ลงทุนระบบราง 1.1 ล้านล้าน วงเงินเทียบเท่ายักษ์จีน-ญี่ปุ่น

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลงทุนระบบราง 1.1 ล้านล้าน วงเงินเทียบเท่ายักษ์จีน-ญี่ปุ่น

Date Time: 6 ม.ค. 2563 08:57 น.

Summary

  • “ศักดิ์สยาม” โชว์แผนลงทุนระบบรางปี 2563 มูลค่ารวม 1.1 ล้านล้านบาท งบเทียบเคียงกับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและญี่ปุ่น มั่นใจกระตุ้นเศรษฐกิจ

Latest

จับโรงงานผลิตเหล็กเส้นคุณภาพต่ำ "เอกนัฏ" ส่ง "ชุดตรวจการณ์สุดซอย" รวบนอมินีจีน

ปู๊น ปู๊น “ศักดิ์สยาม” โชว์แผนลงทุนระบบรางปี 2563 มูลค่ารวม 1.1 ล้านล้านบาท งบเทียบเคียงกับประเทศยักษ์ใหญ่อย่างจีนและญี่ปุ่น มั่นใจกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างงาน สร้างอาชีพ โดยเมื่อเสร็จสิ้นจะช่วยลดต้นทุนขนส่งไม่ต่ำกว่า 30% ลดงบซ่อมบำรุงทางบกอีกไม่น้อยกว่า 30%

นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงแผนการดำเนินงานของกระทรวงคมนาคมในการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางที่จะเริ่มต้นขึ้นในปี งบประมาณ 2563 นั้น ภาพรวมจะพบว่า มีมูลค่าการลงทุนรวมกว่า 1.1 ล้านล้านบาท ซึ่งเมื่อเทียบกับผลิตภัณฑ์มวลรวมของประเทศ หรือจีดีพี (GDP) ที่ปัจจุบันอยู่ที่ประมาณ 16 ล้านล้านบาท มูลค่าการลงทุนในระบบรางจะอยู่ที่ 7% ของจีดีพีประเทศ โดยแบ่งเป็นการลงทุนในรถไฟฟ้า 8 เส้นทาง มูลค่ากว่า 314,601.26 ล้านบาท, รถไฟทางคู่ จำนวน 9 เส้นทาง มูลค่าลงทุน 425,529.47 ล้านบาท, รถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน มูลค่าลงทุนรวม 225,000 ล้านบาท และรถไฟความเร็วสูง กทม.-โคราช มูลค่าลงทุนรวม 179,000 ล้านบาท โดยถือเป็นการลงทุนครั้งใหญ่เทียบเท่าการลงทุนในระบบรางของประเทศจีนและญี่ปุ่น

สตาร์ตรถไฟฟ้าเพิ่ม 8 สายทั่วกรุง

สำหรับแผนโครงการลงทุนรถไฟฟ้าในปี 63 ที่จะต้องมีการเปิดประกวดราคาและก่อสร้าง มีทั้งสิ้น 8 เส้นทาง ระยะทางรวม 119 กม.วงเงินงบประมาณรวม 314,601.26 ล้านบาท ประกอบไปด้วย 1.รถไฟฟ้าแอร์พอร์ตลิงก์ ระยะทาง 21.80 กม. 2.รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม เส้นทาง รังสิต-มหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ศูนย์รังสิต ระยะทาง 8.84 กม.วงเงินงบประมาณรวม 6,570.40 ล้านบาท 3.รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน เส้นทางตลิ่งชัน-ศาลายา ระยะทาง 14.80 กม.วงเงินงบประมาณ 10,202.18 ล้านบาท 4.รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน เส้นทาง ตลิ่งชัน-ศิริราช ระยะทาง 5.70 กม. วงเงินงบประมาณ 6,645.03 ล้านบาท

และ 5.รถไฟฟ้าสายสีแดงเข้ม บางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 5.75 กม. วงเงินงบประมาณ 44,157.76 ล้านบาท (วงเงินรวมกับบางซื่อ-หัวหมาก) 6.รถไฟฟ้าสายสีแดงอ่อน บางซื่อ-มักกะสัน-หัวหมาก ระยะทาง 25.90 กม. วงเงินรวมกับ บางซื่อ-หัวลำโพง 7.รถไฟฟ้าสายสีม่วง เตาปูน- ราษฎร์บูรณะ ระยะทาง 23.60 กม.วงเงินรวม 124,958.62 ล้านบาท และ 8.รถไฟฟ้าสายสีส้ม ศูนย์วัฒนธรรมฯ-บางขุนนนท์ ระยะทาง 13.40 กม.วงเงินงบประมาณ 122,067.27 ล้านบาท

ทางคู่ได้ฤกษ์เปิดหวูดประมูล-สร้างทั่วไทย

นายศักดิ์สยาม กล่าวต่อว่า ส่วนแผนดำเนินการในโครงการลงทุนรถไฟทางคู่ในปี 63 ของการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) นั้นจะมีทั้งสิ้น 9 โครงการ ระยะทางรวม 2,161 กม. มูลค่าลงทุนรวม 425,529.47 ล้านบาท โดยแบ่งเป็นโครงการรถไฟทางคู่ที่อยู่ในขั้นตอนการประกวดราคาและเตรียมก่อสร้าง จำนวน 2 โครงการระยะทาง 678 กม. มูลค่าโครงการ รวม 153,310.33 ล้านบาท คือ 1.เส้นทางรถไฟทางคู่ เด่นชัย-เชียงราย-เชียงของ ระยะทาง 323 กม. มูลค่าโครงการรวม 85,345 ล้านบาท 2. เส้นทางรถไฟทางคู่ บ้านไผ่-มุกดาหาร-นครพนม ระยะทาง 355 กม. มูลค่าโครงการรวม 67,965.33 ล้านบาท

นอกจากนั้น จะมีรถไฟทางคู่อีก 7 เส้นทาง ระยะทางรวม 1,483 กม.วงเงินงบประมาณรวม 272,219.14 ล้านบาท ที่กระทรวงคมนาคมเตรียมขออนุมัติโครงการเพื่อดำเนินการในปี 63 ประกอบไปด้วย 1.เส้นทาง ขอนแก่น-หนองคาย ระยะทาง 167 กม. วงเงิน 26,663.36 ล้านบาท 2.เส้นทางชุมทางถนนจิระ-อุบลราชธานี ระยะทาง 308 กม. วงเงิน 37,527.10 ล้านบาท 3.เส้นทาง ปากน้ำโพ-เด่นชัย ระยะทาง 285 กม. วงเงิน 62,859.74 ล้านบาท 4.เส้นทาง เด่นชัย-เชียงใหม่ ระยะทาง 189 กม. วงเงิน 56,837.78 ล้านบาท 5.เส้นทางชุมพร-สุราษฎร์ธานี ระยะทาง 168 กม. วงเงิน 24,294.36 ล้านบาท 6.เส้นทาง สุราษฎร์ธานี-ชุมทางหาดใหญ่-สงขลา ระยะทาง 321 กม. วงเงิน 57,375.43 ล้านบาท 7.เส้นทาง ชุมทางหาดใหญ่-ปาดัง-เบซาร์ ระยะทาง 45 กม. วงเงิน 6,661.37 ล้านบาท

สร้างอาชีพในอุตสาหกรรมระบบราง

“เบื้องต้นงบลงทุนจะทำให้เกิดการใช้จ่ายในเรื่องการก่อสร้างมี supply chains ไม่น้อยกว่า 3-5 เท่าของเงินงบประมาณเบิกจ่ายในแต่ ละปี นอกจากนั้น เมื่อโครงการแล้วเสร็จ จะทำให้ต้นทุนการขนส่งลดลงไม่ต่ำกว่า 30% และยังช่วยทำให้งบประมาณที่จะใช้ซ่อมบำรุงทางบก ลดลง ไม่น้อยกว่า 30% ด้วย”

ขณะเดียวกันยังช่วยให้เกิดการจ้างแรงงานในระบบรางและสร้างงาน พัฒนาบุคลากรในอุตสาห- กรรมระบบรางมากขึ้น ซึ่งจะเห็นได้ว่าในปัจจุบันมีการซ่อมบำรุงในอุตสาหกรรมระบบรางกว่า 9,600 ล้านบาท หากมีการลงทุนในอีก 5 ปีข้างหน้าจะเกิดการสร้างงาน ซ่อมบำรุงในระบบอุตสาหกรรมระบบรางอีกกว่า 14,000 ล้านบาท โดยเมื่อมีโครงข่ายระบบรางที่ครอบคลุมในทุกมิติ จะช่วยลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้นจากการเดินทางได้

นอกจากนั้น ในส่วนของภาครัฐ เมื่อมีแผนที่จะพัฒนาลงทุนโครงสร้างพื้นฐานระบบรางแล้ว สิ่งที่สำคัญคือ ภาครัฐจะต้องเร่งสร้างความเข้าใจกับประชาชนถึงความจำเป็นที่ภาครัฐต้องลงทุน ซึ่งในส่วนนี้อาจจะกระทบต่อวิถีชีวิตความเป็นอยู่ของชุมชน ทั้งในเรื่องของจุดตัด จุดลักผ่านของรถไฟ หรือการกั้นรั้วของเขตทาง เพื่อลดอุบัติเหตุที่จะเกิดขึ้น ส่วนเรื่องที่ต้องเร่งทำในขั้นต่อไปคือ การบริหารจัดการระบบรางให้มีประสิทธิภาพ ทั้งในเรื่องของการพัฒนาเทคโนโลยี ระบบควบคุม และการกำกับดูแลมาตรฐานความปลอดภัย ซึ่งกรมการขนส่งทางรางจะเข้ามาทำหน้าที่

ย้อนรอย 7 สายที่เปิดบริการไปแล้ว

สำหรับเส้นทางรถไฟฟ้าที่อยู่ในความรับผิดชอบของการรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) ที่ได้เปิดให้บริการไปแล้วมีทั้งหมด 7 เส้นทางรวมระยะทางทั้งสิ้น 153.80 กม.ประกอบด้วย เส้นทางรถไฟฟ้าสายสีม่วง 1.เส้นทาง บางใหญ่-เตาปูน ระยะทาง 23 กม., รถไฟฟ้า สายสีเขียว 2.เส้นทาง หมอชิต-สมุทรปราการ ระยะทาง 37.10 กม., 3.
เส้นทาง หมอชิต-ม.เกษตรศาสตร์ ระยะทาง 4 กม., 4.เส้นทาง สนามกีฬาแห่งชาติ-บางหว้า ระยะทาง 14 กม., รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน, 5.เส้นทาง เตาปูน-บางซื่อ-หัวลำโพง ระยะทาง 21 กม., 6.เส้นทาง หัวลำโพง-บางแค (หลักสอง) ระยะทาง 14 กม. และ 7.เส้นทาง เตาปูน-ท่าพระ 12 กม. ส่วนรถไฟทางคู่เส้นทางที่เปิดให้บริการแล้วคือ เส้นทาง หัวหิน-ประจวบคีรีขันธ์ ระยะทาง 84 กม.

ทั้งนี้ ปัจจุบันรถไฟไทยมีให้บริการครอบคลุมใน 47 จังหวัด ระยะทางรวมทั้งสิ้น 4,044 กม. โดยเป็นรถไฟที่วิ่งให้บริการไปยังสายเหนือ 781 กม. ไปยังภาคใต้ 1,570 กม., วิ่งให้บริการไปยังสายตะวันออกเฉียงเหนือ 1,094 กม., วิ่งให้บริการไปยังสายตะวันออก 534 กม. และวิ่งให้บริการไปยังสายแม่กลอง 65 กม. ซึ่งจากระยะทางทั้งหมดในประเทศไทยนั้น ได้แบ่งเป็นรถไฟทางเดี่ยวกว่า 83.93% ระยะทาง 3,394 กม., รถไฟทางคู่ มีสัดส่วนที่ 13.43% ระยะทาง 543 กม. และเป็นรถไฟทางสาม สัดส่วนที่ 2.64% ระยะทางรวม 107 กม.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ