ปีนี้แล้งหนัก!ใช้น้ำอย่างประหยัด

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ปีนี้แล้งหนัก!ใช้น้ำอย่างประหยัด

Date Time: 4 ม.ค. 2563 06:15 น.

Summary

  • นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปี 2563 จะแล้งยาวไปถึง พ.ค แต่ยืนยันจะมีไม่ปัญหาน้ำอุปโภค บริโภคตลอดปี ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานต้องดำเนินตามแผนบริหารจัดการของกรมชลประทาน

Latest

Foxsemicon ยักษ์ใหญ่ไต้หวัน ทุ่มเงินกว่า 1 หมื่นล้าน ตั้งฐานผลิต “เซมิคอนดักเตอร์" ในประเทศไทย

นายเฉลิมชัย ศรีอ่อน รมว.เกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า ปี 2563 จะแล้งยาวไปถึง พ.ค แต่ยืนยันจะมีไม่ปัญหาน้ำอุปโภค บริโภคตลอดปี ทั้งนี้ ทุกหน่วยงานต้องดำเนินตามแผนบริหารจัดการของกรมชลประทานอย่างเข้มงวด ปัจจุบันสภาพฝนมีความผันแปรสูงมาก ส่งผลกระทบต่อปริมาณน้ำท่าและน้ำในแหล่งเก็บกักน้ำโดยเฉพาะปี 2562 ลุ่มน้ำเจ้าพระยามีปริมาณน้ำไม่เพียงพอต่อความต้องการ มีการใช้น้ำเกินแผนที่ได้จัดสรรไว้ทำให้เกิดปัญหาการรุกล้ำของน้ำเค็ม ส่งผลต่อระบบนิเวศและคุณภาพน้ำด้านเกษตรกรรม-อุปโภคบริโภค จึงมีแผนผันน้ำจากลุ่มน้ำแม่กลองมาลุ่มน้ำเจ้าพระยาตอนล่างในฤดูแล้ง ปี 2562/2563 จำนวน 850 ล้านลูกบาศก์เมตร (ลบ.ม.)

พร้อมกันนี้จะก่อสร้างแหล่งน้ำขนาดใหญ่ ขนาดกลาง ขนาดเล็กและแก้มลิง เพื่อเพิ่มพื้นที่เก็บกักน้ำ โดยปี 2563 รวม 421 โครงการ เมื่อดำเนินการแล้วเสร็จจะเพิ่มพื้นที่ชลประทาน 1.23 ล้านไร่ และปริมาตรเก็บกัก 942 ล้าน ลบ.ม. สำหรับปี 2563 โครงการที่ดำเนินการแล้วเสร็จจะได้พื้นที่ชลประทาน 176,968 ไร่ และปริมาตรน้ำเก็บกัก 199.54 ล้าน ลบ.ม. นอกจากนี้ ยังเตรียมขุดสระน้ำในไร่นานอกเขตชลประทาน ขนาด 1,260 ลบ.ม.ให้เกษตรกรที่ขอรับการสนับสนุนทั่วประเทศ 40,000 บ่อ เพื่อกักเก็บน้ำ บรรเทาและชะลอความแห้งแล้ง ให้เกษตรกรมีน้ำไว้ใช้ในช่วงฤดูแล้ง สำหรับปลูกพืชผักแบบผสมผสาน เลี้ยงปลา ตกกล้า ซึ่งเป็นการทำการเกษตรแบบใช้น้ำน้อย

“สถานการณ์ภัยแล้งที่คาดการณ์ว่าจะมีความรุนแรงต่อเนื่องไปถึงเดือน ก.ค.2563 ล่าสุดทราบมาว่า พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี และ รมว.กลาโหม จะจัดซื้อเครื่องบินฝนหลวง 1 ลำ เพื่อเสริมปฏิบัติการฝนหลวงเพื่อช่วยเหลือพื้นที่เพาะปลูกพืช ป่าไม้ และเพิ่มน้ำในเขื่อนและอ่างเก็บน้ำ”

นายทองเปลว กองจันทร์ อธิบดีกรมชลประทาน กล่าวว่า ตามแผนการใช้น้ำช่วงฤดูแล้งจะให้ความสำคัญกับการอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศเป็นหลัก คาดว่าจะมีความต้องการใช้น้ำ รวม 17,699 ล้าน ลบ.ม. ตลอดช่วงแล้ง อย่างไรก็ตาม บางช่วงจะมีน้ำทะเลหนุนสูง ทำให้ต้องระบายน้ำจากเขื่อนชัยนาทเพื่อเจือจาง จึงต้องเฝ้าระวังค่าความเค็มที่จะเพิ่มขึ้น ปัจจุบันได้ระบายน้ำจากเขื่อนภูมิพลและสิริกิติ์มารอไว้ที่เขื่อนชัยนาท ส่วนการป้องกันน้ำสูญหายระหว่างทาง กรมชลประทานได้ประสานไปยังท้องถิ่นให้ช่วยดูแล นอกจากนี้ ได้ใช้เครื่องผลักดันน้ำเข้ามาช่วยเพื่อดันน้ำให้ไหลเร็วและแรงขึ้น ให้มาถึงหน้าเขื่อนชัยนาทให้เร็วที่สุด.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ