การแบ่งปันทำให้โลกน่าอยู่ขึ้น โดยเฉพาะการแบ่งปันจากบรรดาอภิมหาเศรษฐีที่มีล้นเหลือและเอื้อเฟื้อให้ผู้ที่ไร้โอกาสกว่า เมื่อเดือน ต.ค.ปีที่ผ่านมา นิตยสารฟอร์บส์ (Forbes) เพิ่งจัดอันดับมหาเศรษฐีอเมริกัน ที่บริจาคเงินให้กับการกุศลมากที่สุด นำโด่งมาโดยบิล เกตส์ ผู้ก่อตั้งบริษัทไมโครซอฟท์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ มหาเศรษฐีนักลงทุนหุ้นรายใหญ่ซึ่งมียอดเงินบริจาคทั้งสิ้น 35,800 ล้านเหรียญสหรัฐฯ (1.14 ล้านล้านบาท) และ 35,100 ล้านเหรียญฯ (1.12 ล้านล้านบาท) ตามลำดับ
บิล เกตส์ และวอร์เรน บัฟเฟตต์ ได้ชื่อว่าเป็นมหาเศรษฐีใจบุญ ผู้มีส่วนช่วยสร้างวัฒนธรรมแห่งการให้ในหมู่มหาเศรษฐียุคใหม่ ด้วยการจัดตั้ง The Giving Pledge องค์กร “สัญญาว่าจะให้” รณรงค์ให้มหาเศรษฐีทั่วโลกบริจาคทรัพย์สินส่วนมากเพื่อการกุศล จนปัจจุบันมีมหาเศรษฐีทั่วโลกลงนามเป็นสมาชิกแล้วมากกว่า 150 คน
ความสำเร็จขององค์กร “สัญญาว่าจะให้” ทำให้จำนวนมหาเศรษฐีใจดีจากที่ต่างๆเพิ่มมากขึ้น จากการเก็บข้อมูลของฟอร์บส์พบว่า เศรษฐีเหล่านี้มียอดบริจาคก้อนยักษ์มากกว่า 1,000 ล้านเหรียญฯขึ้นไป
คนแรกในลิสต์ ได้แก่ อาซิม เปรมจิ (Azim Premji) อัครมหาเศรษฐีจากอินเดีย เจ้าของบริษัทไอที Wipro ผู้ซึ่งโอนหุ้นมูลค่า 7,500 ล้านเหรียญฯ เข้าองค์กรการกุศลของเขาเอง ทำให้ยอดบริจาคโดยรวมของเขาขยับขึ้นสู่ 21,000 ล้านเหรียญฯ (672,000 ล้านบาท) หรือราว 81% ของทรัพย์สินทั้งหมดที่มี กลายเป็นเศรษฐีที่ใจดีที่สุดเป็นอันดับ 4 ของโลก
เปรมจิ ซึ่งปัจจุบันเหลือทรัพย์สินถือครองอยู่ทั้งสิ้น 5,000 ล้านเหรียญฯ เป็นประธานของ Wipro บริษัทซอฟต์แวร์แห่งอินเดีย เขาชื่น-ชอบการทำบุญด้วยการให้การศึกษาและใช้เงินส่วนตัวช่วยเหลือพัฒนา ระบบโรงเรียนของรัฐในพื้นที่ห่างไกลของอินเดีย นอกจากการก่อตั้งมหาวิทยาลัยในบังกาลอร์ ซึ่งมีเป้าหมายจะรองรับจำนวนนักศึกษาได้ถึง 5,000 คน จาก 1,300 คนในปัจจุบัน เปรมจิไม่มีใบปริญญาเพราะตัดสินใจออกจากมหาวิทยาลัยสแตนฟอร์ดเสียก่อน เนื่องจากต้องมารับช่วงกิจการน้ำมันพืชของครอบครัว แต่ในที่สุดก็แปลงร่างให้เป็นบริษัทซอฟต์แวร์ โดยเมื่อปี 2561 Wipro มีรายได้ที่ 84,000 ล้านเหรียญฯ
คริสโตเฟอร์ ฮอห์น (Christopher Hohn) มหาเศรษฐีสัญชาติอังกฤษ ปัจจุบันถือครองทรัพย์สินอยู่ที่ 3,100 ล้านเหรียญฯ เคยทำงานกับกองทุนเฮดจ์ฟันด์ที่ชื่อว่าแพร์รี่ Perry Capital และต่อมาก่อตั้งเฮดจ์ฟันด์ของตัวเอง และโอนทรัพย์สินจำนวน 4,500 ล้านเหรียญฯ เข้าไปยังมูลนิธิที่ใช้ชื่อว่า Children’s Investment Fund Foundation ซึ่งเขาร่วมกันก่อตั้งกับอดีตภรรยา ฮอห์นชี้แจงผ่านเว็บไซต์ของมูลนิธิว่า เขามีเป้าหมายช่วยเหลือเด็กยากจนในประเทศกำลังพัฒนา เพื่อหวังให้เกิดการเปลี่ยนแปลงไม่ใช่การเอาหน้า
อันดับที่ 3 เป็นของคาร์ลอส สลิม เฮลู (Carlos Slim Helu) นักธุรกิจโทรคมนาคมรายใหญ่จากเม็กซิโก ปัจจุบันถือครองสินทรัพย์ 61,400 ล้านเหรียญฯ ยอดบริจาคสะสม 4,200 ล้านเหรียญฯ อย่างไรก็ตาม คาร์ลอส สลิม ไม่เห็นด้วยกับการตั้งองค์กร “สัญญาว่าจะให้” และวิพากษ์วิจารณ์เรื่อยมา เขาบอกว่าเห็นมาทั้งชีวิตแล้ว การกุศลไม่ได้ช่วยแก้ปัญหาความยากจน ใช้เงินไปเท่าไรก็แก้ไขไม่ได้ แต่เขาก็ยังเชื่อในการ “ให้” และเลือกบริจาคด้านการยกระดับสาธารณสุข การศึกษา
เศรษฐีคนต่อมาชื่อ ลีกาชิง (Li Ka-shing) เจ้าพ่ออสังหาริมทรัพย์และธุรกิจโทรคมนาคมแห่งเกาะฮ่องกง ผู้มีทรัพย์สิน ณ ปัจจุบันที่ 32,500 ล้านเหรียญฯ และมียอดบริจาคสะสม 3,200 ล้านเหรียญฯ ความสนใจในงานบริจาคของลีกาชิง ครอบคลุมหลายด้าน ทั้งการแพทย์ การศึกษา การวิจัยพัฒนา กระจายอยู่ใน 27 ประเทศ รวมทั้งจีน ซึ่งเป็นแผ่นดินเกิด แต่ถูกบังคับให้ย้ายถิ่นฐานเมื่ออายุ 12 ปี หลังญี่ปุ่นเข้ายึดครองจีนตอนใต้
ขณะที่ Hansjoerg Wyss ชายผู้ล่ำซำจากสวิตเซอร์-แลนด์ มียอดบริจาคสะสมทั้งสิ้น 1,900 ล้านเหรียญฯ และสินทรัพย์ที่ 5,900 ล้านเหรียญฯ เขาเริ่มต้นความมั่งคั่งจากการก่อตั้งบริษัทผลิตเครื่องมือแพทย์ และขายให้จอห์นสันแอนด์จอห์นสันในเวลาต่อมา ได้เงินและหุ้นรวม 20,200 ล้านเหรียญฯ ความสนใจในการบริจาคของ Wyss ถูกทุ่มเทไปในทางสิ่ง-แวดล้อมเป็นหลัก ครอบคลุมยุโรป อเมริกา เอเชีย แอฟริกา และพยายามรณรงค์ให้เหล่ามหาเศรษฐีเทเงินช่วยรักษาสิ่งแวดล้อมให้มากขึ้น เพราะยังต้องการทุนอีกมาก
ผู้มั่งคั่งคนสุดท้ายมีถิ่นกำเนิดจากสวิตเซอร์แลนด์เช่นกัน Stephan Schmidheiny มีสินทรัพย์รวม 2,300 ล้านเหรียญฯ ยอดบริจาคสะสม 1,500 ล้านเหรียญฯ เป็นเจ้าของกิจการวัสดุก่อสร้าง ซึ่งรับมรดกมาจากบิดา Schmidheiny ชื่นชอบงานด้านการพัฒนาอย่างยั่งยืน เขาจึงร่วมมือกับองค์การสหประชาชาติหรือยูเอ็นอย่างต่อเนื่อง.
ศุภิกา ยิ้มละมัย