจะร่วมพัฒนาบุคลากรและอุตสาหกรรมดิจิทัลเพื่อประโยชน์ต่อผู้ประกอบการไทยอย่างเต็มที่

ตั้งสาขาดีป้าที่ซิลิคอน วัลเล่ย์

นอกจากนี้ยังเยี่ยมชมและพบปะหารือกับผู้บริหาร บริษัท อเมซอน จำกัด (Amazon) ผู้ให้บริการอี-คอมเมิร์ซ รายใหญ่ของโลก ณ เมืองซีแอตเติล ประเทศสหรัฐอเมริกา เพื่อชักชวนให้อเมซอนลงทุนในไทยเพิ่มเติม โดยเฉพาะการช่วยพัฒนานักธุรกิจใหม่ (สตาร์ตอัพ) ของไทยให้มีเครือข่ายเชื่อมโยงกับสตาร์ตอัพโลก

และยังได้หารือถึงการใช้งานระบบคลาวด์ (Cloud) ด้วย โดยรัฐบาลไทยกำลังจะลงทุนระบบคลาวด์ข้อมูลภาครัฐ รวมถึงการตั้งดาต้า เซ็นเตอร์ (Data Centre) ซึ่งอเมซอนได้แสดงความสนใจและจะนำข้อหารือในครั้งนี้ ไปเสนอคณะกรรมการ (บอร์ด) ของอเมซอน เพื่อประกอบการตัดสินใจว่าจะไปลงทุนในประเทศไทยหรือไม่อย่างไร

“ผมค่อนข้างมั่นใจว่า อเมซอนจะเข้ามาลงทุนในไทยแน่ แต่เขายังไม่เปิดเผยรายละเอียด เนื่องจากเป็นความลับทางธุรกิจ ผมกำลังรอฟังข่าวดี ครั้งนี้ถือว่ามาเจรจาสู่ขอ หมั้นหมาย”

การเจอกันในครั้งนี้ อเมซอนต้องไม่มองข้ามไทยอีก จากก่อนหน้าได้ตัดสินใจลงทุนดาต้า เซ็นเตอร์ที่อินโดนีเซียไปแล้ว จึงได้เข้าสอบถามว่าต้องการให้รัฐบาลไทยสนับสนุนด้านใดเพิ่มเติม

ทั้งนี้อเมซอนได้สอบถามถึงความพร้อมด้านระบบสาธารณูปโภค ไฟฟ้า น้ำ โครงข่ายโทรคมนาคม โดยเฉพาะไฟฟ้า เน้นการใช้ไฟฟ้าจากแหล่งผลิตที่เป็นพลังงานสะอาด พลังงานสีเขียว เพราะเป็นนโยบายหลักของอเมซอน ซึ่งกระทรวงดีอีเอสจะนำเรื่องดังกล่าวหารือกับกระทรวงพลังงานต่อไป

และจากความสนใจของนักลงทุนสหรัฐฯ ครั้งนี้ จึงมีแนวคิดที่จะตั้งสาขาสำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจ (ดีป้า) ณ เมืองซิลิคอน วัลเล่ย์ ประเทศสหรัฐฯ เพื่อทำงานใกล้ชิด ชักชวนนักลงทุนสหรัฐฯ โดยเฉพาะการไปลงทุนในไทยแลนด์ ดิจิทัล วัลเล่ย์ ซึ่งตั้งอยู่ที่ อำเภอศรีราชา จังหวัดชลบุรี

ขณะที่นายธานี ทองภักดี เอกอัครราชทูตไทย ณ กรุงวอชิงตัน ประจำสหรัฐอเมริกา กล่าวเสริมว่า นักลงทุน บริษัทชั้นนำในสหรัฐฯ แสดงความสนใจลงทุนในประเทศไทยต่อเนื่อง โดยเข้ามาสอบถามความคืบหน้าการลงทุนในโครงการที่เป็นโครงสร้างพื้นฐานของประเทศ อย่างต่อเนื่อง อาทิ การพัฒนาเขตเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (อีอีซี) โครงการรถไฟฟ้าเชื่อม 3 สนามบิน (ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา) ตลอดจนโครงสร้างพื้นฐานด้านดิจิทัล เป็นต้น

*******

รมว.ดีอีเอส ปิดท้ายว่า การโรดโชว์เพื่อชักชวนบริษัทยักษ์ใหญ่ด้านเทคโนโลยีมาลงทุนในประเทศไทย เป็นสิ่งจำเป็นและต้องดำเนินการอย่างต่อเนื่อง โดยมีแผนที่จะเดินทางไปจีน ญี่ปุ่น สหภาพยุโรป ด้วย.

ทีมเศรษฐกิจ


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ