“เราจะทำงานในหน้าที่ให้ดีที่สุด” นี่คือคำพูดของพนักงาน “หัวเว่ย” ที่ตอบคำถามสื่อมวลชนไทยเกี่ยวกับประเด็นเด็ดเผ็ดร้อนที่เป็นข่าวดังไปทั่วโลก จากคำสั่งบริหารของประธานาธิบดีโดนัลด์ ทรัมป์ ที่ให้เอกชนสหรัฐฯ ยุติการทำธุรกิจกับบริษัทต่างชาติที่อาจเป็นภัยต่อความมั่นคงของประเทศ อันนำไปสู่การสิ้นสุดความเป็นพันธมิตรทางธุรกิจระหว่างหัวเว่ยและบริษัทคู่ค้าสัญชาติอเมริกัน
สัปดาห์ที่ผ่านมา หัวเว่ยเปิดแคมปัสแห่งใหม่ให้นักข่าวไทยได้เยี่ยมชม อันเป็นที่ตั้งของศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมด้านไอซีที (R&D) ซึ่งมีชื่อจีนว่า Xi Liu Bei Po Cun (ซี หลิว เป้ย โพ ชุน) ในเมืองตงกวน มณฑลกวางตุ้ง สาธารณรัฐประชาชนจีน อยู่ห่างจากเซินเจิ้น เดินทางราว 1 ชั่วโมง
หัวเว่ยใช้เงินลงทุนกว่า 100,000 ล้านหยวน หรือ 500,000 ล้านบาท (5 บาท : 1 หยวน) เนรมิตพื้นที่ 1.4 ล้านตารางเมตร ให้เป็นสถานที่ทำงานแห่งใหม่ ล้อมรอบไปด้วยอาคารที่ออกแบบดีไซน์ตามสถาปัตยกรรมของมหาวิทยาลัยชื่อดัง และเมืองดังๆหลายแห่งในสหภาพยุโรป ทั้งอิตาลี อังกฤษ ฝรั่งเศส รวมถึงมีพื้นที่สีเขียวที่เต็มไปด้วยต้นไม้ ดอกไม้นานาพันธุ์ จากทั่วโลกมาปลูกไว้ ณ ที่แห่งนี้
เพื่อสร้างบรรยากาศการทำงานให้กับนักวิจัยและพัฒนาของหัวเว่ยมากกว่า 25,000 คน จะได้มีไอเดียสร้างสรรค์ผลงาน สร้างนวัตกรรมใหม่ๆ
ภายใน Xi Liu Bei Po Cun แห่งนี้ มีสิ่งอำนวยความสะดวกสบายครบครัน ทันสมัยมีรถรางไว้คอยบริการรับ-ส่งพนักงานภายในแคมปัสนี้ด้วย โดยรถรางมีต้นแบบมาจากรถรางที่ใช้ตามชานเมืองในยุโรป
ขณะนี้เปิดให้บริการ 8 สถานี และในอนาคตจะขยายเพิ่มตามการใช้งานของพื้นที่ รวมถึงจะมีรถไฟฟ้าความเร็วสูงเชื่อมเมืองเซินเจิ้นกับเมืองตงกวนแห่งนี้ด้วย หากใครจะไปท่องเที่ยวชมความหรูหราของเมืองแห่งนี้ ต้องผ่านการรับรองจากพนักงานหัวเว่ยเท่านั้น และพนักงานสามารถพาครอบครัวไปเที่ยวชมที่ทำงานได้ในวันหยุด
ปัจจุบันพนักงานหัวเว่ยได้ย้ายเข้ามาทำงาน ณ ที่แห่งนี้แล้ว 15,000 คน และในปี 2563 (2020) จะย้ายพนักงานวิจัยและพัฒนาจากเมืองเซินเจิ้นทั้งหมดอีก 10,000 คน รวมเป็น 25,000 คน เข้ามาทำงานที่นี่ ส่วนสำนักงานที่เซินเจิ้นจะเหลือเพียงงานเอกสารเท่านั้น
การเข้าเยี่ยมชมศูนย์วิจัยและพัฒนานวัตกรรมแห่งนี้ เปรียบเสมือนการไปท่องเที่ยวหลายเมืองของยุโรป ทำให้เพลิดเพลินใจ ซึ่งหัวเว่ยเชื่อว่า บรรยากาศที่ดีจะช่วยทำให้พนักงานสร้างสรรค์งานที่ดีให้องค์กร
หลังจากนั้นได้เข้าเยี่ยมชมโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนหัวเว่ย รุ่น P30 ที่ขายดิบขายดีในหลายประเทศ รวมทั้งประเทศไทยด้วย การเข้าชมโรงงานผลิตสมาร์ทโฟนครั้งนี้ ต้องปฏิบัติตามกฎกติกาอย่างเคร่งครัด เพื่อความปลอดภัย ตั้งแต่เปลี่ยนชุดเป็นสาวโรงงานและที่สำคัญห้ามถ่ายรูป เพราะกระบวนการขั้นตอนการผลิตทุกชิ้นเป็นความลับ
โรงงานแห่งนี้ทำให้เห็นกระบวนการผลิต ตั้งแต่การประกอบชิ้นส่วนต่างๆ เริ่มจากชิ้นเล็กสุดไปจนถึงใหญ่สุด ทำงานด้วยเครื่องจักรกลอันทันสมัย โดยมีพนักงานตรวจสอบความเรียบร้อยอีกครั้ง ก่อนบรรจุกล่อง ส่งไปจำหน่ายทั่วโลก
จากการเดินชมกระบวนการผลิต สิ่งที่สัมผัสได้คือ การใช้พนักงานจำนวนน้อยมาก โดย 1 สายการผลิต 1 กะ กะละ 8 ชั่วโมง มีพนักงานแต่ละกะไม่เกิน 17 คน ผลิตได้ 2,400 เครื่อง
เมื่อชมโรงงานแล้วเสร็จ ก็ต้องไปร่วมงาน “Huawei ICT Competition” เป็นเวทีแข่งขันความสามารถด้านไอซีที โดยใช้อุปกรณ์หัวเว่ยในการแข่งขัน ซึ่งเปิดโอกาสให้นักศึกษาจากทั่วโลกได้ประลองวิทยายุทธ์ ประชันความรู้ ความสามารถ โดยตัวแทนแต่ละประเทศต้องผ่านสนามแข่งขันในระดับประเทศมาก่อน
ปีนี้การแข่งขันแบ่งออกเป็น 3 ด้าน คือ เน็ตเวิร์ก คลาวด์ และนวัตกรรมความคิดสร้างสรรค์ใหม่ๆ ภายใต้คอนเซปต์ “Connection, Glory, Future” ผลปรากฏว่า ทีมมาเลเซียและทีมแอลจีเรีย คว้ารางวัลชนะเลิศการแข่งขันฝึกซ้อมของเน็ตเวิร์ก ทีมเปรูและทีมจากมหาวิทยาลัยกุ้ยหลิน ได้รางวัลชนะเลิศการแข่งขันฝึกซ้อมคลาวด์ และทีมมหาวิทยาลัยเซี่ยงไฮ้ เจา ตง ได้รับรางวัลชนะเลิศการประกวดนวัตกรรม โดยทีมชนะเลิศจะได้รับทุนการศึกษาและการดูงานในประเทศต่างๆของหัวเว่ย รวมถึงอาจเป็นพนักงานของหัวเว่ยในอนาคตด้วย
ขณะที่ทีมประเทศไทยนับเป็นครั้งแรกที่มีตัวแทนนักศึกษาเข้าร่วมแข่งขันครั้งนี้ เป็นนักศึกษาจากมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีมหานคร และสถาบันเทคโนโลยีพระจอมเกล้าเจ้าคุณทหารลาดกระบัง เข้าร่วมแข่งขันในกลุ่มเน็ตเวิร์ก แต่เนื่องจากเป็นครั้งแรกและประสบการณ์ระดับโลกน้อย ทีมไทยจึงพลาดโอกาสเข้ารอบชิงชนะเลิศในครั้งนี้ โดยตัวแทนนักศึกษาไทยเล่าว่า มีความกดดันสูงและโจทย์ยากมาก คือต้องทำอุปกรณ์ชิ้นที่ได้รับมาเชื่อมต่อกับระบบต่างๆ ที่ซับซ้อน และมีเวลาจำกัดคือ 8 ชั่วโมงเท่านั้น
นายหม่า เยว่ รองประธานบริหาร ประธานบริหารฝ่ายขายทั่วโลก กลุ่มธุรกิจเอ็นเตอร์ไพรส์ และประธานของกลุ่มคู่ค้าและพันธมิตรของหัวเว่ย เอ็นเตอร์ไพรส์ กล่าวว่า ตลอดระยะเวลา 30 ปีที่ผ่านมา หัวเว่ยให้ความสำคัญกับการพัฒนาบุคลากร การวิจัยและพัฒนานวัตกรรมต่างๆ เพื่อนำไปต่อยอดธุรกิจ ซึ่งแต่ละปีที่ผ่านมา ได้ทุ่มเงินราว 5,000 ล้านหยวน หรือ 25,000 ล้านบาท (5 บาท เท่ากับ 1 หยวน) เพื่อนำไปใช้ในงานวิจัยและพัฒนา
รวมถึงการเฟ้นหาบุคลากรคนเก่งด้านไอซีที เพราะคนเก่งที่มีความสามารถเป็นองค์ประกอบที่สำคัญที่สุด เป็นพลังขับเคลื่อนและผลักดันให้ธุรกิจหัวเว่ยเติบโตอย่างต่อเนื่องในอุตสาหกรรม โดยปัจจุบันหัวเว่ยมีพนักงาน 180,000 คน ดำเนินธุรกิจใน 170 ประเทศทั่วโลก และยังคงแสวงหาการเติบโตอย่างไม่หยุดยั้ง.