ปล้ำผีลุกปลุกผีนั่งมาปีกว่าๆ ในที่สุดแผนพัฒนากำลังการผลิตไฟฟ้า (พีดีพี) ที่เป็นยุทธศาสตร์การผลิตไฟฟ้าของประเทศไทยปี 2561-2580 ก็ได้รับความเห็นชอบจากคณะกรรมการนโยบายพลังงานแห่งชาติ (กพช.)
“พีดีพี” ฉบับดังกล่าว ได้กำหนดว่าจะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าเพิ่มขึ้นจากปี 2560 ที่มีเพียง 46,090 เมกะวัตต์ และเพิ่มเป็น 77,211 เมกะวัตต์ ในปี 2580 ในส่วนนี้เป็นกำลังผลิตไฟฟ้าใหม่ระหว่างปี 2561-2580 รวม 56,431 เมกะวัตต์ แบ่งเป็น 8 ส่วน คือ 1.โรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน 20,766 เมกะวัตต์ 2.โรงไฟฟ้าพลังน้ำสูบกลับ 500 เมกะวัตต์ 3.โรงไฟฟ้าระบบโคเจเนอเรชัน 2,112 เมกะวัตต์ 4.โรงไฟฟ้าความร้อนร่วม 13,156 เมกะวัตต์ 5.โรงไฟฟ้าถ่านหิน 1,740 เมกะวัตต์ 6.รับซื้อจากต่างประเทศ 5,857 เมกะวัตต์ 7.โรงไฟฟ้าใหม่หรือทดแทนโรงไฟฟ้าเก่า 8,300 เมกะวัตต์ 8.การผลิตไฟฟ้าจากแผนอนุรักษ์พลังงาน 4,000 เมกะวัตต์
นอกจากนี้ กพช.ยังเห็นชอบในส่วนของโรงไฟฟ้าพลังงานหมุนเวียน ตามแผนพัฒนาพลังงานทดแทนและพลังงานทางเลือก ที่จะมีกำลังการผลิตไฟฟ้าใหม่รวม 18,176 เมกะวัตต์ ประกอบด้วย ชีวมวล 3,376 เมกะวัตต์ ก๊าซชีวภาพ 546 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ 10,000 เมกะวัตต์ พลังงานแสงอาทิตย์ทุ่นลอยน้ำร่วมกับโรงไฟฟ้าพลังน้ำ 2,725 เมกะวัตต์ ขยะอุตสาหกรรม 44 เมกะวัตต์
ส่งผลให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าแยกตามประเภทเชื้อเพลิง ณ ปี 2580 ที่ไม่ได้มาจากเชื้อเพลิงฟอสซิลมีสัดส่วน 35% คือจะมาจากพลังน้ำต่างประเทศ 9% พลังงานหมุนเวียน 20% การอนุรักษ์พลังงาน 6% ทำให้การผลิตไฟฟ้าจากถ่านหินลดเหลือเพียง 12% และก๊าซธรรมชาติเป็นเชื้อเพลิงหลัก 53%
หากสามารถทำได้ตามแผนที่กำหนดไว้นี้ อัตราค่าไฟฟ้าขายปลีกตลอดแผนพีดีพีจะอยู่ที่ 3.58 บาทต่อหน่วย
เมื่อนำแผนดังกล่าวมาส่องลึกถึงรายละเอียดก็พบว่า จะทำให้สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าของการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เจ้าตลาดหลักในการผลิตไฟฟ้าให้กับประเทศไทย ถูกลดส่วนแบ่งการผลิตจากเดิม 34.9% ของกำลังการผลิตรวมทั้งประเทศเหลือเพียง 24-25%
สัดส่วนที่ลดลงถูกนำไปเพิ่มในส่วนของการผลิตจากพลังงานหมุนเวียน เนื่องจากได้มีการแบ่งประเทศไทยเป็นรายภาค โดยภาคใดควรมีการผลิตไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงด้านพลังงาน ก็จะได้รับการจัดสรรให้มีการผลิตในพื้นที่นั้นๆเป็นพิเศษ นำโดยภาคเหนือ ซึ่ง กฟผ.มีโรงไฟฟ้าเพื่อความมั่นคงคิดเป็น 40% ของกำลังการผลิตทั้งหมดของ กฟผ. ขณะที่ภาคตะวันตกมีสัดส่วน 30% ภาคใต้ 33% ขณะที่ภาคอีสานมีสัดส่วนไม่มากนัก เพราะไทยรับซื้อไฟฟ้าจากลาวคิดเป็นสัดส่วนถึง 40% ส่วนภาคกลางและภาคตะวันออกก็มีโรงไฟฟ้าของผู้ผลิตอิสระรายใหญ่ของเอกชน (ไอพีพี) คิดเป็นสัดส่วน 38%
หากดูตัวเลขที่ลดเหลือ 24-25% อาจถือว่าค่อนข้างน้อย แต่เมื่อไปดูกำลังการผลิต ก็ถือว่าไม่ได้ลดลงมากนัก เพราะภาครัฐนำฐานตัวเลขผลิตไฟฟ้าไปใส่ไว้ในกลุ่มพลังงานหมุนเวียนเกือบ 20,000 เมกะวัตต์ หรือ 37% ของกำลังการผลิตรวม เลยไปเบียดตัวเลขของโรงไฟฟ้าประเภทอื่นๆ
ที่สำคัญไม่ได้มีเฉพาะ กฟผ.ที่สัดส่วนการผลิตไฟฟ้าลดลง เพราะโรงไฟฟ้าไอพีพีก็ถูกลดสัดส่วนลงเช่นกัน เหลือเพียง 13% ตลอดระยะเวลาของแผน จากปัจจุบันมีสัดส่วน 33% โรงไฟฟ้าของผู้ผลิตอิสระรายเล็ก (เอสพีพี) ก็เหลือเพียง 11% จากเดิม 16% เพราะได้ไปเพิ่มกำลังการผลิตจากผู้ผลิตอิสระขนาดเล็ก
(วีเอสพีพี) จาก 8% เป็น 25%
กรณีดังกล่าวอาจมองได้ว่า กฟผ.จะมีรายได้ที่ลดลง แต่ กฟผ.ก็ยังมีรายได้จากการเก็บค่าผ่านทาง หรือสายส่งไฟฟ้าจากผู้ผลิตรายอื่นๆ เหมือนค่าผ่านท่อก๊าซธรรมชาตินั่นเอง และ กฟผ.ยังสามารถส่งบริษัทลูกเข้าไปประมูลสิทธิในการก่อสร้างโรงไฟฟ้าแห่งใหม่ๆ
ที่จะเกิดขึ้นตามแผนพีดีพี
หากถามว่าการมุ่งเป้าไปที่พลังงานหมุนเวียน จะสร้างความมั่นคงทางพลังงานของประเทศได้มากน้อยเพียงใด ก็ต้องตอบว่า หากเป็นการผลิตไฟฟ้าจากโซลาร์รูฟท็อป (การนำแผงโซลาร์เซลล์ไปติดตั้งบนหลังคา) ขนาดใหญ่ ในโรงงานในนิคมอุตสาหกรรม ถือว่าค่อนข้างมีความมั่นคงไว้ใจได้ เพราะโรงงานก็ต้องใช้ไฟฟ้าดังกล่าวด้วย หากเหลือขายจึงจำหน่ายเข้าระบบ แต่หากเป็นโซลาร์รูฟท็อป หรือโซลาร์ฟาร์มของกลุ่มบ้านพักอาศัย ที่ส่วนใหญ่ผลิตเพื่อใช้เอง ความมั่นคงอาจมีน้อย เพราะต้องใช้ให้เพียงพอก่อนจึงจะเหลือขาย
อีกคำถามที่ค้างคาใจของประชาชนก็คือ ในเมื่อพีดีพีเน้นจัดหนักไปยังการผลิตไฟฟ้าจากพลังงานหมุนเวียน ถือเป็นการเอื้อให้กลุ่มนายทุน ทั้งในกลุ่มที่ต้องการลงทุนจริงๆ กลุ่มที่ต้องการจับเสือมือเปล่าเข้ามาหาผลประโยชน์จากใบอนุญาตก่อสร้าง ก่อนปั่นหุ้นจนพังพินาศไปแล้วหลายรายก่อนหน้านี้หรือไม่นั้น
เรื่องนี้อยู่ที่คนจะมองในมุมใด!!!
เพราะข้อเท็จจริงก็คือ พลังงานหมุนเวียนเป็นเทรนด์ของโลกแห่งอนาคตที่จะมาอย่างแน่นอน นอกจากนั้น ประเทศไทยยังได้ไปร่วมลงนามในสัญญา COP21 หรือการประชุมรัฐภาคีอนุสัญญาสหประชาชาติ ว่าด้วยการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศสมัยที่ 21 ที่ 190 ประเทศสมาชิกลงนามร่วมกัน เมื่อปี 2558 ที่ฝรั่งเศส มีเป้าหมายหลีกเลี่ยงผลกระทบที่เลวร้ายจากวิกฤติโลกร้อน รวมทั้งการลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก ที่เกิดจากการผลิตพลังงานของชาติสมาชิกในอีก 20 ปีข้างหน้า
จึงเป็นที่มาที่ไปของพีดีพีฉบับนี้.
เกรียงไกร พันธุ์เพชร