กกร.รับสภาพจีดีพีปีนี้หลุดเป้า วอนรัฐออกมาตรการเร่งแก้ไข 

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

กกร.รับสภาพจีดีพีปีนี้หลุดเป้า วอนรัฐออกมาตรการเร่งแก้ไข 

Date Time: 5 ก.ย. 2562 07:30 น.

Summary

  • กกร.รับจีดีพีปีนี้จ่อหลุดจากเป้า 2.9-3.3% จากความกังวลเงินบาทแข็งค่ากว่าชาวบ้าน วอนรัฐออกมาตรการแก้ปัญหาด่วนก่อนภาคส่งออกจะถูกกระทบตามและฉุดจีดีพีให้ลดลงอีก

Latest

“SME ไทย” ท้าทายรอบด้าน ตามกระแสนิยมไม่ทัน ทยอยปิดกิจการ ภาคเหนือ - อีสาน มากสุด

กกร.รับจีดีพีปีนี้จ่อหลุดจากเป้า 2.9-3.3% จากความกังวลเงินบาทแข็งค่ากว่าชาวบ้าน วอนรัฐออกมาตรการแก้ปัญหาด่วนก่อนภาคส่งออกจะถูกกระทบตามและฉุดจีดีพีให้ลดลงอีก ขณะที่เศรษฐกิจไทยยังมีความเปราะบางกับปัญหาจากต่างประเทศ สงครามการค้าโลกต้องตามติดอย่างใกล้ชิด

นายปรีดี ดาวฉาย ประธานสมาคมธนาคารไทย ในฐานะประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เปิดเผยว่า ที่ประชุมกกร.ยอมรับว่าอัตราการเติบโตของผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (จีดีพี) ของภาวะเศรษฐกิจไทยในปีนี้ มีโอกาสเติบโตต่ำกว่าปัจจุบัน ที่ประเมินไว้ที่ 2.9-3.3% ส่วนหนึ่งมีความกังวลจาก ปัญหาการแข็งค่าของเงินบาท ที่แข็งค่ากว่าค่าเงินสกุลอื่นๆ ในภูมิภาค และมีแนวโน้มแข็งค่าต่อเนื่อง จึงอยากให้ภาครัฐออกมาตรการเพื่อดูแลการแข็งค่าของเงินบาทโดยเร็วที่สุด เพราะหากปล่อยให้สภาวการณ์เป็นเช่นนี้ต่อไป จะส่งผลกระทบต่อส่งออกลดลงตามไปด้วย จากที่คาดการณ์การส่งออกตลอดทั้งปีนี้ไว้ที่ติดลบ 1% ถึงโต 1% และฉุดจีดีพีที่คาดว่าจะเติบโตต่ำกว่าเป้าหมายอยู่แล้ว ให้มีโอกาสลดลงได้อีก

ทั้งนี้ กกร.มองระยะเวลา ในช่วงที่เหลือของปีนี้ว่า ภาวะเศรษฐกิจไทยยังอยู่ท่ามกลางความกดดันต่างๆ ทั้งจากภาคต่างประเทศ ซึ่งเป็นผลกระทบมาจากการชะลอตัวลงของเศรษฐกิจโลก สงครามการค้าระหว่างสหรัฐฯกับจีน และปัญหาการค้าระหว่างญี่ปุ่นกับเกาหลีใต้ ความเสี่ยงจากประเด็นที่อังกฤษจะถอนตัวออกจากสมาชิกสหภาพยุโรป (อียู) รวมทั้งการแข็งค่าของเงินบาทอย่างต่อเนื่อง ส่งผลกระทบต่อการส่งออกและการท่องเที่ยวของไทย ขณะเดียวกัน การใช้จ่ายภายในประเทศก็ถูกกระทบจากสถานการณ์ภัยแล้ง ฝนทิ้งช่วง และล่าสุดเหตุการณ์น้ำท่วมในหลายจังหวัดในภาคเหนือและภาคตะวันออกเฉียงเหนือ

ดังนั้น ปัจจัยดังกล่าว จึงเป็นปัจจัยเสี่ยงที่กกร.ยังต้องติดตามอย่างใกล้ชิด เพื่อประเมินผลกระทบประกอบการพิจารณาอีกครั้งในการประชุมรอบถัดไปในเดือน ต.ค.นี้ โดยมองว่าการลดอัตราดอกเบี้ยนโยบายลงอีกจาก 1.25% เพื่อหวังจะช่วยชะลอการไหลเข้าของเงินทุนต่างชาติ อาจไม่สามารถตอบโจทย์เรื่องลดแรงกดดันต่อการแข็งค่าเงินบาทได้ทั้งหมด เพราะการแข็งค่าของเงินบาทขึ้นอยู่กับหลายปัจจัย เช่น พื้นฐานเศรษฐกิจไทยแข็งแกร่ง เห็นได้จากดุลบัญชีเดินสะพัดที่ยังเกินดุล ทำให้มีเงินเข้ามาลงทุนต่อเนื่อง เป็นต้น

นายสุพันธุ์ มงคลสุธี ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่า ขณะนี้จะเห็นค่าเงินบาทแข็งค่าขึ้นต่อเนื่องและแข็งค่า ค่อนข้างมากเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดยแข็งค่าขึ้น 14% เมื่อเทียบค่าเงินวอนของประเทศเกาหลีใต้ และแข็งค่ากว่า 10% เทียบกับค่าเงินหยวนของจีน ขณะที่ค่าเงินดองของเวียดนาม ทรงตัว ที่ประชุมจึงเห็นควร ต้องกลับไปเร่งศึกษาหาข้อมูลที่ชัดเจน ถึงปัญหาและแนวทางแก้ปัญหาเพื่อรีบนำกลับมาเสนอรัฐบาล และธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) พิจารณาเพิ่มเติมเกี่ยวกับมาตรการผ่อนคลาย การแข็งค่าของเงินบาท

“ทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องต้องคุยกันถึงแนวทางรับมือกับปัญหา ซึ่งเราอาจใช้จังหวะที่เงินบาทแข็งค่านี้สนับสนุนให้มีการออกไปลงทุนในต่างประเทศให้มากขึ้นด้วย รวมถึงการออกพันธบัตรที่ต้องทำโดยเร็ว อีกทั้งในส่วนของการจัดตั้งคณะกรรมการร่วมเพื่อดูแลด้านเศรษฐกิจ โดยเฉพาะนโยบายด้านการเงิน ซึ่งประกอบด้วยองค์กรอิสระต่างๆที่ภาครัฐมีแนวทางในการ จัดตั้งนั้น ในส่วนของ กกร. มีความเห็นว่าควรจะดึงภาคเอกชนเข้าไปมีส่วนร่วม เพื่อเสนอในมุมมองของภาคเอกชนด้วย”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ