นายชัยณรงค์ มนเทียรวิเชียรฉาย อุปนายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย ในฐานะตัวแทนของกลุ่ม 7 อุตสาหกรรมเหล็กไทย เปิดเผยหลังยื่นหนังสือผ่านศูนย์รับเรื่องราวร้องทุกข์ของรัฐบาลว่า การยื่นหนังสือถึง พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี
เนื่องจากอุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศได้รับผลกระทบอย่างหนัก เพราะเหล็กนำเข้าราคาถูกจากต่างประเทศเข้ามาตีตลาดในประเทศ ซึ่งปัจจุบันอุตสาหกรรมเหล็ก โดยเฉพาะเหล็กรีดร้อนได้รับการดูแลจากรัฐบาลด้วยมาตรการเก็บค่าธรรมเนียมพิเศษ (Surcharge) จากเหล็กรีดร้อนนำเข้าต่างประเทศ เพื่อเป็นการปกป้อง (Safeguard) อุตสาหกรรมเหล็กต้นน้ำของไทย ที่มีผลกระทบเป็นลูกโซ่ไปยังอุตสาหกรรมปลายน้ำ เช่น เหล็กรีดเย็น และอุตสาหกรรมอื่นๆที่เกี่ยวข้อง เช่น รถยนต์ เครื่องใช้ไฟฟ้า ทำให้ผู้ประกอบการในประเทศไม่สามารถอยู่รอดต่อไป เนื่องจากปัจจุบันที่แม้มีมาตรการของภาครัฐดูแลก็ตาม ก็ยังประสบกับภาวะการขาดทุน
นายนาวา จันทนสุรคน นายกสมาคมเหล็กแผ่นรีดร้อนไทย กล่าวว่า การใช้มาตรการ Safeguard ในอุตสาหกรรมเหล็กรีดร้อน ได้ทำมาแล้ว 3 ปี และได้ขยายเวลาอีก 3 ปี เป็นครั้งที่ 2 แล้ว โดยวันที่ 26 ก.พ.นี้ จะสิ้นสุดมาตรการ กลุ่ม 7 สมาคมผู้ประกอบการฯจึงเสนอให้รัฐบาลขยายเวลาอีก 3 ปี รวมเวลาที่ใช้ Safeguard ทั้งหมด 9 ปี จึงไม่ขัดกับหลักเกณฑ์ขององค์กรการค้าโลก ที่อนุญาตให้มีการใช้ภาษีเพื่อปกป้องอุตสาหกรรมในประเทศได้ถึง 10 ปี
“อุตสาหกรรมเหล็กของไทยได้พัฒนาไปอย่างมาก โดยเฉพาะมาตรการที่รัฐบาลช่วยเหลือเพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถปรับตัวกับภาวะการแข่งขันที่รุนแรงได้ ทำให้อุตสาหกรรมเหล็กภายในประเทศแข่งขันกับราคาเหล็กราคาถูกจากต่างประเทศได้ ทั้งในเรื่องของราคาและคุณภาพ แต่หากมาตรการดังกล่าวต้องยุติลง อุตสาหกรรมเหล็กคงไม่สามารถอยู่รอดได้ ทำให้แรงงานตกงาน 100,000 ราย มีผลกระทบการลงทุนมูลค่า 200,000 ล้านบาท”.