ฝากการบ้านรัฐบาลชุดใหม่ สศช.ชี้การพัฒนาคนทุกรุ่นยังเป็นจุดอ่อนประเทศ

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ฝากการบ้านรัฐบาลชุดใหม่ สศช.ชี้การพัฒนาคนทุกรุ่นยังเป็นจุดอ่อนประเทศ

Date Time: 4 ก.ค. 2562 07:25 น.

Summary

  • “วิษณุ” ย้ำ 5 ปีของรัฐบาล ทำงานเต็มพิกัด ทำให้ประเทศไทยมีอันดับขีดความสามารถของการแข่งขันของประเทศดีขึ้น ขอฝากการบ้าน 5 ข้อให้รัฐบาลชุดใหม่สานต่อ “ไอเอ็มอี” ชี้คนยุคใหม่มีเวลาทำงานน้อยลง

Latest

บอร์ดอีวีไฟเขียวลดภาษีสรรพสามิต ถึงคิวรถยนต์ไฮบริดบูม

“วิษณุ” ย้ำ 5 ปีของรัฐบาล ทำงานเต็มพิกัด ทำให้ประเทศไทยมีอันดับขีดความสามารถของการแข่งขันของประเทศดีขึ้น ขอฝากการบ้าน 5 ข้อให้รัฐบาลชุดใหม่สานต่อ “ไอเอ็มอี” ชี้คนยุคใหม่มีเวลาทำงานน้อยลงแต่ทำงานหลายๆอย่างมากขึ้น และเลือกงานมากขึ้น สศช.เผยการพัฒนาคนทุกรุ่นยังเป็นจุดอ่อนของประเทศไทย

นายวิษณุ เครืองาม รองนายกรัฐมนตรี กล่าวเปิดงานและปาฐกถาพิเศษในงานสัมมนา Thailand Competitiveness Conference 2019 : Rathinking the Future ที่สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) ร่วมกับสมาคมการจัดการธุรกิจแห่งประเทศไทย (TMA) จัดขึ้นว่า 10 ปีที่ผ่านมา ประเทศไทยได้พัฒนาเพิ่มศักยภาพ การแข่งขันของประเทศมากขึ้น จนได้รับการจัดอันดับขีดความสามารถการแข่งขันของประเทศ ที่จัดโดยสถาบันการจัดการนานาชาติ (IMD) และได้รับการจัดอันดับที่ดีขึ้น 5 อันดับ มาอยู่ที่ 25 ซึ่งยอมรับความจริงว่าในระยะ 5 ปีของการทำงานของรัฐบาล แม้ทำเต็มที่แล้ว แต่ยังมีอีกหลายเรื่องที่ต้องปรับปรุงให้ดีขึ้นเช่น การ ลงทุนโครงสร้างพื้นฐานทางเศรษฐกิจ ที่ยังไม่สอดรับกับเทคโนโลยีและนวัตกรรมที่เปลี่ยนแปลงอย่างรวดเร็ว

“การพัฒนาขีดความสามารถทางการแข่งขัน รัฐบาลต้องร่วมมือกับภาคเอกชน และประชาชน หรือที่เรียกว่าการทำงานแบบ “ประชารัฐ” คือรัฐบาลทำงานร่วมกับประชาชน และการที่รัฐบาลชุดนี้กำลังจะหมดวาระลง ผมก็ยังเชื่อมั่นว่า งานที่ได้ทำมา สามารถส่งไม้ต่อไปยังรัฐบาลใหม่ให้ทำต่อไปได้ตาม ตามปกติ”

ดังนั้น จึงขอส่งมอบ 5 เรื่องสำคัญ คือ 1. การพัฒนาต่อยอด จากศักยภาพที่มีอยู่เดิมให้มากขึ้น เช่น ทรัพยากรธรรมชาติ 2. พัฒนาโครงสร้างพื้นฐานให้พร้อม เพื่อเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน 3. พัฒนาคน โดยเฉพาะคนที่จะเข้าสู่ระบบการแข่งขันภาคเศรษฐกิจได้แก่ เอสเอ็มอี, ธุรกิจสตาร์ตอัพและคนวัยเรียน 4. การพัฒนาการบริหารจัดการภาครัฐ โดยเฉพาะกฎหมายและระเบียบต่างๆ 5. ความร่วมมือร่วมใจจากทุกฝ่ายในรูปแบบ “ประชารัฐ”

นายอาร์ทูโร บริส ผู้อำนวยการประจำศูนย์กลางด้านการแข่งขันโลก สถาบันไอเอ็มดี กล่าวว่า โลกกำลังเข้าสู่ยุคของการเปลี่ยนแปลง อย่างรวดเร็ว โดยเฉพาะการใช้ชีวิตและการทำงาน ของประชาชน ที่นำเอาเทคโนโลยีมาใช้มากขึ้น ทำให้คนยุคใหม่ มีช่วงเวลาทำงานน้อยลง แต่ทำงานหลายๆ อย่าง โดยที่ไม่จำกัดว่าต้องเป็นงานประจำ แต่ต้องการมีส่วนร่วมในสังคมมากขึ้น ผ่านสังคมโซเชียลมีเดีย ดังนั้น รายได้หรือค่าตอบแทนของคนรุ่นใหม่จะไม่ได้สูงมากนัก แต่มีความสุขกับการงานทำงาน และตัวเองมากขึ้น และการทำงานธุรกิจในอนาคตจะต้องเปลี่ยนแปลง ให้ทันกับพฤติกรรมของคน ที่เลือกงานมากขึ้น โดยจะไม่ทำงานที่ไม่ชอบอีกต่อไป

นายอิสระ ว่องกุศลกิจ ประธานกิตติมศักดิ์หอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย กล่าวว่า ภาคเอกชนต้องหันมาให้ความสำคัญ กับการเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขัน โดยประธานสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ควรตั้งวงหารือกับประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เพื่อคิดแก้ปัญหานี้ร่วมกัน โดยใช้มหาวิทยาลัย เป็นตัวกลางในการจัดทำหลักสูตรดังกล่าว และภาคเอกชนต้องช่วยเหลือตัวเองอย่าไปรอรัฐบาล แต่ปัญหาของเอกชน คือเรื่องของทัศนคติที่ไม่สู้ ไม่ยอมปรับตัวเองไปแข่งขัน ทั้งๆ ขีดความสามารถในการแข่งขัน ถ้าไม่ปรับปรุงเปลี่ยนแปลงตัวเองจะไม่สามารถสู้ประเทศอื่นๆ ได้

นายทศพร ศิริสัมพันธ์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) กล่าวว่า สศช.ต้องการให้ภาคธุรกิจ ปรับปรุงตัวรองรับการเปลี่ยนแปลง ต้องคิดแนวทางการบริหารจัดการธุรกิจใหม่ๆให้มีประสิทธิภาพ ต้องบริหารจุดแข็งให้มากขึ้น โดยเฉพาะจุดแข็งของประเทศไทยที่มีอยู่ เพื่อให้การจัดอันดับครั้งต่อไปมีอันดับที่ดีขึ้น รวมทั้งปรับปรุงจุดอ่อน โดยเฉพาะเรื่องการพัฒนาคน เพราะไทยยังมีปัญหาเรื่องนี้ ตั้งแต่เด็กวัยเรียน อาชีวะ มหาวิทยาลัย รวมไปถึงการเตรียมความพร้อม จนถึงวัยสูงอายุ โดยต้องขอความร่วมมือกับภาคเอกชน และ สศช.ก็พร้อมร่วมมือหาทางแก้ปัญหาด้านต่างๆ ของภาคเอกชน ผ่านกลไกของคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.)

นายเทวินทร์ วงศ์วานิช ประธาน TMA Center for Compettitiveness กล่าวว่า ขณะนี้เราได้เห็นภาคธุรกิจถูกคุกคาม (disruption) จากการพัฒนาเทคโนโลยีจนล้มหายตายจากไปเลย แต่ในเชิงประเทศจะไม่รวดเร็วขนาดนั้นแต่หากเราไม่พัฒนาตัวเอง ก็จะสู้ประเทศอื่นๆ ไม่ได้และจะล้มละลาย เช่น บางประเทศ ที่ยังบริหารแบบเดิมๆ ที่ไม่ทันการเปลี่ยนแปลงของโลก.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ