ถึงวันที่ “เอสเอ็มอีไทย” ลืมตาอ้าปาก พบเหตุไม่โตเพราะเข้าไม่ถึงนวัตกรรมใหม่

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

Author

กองบรรณาธิการ

Tag

ถึงวันที่ “เอสเอ็มอีไทย” ลืมตาอ้าปาก พบเหตุไม่โตเพราะเข้าไม่ถึงนวัตกรรมใหม่

Date Time: 4 ก.ย. 2562 08:01 น.

Summary

  • แนะเอสเอ็มอีไทยต้องใส่ใจนวัตกรรม 3 รูปแบบ พร้อมโชว์ 50 ผลงาน วิจัยฝีมือคนไทยที่สามารถต่อยอดได้จากมูลค่าเพียง 60 ล้านบาท

Latest

วันนี้เคาะแจกเงินหมื่น "ดิจิทัลวอลเล็ต" เฟสแรก “พิชัย” คาดกองทุนซื้อคืนรถไฟฟ้าใช้เงิน 3 แสนล้าน



แนะเอสเอ็มอีไทยต้องใส่ใจนวัตกรรม 3 รูปแบบ พร้อมโชว์ 50 ผลงาน วิจัยฝีมือคนไทยที่สามารถต่อยอดได้จากมูลค่าเพียง 60 ล้านบาท

นายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รมว.อุตสาหกรรม เปิดเผยว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม (กสอ.) ได้ทำรายงานวิเคราะห์สาเหตุที่ทำให้เอสเอ็มอีไทย ยังไม่สามารถเข้าถึงการพัฒนาธุรกิจด้วยนวัตกรรม และงานวิจัยได้ว่า มีปัจจัยอยู่ 5 ประการหลักคือ 1.ขาดความรู้ โดยเฉพาะเรื่องของการเผยแพร่ข้อมูลข่าวสาร ทั้งจากภายในและต่างประเทศ เช่น ข่าวรายวัน ผลงานวิจัยใหม่ๆ และการศึกษาข้อมูลตัวอย่างของผู้ประกอบการต้นแบบที่ประสบความสำเร็จ ฯลฯ

2.ขาดเงินทุน เนื่องจากงานวิจัยหรือนวัตกรรมมีต้นทุนที่สูง 3.ขาดเครือข่ายเชื่อมโยงไม่ว่าจะเป็นสถาบันการเงิน หรือสถาบันการศึกษา จึงยังทำให้ไม่มีโอกาสในการร่วมกันพัฒนานวัตกรรม หรือนำผลงานวิจัยไปใช้ประโยชน์ในเชิงพาณิชย์ 4.ขาดกำลังคน ทั้งที่เป็นบุคลากรที่มีความรู้ในสถานประกอบการ, ขาดเครื่องมือ, ขาดระบบดิจิทัล และเทคโนโลยีที่ทันสมัย และ 5.พัฒนานวัตกรรมใหม่ๆส่วนใหญ่ยังอยู่แต่ในส่วนกลางหรือหัวเมือง จึงทำให้ผู้ประกอบการในระดับภูมิภาคติดอยู่กับรูปแบบธุรกิจเดิมๆ และไม่สามารถพัฒนานวัตกรรมใหม่ๆได้

ดังนั้น ผู้ประกอบการที่ต้องการเติบโตจึงต้องให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรม และงานวิจัย 3 ด้าน คือ 1.พัฒนานวัตกรรมสินค้า และบริการที่เป็นสิ่งใหม่และไม่คุ้นเคย 2.พัฒนานวัตกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิตให้มีประสิทธิภาพ 3.พัฒนางานวิจัยและนวัตกรรม โดย ล่าสุด กสอ.ได้จัดกิจกรรม “Research Connect หรือตลาดต่อยอดงานวิจัยสู่อุตสาหกรรม” เพื่อส่งเสริมให้เกิดการใช้ประโยชน์จากเทคโนโลยี งานวิจัย นวัตกรรมระหว่างผู้พัฒนากับผู้ประกอบการ พร้อมต่อยอดสู่เชิงพาณิชย์ โดยล่าสุดจัดทำได้สำเร็จแล้วรวม 50 ผลงานวิจัย และนวัตกรรมใน 4 กลุ่ม ได้แก่ กลุ่มเกษตรและอาหารแปรรูป กลุ่มพลังงานและสิ่งแวดล้อม กลุ่มการแพทย์ และสุขภาพ และกลุ่มซอฟต์แวร์และดิจิทัล

แม้ว่าขณะนี้ผู้ประกอบการจะเริ่มหันมาให้ความสำคัญกับการลงทุนด้านการพัฒนานวัตกรรมและงานวิจัยเพิ่มมากขึ้น แต่เมื่อเทียบสัดส่วนดังกล่าวกับจำนวนเอสเอ็มอีที่มีอยู่ในประเทศไทย 3 ล้านรายแล้ว กลับพบว่า มีไม่ถึง 1% หรือไม่ถึง 30,000 ราย ที่มีการใช้งานวิจัย และนวัตกรรมเข้ามาเปลี่ยนแปลงธุรกิจ เพราะการยกระดับเอสเอ็มอีด้วยงานวิจัยและนวัตกรรม นั้น ไม่เพียงแต่จะทำให้ธุรกิจอยู่รอด หรือสู้กับคู่แข่งได้ แต่ยังเป็นการปูทางไปสู่ความสำเร็จเช่นเดียวกับอุตสาหกรรมขนาดใหญ่ด้วย

ดังนั้น เอสเอ็มอีไทยจะต้องมีการปรับตัวในหลายๆองค์ประกอบ อาทิ พัฒนานวัตกรรมการผลิตสินค้า และบริการที่เป็นสิ่งใหม่ๆและไม่คุ้นเคย เพื่อทำให้เอสเอ็มอีผลิตสินค้าที่แปลกใหม่ไม่ซ้ำกับสินค้า หรือบริการประเภทเดียวกัน เพื่อสร้างความประทับใจให้แก่ผู้บริโภค และมีความก้าวล้ำเหนือคู่แข่ง เป็นต้น ขณะเดียวกันก็ต้องเน้นนวัตกรรมที่เกี่ยวกับกระบวนการผลิต โดยอาศัยเครื่องมือต่างๆที่มีความทันสมัย สามารถประยุกต์เทคโนโลยีใหม่ๆ เพื่อยกระดับประสิทธิภาพ และความสามารถในการผลิต รวมทั้งลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม อาทิ การนำระบบอัตโนมัติเข้ามา ใช้ในกระบวนการผลิต การใช้พลังงานทดแทน นวัตกรรมเพื่อการลดต้นทุน เป็นต้น

นอกจากนี้ ยังจะต้องมีการพัฒนาวิจัย และนวัตกรรมทางการตลาดซึ่งเป็นการผสมผสานระหว่างการใช้เทคโนโลยีและความคิดสร้างสรรค์เพื่อสร้างการเติบโตทางธุรกิจแบบก้าวกระโดด โดยไม่จำเป็นต้องลงทุนมหาศาลเพื่อดึงดูดผู้บริโภคให้หันมาใช้ผลิตภัณฑ์และบริการ เช่น การมีระบบจัดเก็บข้อมูล (บิ๊กดาต้า) การใช้โซเชียล-มีเดีย การมีระบบสื่อสารใหม่ๆทั้งทางตรงและทางอ้อมกับผู้บริโภค เป็นต้น

สำหรับผลงานวิจัยและนวัตกรรม กลุ่มที่ประสบความสำเร็จจากโครงการดังกล่าวขณะนี้ มีกลุ่มเกษตรและอาหารแปรรูป กลุ่มพลังงาน และสิ่งแวดล้อม กลุ่มการแพทย์และสุขภาพและกลุ่มซอฟต์แวร์และดิจิทัล อาทิ หลอดกินได้จากข้าว และพืช, ดินปลูกต้นไม้ไม่ต้องรดน้ำ, โปรตีนจากข้าวเพื่อทดแทนเนื้อสัตว์, เครื่องเติมอากาศประหยัดพลังงานแบบไฮบริด, นวัตกรรมผลิตภัณฑ์ต้นแบบจากสารสกัดกัญชาซึ่งถือเป็นสาขาอุตสาหกรรมที่มีแนวโน้มเติบโต และสร้างมูลค่าได้อย่างมหาศาลในอนาคต และยังมีมูลค่าทางเศรษฐกิจรวมกันแล้วไม่ต่ำกว่า 60 ล้านบาท.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ