นายจุฬา สุขมานพ ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า กพท.มีแผนจะปรับปรุงแก้ไขประกาศกระทรวงคมนาคม เรื่องหลักเกณฑ์การขออนุญาตและเงื่อนไขในการบังคับหรือปล่อยอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินประเภทอากาศยานที่ควบคุมการบินจากภายนอก (โดรน) พ.ศ.2558 เพื่อให้รายละเอียดเรื่องต่างๆ มีความเป็นสากล ทันสมัย และสอดคล้องกับแนวทางขององค์การการบินพลเรือนระหว่างประเทศ (ไอเคโอ) ซึ่งขณะนี้ทราบว่า ไอเคไอได้จัดทำเสร็จเรียบร้อยแล้ว อยู่ระหว่างประกาศใช้ ทั้งนี้ กพท. ตั้งเป้าว่าจะพยายามปรับแก้ประกาศกระทรวงคมนาคมให้แล้วเสร็จ และมีผลบังคับใช้ภายในปี 62
สำหรับแนวทางการปรับแก้ประกาศเบื้องต้นจะกำหนดให้ผู้บังคับโดรนมีพื้นที่ที่สามารถทำการบินได้เลย โดยไม่ต้องยื่นคำขอใบอนุญาตมาที่ กพท. เหมือนในปัจจุบัน ซึ่งจะทำให้การบริหารจัดการง่าย และสะดวกมากขึ้น รวมทั้งผู้บังคับโดรนที่ไม่มีใบอนุญาตก็ไม่ต้องหลบๆซ่อนๆอีกต่อไป อีกทั้งในหลายประเทศก็เริ่มดำเนินการในลักษณะนี้แล้ว บางประเทศแบ่งชัดเจนเลยว่า โดรนแบบใดต้องดูแลหรือไม่ต้องดูแล อย่างไรก็ตาม สำหรับรายละเอียดต่างๆ อาทิ พื้นที่ใดบ้าง ขนาดของโดรนเป็นเท่าใด และบินได้ที่ความสูงเท่าใดนั้น อยู่ระหว่างการพิจารณา เมื่อได้ข้อสรุปแล้วจะเปิดประชาพิจารณ์รับฟังความคิดเห็นจากผู้ที่เกี่ยวข้อง ก่อนประกาศใช้ต่อไป
นายจุฬา กล่าวอีกว่า ขณะนี้มีผู้บังคับโดรนทั้งแบบบุคคลธรรมดา และนิติบุคคล เข้ามายื่นคำขอใบอนุญาตอย่างต่อเนื่อง โดยเฉพาะผ่านทางออนไลน์เว็บไซต์ www.caat.or.th/uav ปัจจุบัน กพท.ออกใบอนุญาตไปแล้วกว่า 7,000 ราย ส่วนใหญ่จะใช้ในการถ่ายภาพ ถ่ายวิดีโอและบางรายใช้ในงานเกษตร ไว้โปรยสารเคมี หรือปุ๋ย ซึ่งปัจจุบันโดรนเป็นที่นิยมของคนทั่วไป แต่ยอมรับว่าข้อกำหนดที่ระบุว่าผู้บังคับโดรนที่ติดกล้อง จะต้องยื่นขอใบอนุญาตจาก กพท.เป็นข้อจำกัดที่ทำให้ผู้บังคับโดรน โดยเฉพาะผู้ใช้งานประเภทสันทนาการบินโดรนเพื่อความสนุกสนาน ผ่อนคลาย เกิด ความเบื่อหน่ายกับการต้องมาทำเรื่องขอใบอนุญาตที่ต้องใช้เวลานานกว่าจะได้ทำการบินโดรน ซึ่งการปรับแก้ประกาศกระทรวงครั้งนี้จะช่วยตอบโจทย์คนกลุ่มนี้ได้มาก.