รถไฟไทย มั่นใจเมษาฯนี้ ชงบอร์ด อีอีซี ไฟเขียว "ซีพี" คว้าไฮสปีดเชื่อม 3 สนามบิน ระบุอีก 2 สัปดาห์การเจรจาจะบรรลุข้อตกลง ผู้ว่ารถไฟมั่นใจถ้าไม่ผิดแผน ลงนามในสัญญาในเดือน พ.ค.62นี้
นายวรวุฒิ มาลา รองผู้ว่าการกลุ่มธุรกิจการบริหารทรัพย์สิน รักษาการในตำแหน่งผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) เปิดเผยถึงผลการประชุมคณะกรรมการคัดเลือกโครงการก่อสร้างรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบิน ดอนเมือง-สุวรรณภูมิ-อู่ตะเภา และธุรกิจที่เกี่ยวข้อง วงเงิน 2.2 แสนล้านบาท กับ กลุ่มซีพี หรือกิจการร่วมค้าบริษัท เจริญโภคภัณฑ์โฮลดิ้ง จำกัด (ซีพี) และพันธมิตร ว่า จากที่มีการเจรจาในโครงการรถไฟความเร็วสูงเชื่อมสามสนามบินระหว่างคณะกรรมการคัดเลือกกับกลุ่มซีพี ยืดเยื้อมาโดยตลอด
ทั้งนี้ เนื่องจากทางกลุ่มซีพีไม่ยอมลดข้อเสนอเงื่อนไขพิเศษนั้น มาวันนี้ทางกลุ่มซีพี ยอมถอนข้อเสนอเงื่อนไขพิเศษที่อยู่นอกกรอบทีโออาร์ออกทั้งหมด จำนวน 12 ข้อ ตามมติของคณะกรรมการคัดเลือกแล้ว และไม่มีประเด็นเพิ่มเติมที่จะนำเสนออีก
อย่างไรก็ตาม ในการเจรจาร่วมกันต่อไปจะเหลือเพียงประเด็นปลีกย่อยที่ต้องเจรจาเพิ่มเติม เล็กน้อยเท่านั้น ไม่ว่าจะเป็นเรื่องค่าปรับกรณีผิดสัญญา และการขัดเกลาถ้อยคำบางส่วน โดยหลังจากนี้ ฝ่ายกฎหมายของซีพี และสำนักงานคณะกรรมการนโยบายเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออกหรือ อีอีซี จะไปเจรจาข้อปลีกย่อยและ ขัดเกลาถ้อยคำในสัญญา คาดว่าภายใน 2 สัปดาห์นี้จะได้ข้อสรุปการเจรจาร่วมกับซีพี
นายวรวุฒิ กล่าวว่า ดังนั้นจึงมั่นใจว่า ช่วงหลังสงกรานต์นี้ทางคณะกรรมการคัดเลือก จะมีการประชุมภายในอีกครั้ง เพื่อพิจารณาผลสรุปการเจรจา เพื่อสรุปร่างสัญญาเสนอให้สำนักอัยการสูงสุดพิจารณา และเสนอให้คณะกรรมการอีอีซีพิจารณาต่อไปได้ในเดือนเม.ย.นี้ ซึ่งหลังจากนี้ก็ขึ้นอยู่กับคณะกรรมการอีอีซีว่าจะเสนอให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาอนุมัติได้เมื่อไหร่ เบื้องต้นคาดว่าจะลงนามในสัญญากับซีพีได้ในเดือน พ.ค. 62 นี้
"การเจรจาของคณะกรรมการคัดเลือกครั้งนี้ ถือได้ว่ามีการเจรจาคืบหน้าไปกว่า 70-90%แล้ว ที่เหลือเป็นเพียงข้อปลีกย่อยเท่านั้น หากไม่มีปัญหาอะไร ก็คงดำเนินการและได้ข้อสรุป ก่อนที่จะมีการลงนามในเดือน พ.ค."
สำหรับ เงื่อนไขพิเศษที่อยู่นอกเหนือ ทีโออาร์ เช่น
- ขอขยายโครงการจากเดิม 50 ปี เป็น 99 ปี
- ขอให้รัฐอุดหนุนโครงการตั้งแต่ปีแรกที่ดำเนินการ รวมไปถึงการการันตีผลตอบแทน IRR 6.75%/ปี
- ขอลดสัดส่วนผู้ถือหุ้นใหญ่ในโครงการลงมาเหลือ 5%ได้
- ขอให้ธนาคารแห่งประเทศไทย (ธปท.) ผ่อนปรนเพดานกู้เงินเครือซีพี เนื่องจากปัจจุบันซีพีติดเรื่องเพดานเงินกู้ของ ธปท.
- ขอให้ รัฐบาลค้ำประกัน รฟท.ถ้าหากมีปัญหาในภายหลัง
- ขอผ่อนชำระโครงการแอร์พอร์ตลิงก์ 11 ปี ด้วยดอกเบี้ย 3% จากเดิมต้องจ่ายเงินทันทีถ้าหากรัฐบาลโอนโครงการให้
- ขอให้รัฐบาลสนับสนุนจัดหาเงินกู้ดอกเบี้ยต่ำที่ระดับ 4% ให้กับโครงการ
- ขอชำระเงินที่ดินมักกะสัน และ ศรีราชา เมื่อถึงจุดที่มีผลตอบแทน
- หากโครงการสนามบินอู่ตะเภาล่าช้า รัฐต้องจ่ายค่าชดเชยความเสียดาย และห้ามรถไฟทำธุรกิจเดินรถแข่งกับเอกชน