The New Comer ตามความหมายของพจนานุกรมอังกฤษ-ไทย ของ อาจารย์ ส.เสถบุตร แปลว่า ผู้มาใหม่ สมาชิกใหม่ คนที่เพิ่งมาถึง หรือคนแปลกหน้า
มีความหมายตามคำพ้อง (Synonym) ว่า fresh, late, modern, novel, recent, strange, unfamiliar fledge ling; neophyte; starter ซึ่งเป็นคำตรงกันข้าม (Antonym) กับคำว่า Old ที่แปลว่า ชรา แก่ สูงวัย เอาท์
ผู้มาใหม่ 5 คนที่ ทีมเศรษฐกิจ เลือกมาข้างล่างนี้ ได้รับการถกเถียงในที่ประชุม และถูกจัดอันดับความสำคัญชัดเจนว่า พวกเขาเหล่านี้ คือ The New Comer ที่จะเข้ามามีบทบาทอย่างสูงแน่ๆต่อสังคมไทยในปีหน้า โดย เฉพาะเมื่ออะไรต่ออะไรเปลี่ยนแปลงไปอย่างรวดเร็ว
อัยยวัฒน์ ศรีวัฒนประภา “ต๊อบ” ทายาทแสนล้านของ วิชัย ศรีวัฒนประภา เจ้าของอาณาจักร คิง เพาเวอร์ และ ประธานสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ ซิตี้ ผู้ชายใจดีที่จากโลกนี้ไปอย่างกะทันหันในเหตุเฮลิคอปเตอร์ส่วนตัวตก แต่โชคดี ก่อนที่เจ้าสัววิชัยจะเสียชีวิตจากอุบัติเหตุ เขาได้ส่งมอบตำแหน่งประธานเจ้าหน้าที่บริหาร (CEO) ให้แก่ ต๊อบ บุตรชายคนสุดท้อง โดยความเห็นชอบร่วมกันของครอบครัว
ในฐานะ CEO ซึ่งไม่มีพ่อที่เป็นทั้งเพื่อน และพี่เลี้ยงผู้เฝ้ากล่อมเกลาตัวมาแต่เล็ก บัดนี้ด้วยวัยเพียง 33 ปี ต๊อบ ต้องแบกภาระหนักอึ้งเพื่อให้อาณาจักรของ คิง เพาเวอร์ และสโมสรฟุตบอลเลสเตอร์ เดินหน้าต่อไปอย่างมั่นคง
ถนนทุกสายจึงจ้องเขม็งไปยังตัวเขาว่า เขาจะสร้างตำนานและอาณาจักรนี้ให้ยิ่งใหญ่ต่อไปเหมือนกับพ่อที่ถูกเรียกว่า Mr.Possible Man ผู้ที่ทำทุกสิ่งให้เป็นจริง ได้หรือไม่ ที่สำคัญเขาจะเป็นที่พึ่งให้ผู้คนจำนวนมากไม่ใช่แต่เพียงผู้ด้อยโอกาสแทนที่พ่อได้มากน้อยเพียงใด
เราถาม ต๊อบ ว่า เขาจะรับมือไหวไหมกับการรักษาฐานที่มั่นของธุรกิจร้านค้าปลอดภาษี ต๊อบ ตอบอย่างมั่นใจว่า ต้องไหวซีครับ เขาหัวเราะ และดูไม่ได้หวั่นไหวกับเรื่องนี้...ต๊อบ เคยตัดสินใจเรื่องเงินๆทองๆแทนพ่อมาหลายครั้ง และทุกครั้งไม่ว่า ต๊อบ จะให้มากกว่าหรือน้อยกว่า เขาต้องตอบให้ได้ว่า ทำไม และเพราะอะไร!
ทุกวันนี้ ต๊อบ มีหน้าที่ต้องพบผู้หลักผู้ใหญ่มากหน้าหลายตาตั้งแต่นายทหาร ไปจนถึงนักการเมืองชั้นนำและนักธุรกิจที่เป็นเครือข่ายกว้างขวางของพ่อ เขาจึงค่อนข้างมั่นใจใน Connection ที่เขามี และได้รับ “ผมถูกพ่อลากไปไหนต่อไหนด้วยตลอดตั้งแต่เด็กจนโต พ่อเล่นอะไร ผมเล่นด้วย ฟุตบอล โปโล พ่อยังให้ไปร่วมโต๊ะทานข้าวกับผู้ใหญ่ด้วยเสมอ เมื่อได้เป็น CEO ผมจึงสามารถเข้าพบผู้หลักผู้ใหญ่หลายท่านได้ โดยไม่ต้องกลัวจะถูกปฏิเสธ”
เพื่อนที่เคยเรียนกับ ต๊อบ ที่เซนต์คาเบรียลเล่าว่า เขาเป็นนักกีฬาตัวยงที่ฉายแววของความฉลาดมาตั้งแต่เด็ก เมื่อลงแข่งฟุตบอลด้วยกัน เขามักเป็นคนวางแผน และตัวผู้เล่นที่ทำให้ได้รับชัยชนะเสมอ “ที่นั่นมีฟุตบอลพลาสติกลูกเล็กๆเตะกันเป็นร้อยๆลูก แต่หมอนี่จำได้อยู่คนเดียวว่า ลูกไหนเป็นของทีมเรา”
ต๊อบ บอกเราด้วยว่าเขาคงเป็น Mr.Possible Man เหมือนพ่อไม่ได้ แต่นั่นก็ไม่ใช่ปัญหา!!
สารัถช์ รัตนาวะดี ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท กัลฟ์ เอ็นเนอร์จี ดีเวลลอปเมนท์ จำกัด (มหาชน) “GULF” เขามีชื่อเล่นในหมู่เพื่อนๆว่า กลาง แม้จะเลยวัยหนุ่มมาพอสมควรแล้ว แต่เขาก็ยังเป็นคนหนุ่มที่ ทีมเศรษฐกิจ ลงมติเลือกให้เป็น The New Comer...ผู้มาใหม่ ที่จะเข้ามามีบทบาทสำคัญในสังคมไทยอย่างยิ่งยวดในอนาคตอีกคน
โดยเฉพาะเมื่อก้าวขึ้นไปอยู่ในทำเนียบเศรษฐีหุ้นอันดับ 2 ของประเทศ ในปี 2561 ในฐานะผู้ถือหุ้นรายใหญ่ของ บมจ.กัลฟ์ ในสัดส่วน 35.44% คิดเป็นมูลค่า 57,645 ล้านบาท ขณะเดียวกันก็ได้รับการจัดให้เป็นมหาเศรษฐีหน้าใหม่สุดอันดับที่ 7 โดยนิตยสารฟอร์บส์ ด้วยมูลค่าสินทรัพย์ 106,300 ล้านบาท
เมื่อ 20 ปีก่อน บริษัท กัลฟ์ เพาเวอร์ เจเนอเรชั่น ขอใบอนุญาตจากรัฐเพื่อลงทุนสร้างโรงไฟฟ้าถ่านหิน กำลังการผลิต 734 เมกะวัตต์ และ 1,400 เมกะวัตต์ ที่หมู่บ้านเล็กๆชื่อ บ้านบ่อนอก และหินกรูด จังหวัดประจวบคีรีขันธ์
โครงการนี้ เกิดขึ้นเพราะรัฐบาลตามคำแนะนำของธนาคารโลก เสนอให้เปิดโอกาสเอกชนเข้าไปสร้างโรงงานผลิตกระแสไฟฟ้าเพื่อส่งขายให้ การไฟฟ้าแห่งประเทศไทย (กฟผ.) บ้าง แทนที่จะให้ กฟผ.ผูกขาดรายเดียว เพื่อสร้างพลังงานสำรองในอนาคต และลดภาระขาดทุน จนถึงหนี้สินสะสมมหาศาลของ กฟผ.ลงให้ได้
แม้จะผ่านการพิจารณาเงื่อนไขต่างๆมาจนครบถ้วนก่อนจะซื้อที่ดินเพื่อสร้างโรงงาน แต่ที่สุดก็ไม่อาจต้านทานวิกฤติการต่อต้านที่รุนแรงจากชาวบ้านในพื้นที่ได้ด้วยคำขู่ว่า “มึงสร้าง-กูเผา” แม้จะมีความพยายามทำประชาพิจารณ์ แต่ท้ายสุดกัลฟ์ก็โดนเล่นงานหนักจนจำต้องยุติโครงการไป
สารัถช์ กลับมาทำสิ่งที่เขาต้องการอีกครั้งด้วยประสบการณ์ที่มากกว่า และความสามารถที่จะก้าวข้ามปัญหา-อุปสรรคทั้งมวลให้ได้ด้วยกระดูกที่เบอร์ใหญ่ขึ้น Connection ที่มากกว่าใครจะคาดคิด สู่การเป็นเจ้าของโรงไฟฟ้าจากก๊าซธรรมชาติขนาดใหญ่ 4 โรง โดยมีสัญญาซื้อขายไฟฟ้าแน่นอนกับ กฟผ. 9,931 เมกะวัตต์
จากความเป็นผู้มากประสบการณ์ที่เจ็บมาเยอะ เสียเงินฟรีๆไปก็มาก สารัถช์ จึงลุกขึ้นมาสร้างความแข็งแรงให้กับตัวเองใหม่ และเข้าให้ถึงศูนย์กลางของอำนาจได้แบบเบ็ดเสร็จ ไม่ใช่แค่คนที่กำลังหายใจรดต้นคอเจ้าสัวหลายคนอยู่เท่านั้น
พล.อ.อภิรัชต์ คงสมพงษ์ ได้รับพระราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่งเป็นผู้บัญชาการกองทัพบกคนที่ 41 ของประเทศ เมื่อวันที่ 28 ก.ย.2561 ตามการคาดหมายของหลายฝ่าย
เขาเป็นบุตรชายเพียงคนเดียวของ “นายพลเสื้อคับ” ที่ชื่อ พล.อ.สุนทร คงสมพงษ์ หรือ “บิ๊กจ๊อด” ผู้เป็นเจ้าของคติประจำใจ “ไม่ฆ่าน้อง ไม่ฟ้องนาย ไม่ขายเพื่อน” นายทหารที่ได้ชื่อว่า ลูกผู้ชายตัวจริง และซื่อสัตย์ที่สุดของกองทัพ
พล.อ.อภิรัชต์ หรือ “บิ๊กแดง” โดดเด่นขึ้นในช่วงวิกฤติการเมืองปี 2553 ขณะมีตำแหน่ง ผบ.ร.11 รอ. ซึ่งเป็นที่บัญชาการของ ศูนย์อำนวยการแก้ไขสถานการณ์ฉุกเฉิน (ศอฉ.) และเป็นผู้นำกำลังทหารปกป้องสถานีดาวเทียมไทยคมให้ปลอดภัยจากการถูกเผาของผู้ชุมนุมประท้วง
ชื่อของ บิ๊กแดง โดดขึ้นเป็นระยะๆต่อเนื่อง เมื่อมีคนไปพบเขาตีกอล์ฟบ่อยๆกับนายกรัฐมนตรี และนักการเมืองบางคน จนเขาได้ชื่อว่าเป็นตัวเชื่อม และผู้ดึง “ดูด” ส.ส.เข้ามาสนับสนุนนายกฯ
บิ๊กแดง ยังอยู่เบื้องหลังการเข้าควบคุมสถานการณ์ชุมนุมทางการเมืองอีกหลายครั้งก่อนจะได้รับโปรดเกล้าฯ ให้เป็นนายทหารพิเศษประจำกรมทหารมหาดเล็กรักษาพระองค์ หน่วยบัญชาการถวายความปลอดภัยรักษาพระองค์ ผู้บัญชาการหน่วยเฉพาะกิจ 904 (ผบ.ฉก.904)
หลังเข้ารับตำแหน่ง ผบ.ทบ. บิ๊กแดง ออกมาแถลงจุดยืนของเขาเมื่อวันที่ 17 ต.ค.2561 ภายใต้สโลแกน Smart Soldiers Strong Army ในช่วงที่รัฐบาล คสช. ของ พล.อ.ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ได้รับเสียงวิพากษ์วิจารณ์อย่างหนักในท่าทีที่จะขอบริหารประเทศต่อ โดยที่ยังไม่มีความชัดเจนเรื่องวันเลือกตั้งทั่วไป
ด้วยบทบาทหน้าที่และภารกิจอันยิ่งใหญ่ของกองทัพในการปกป้องสถาบันพระมหากษัตริย์บิ๊กแดง กล่าวด้วยเสียงเข้มว่า สมเด็จพระเจ้าอยู่หัวมหาวชิราลงกรณ บดินทรเทพยวรางกูร ทรงดำรงตำแหน่งเป็นองค์จอมทัพไทย แต่ทหารบางคนลืม จึงขอเตือนสติว่า ผู้บังคับบัญชาสูงสุด คือ องค์พระมหากษัตริย์ เนื่องจากพระองค์ท่านทรงดำรงพระอิสริยยศ และดำรงตำแหน่งเป็นจอมทัพไทย เป็นสิ่งที่เหนือสิ่งอื่นใด
“รัฐบาลอาจผลัดเปลี่ยนไป แต่องค์พระมหากษัตริย์ต้องอยู่คู่ฟ้าคู่แผ่นดินไทยไปตลอด...นี่คือ หน้าที่ของกองทัพบก และผมจะปกป้องสถาบันด้วยทุกสิ่งทุกอย่างที่ผมมี”
ถ้อยแถลงของ บิ๊กแดง น่าสนใจมากขึ้นอีกก็เมื่อเขาตอกย้ำว่า กองทัพต้องสวมหมวก 2 ใบ คือ กองทัพ-คสช. แต่ต้องระมัดระวังไม่ให้การเมืองเข้าใช้ประโยชน์จากการช่วยเหลือประชาชน เพราะการที่กองทัพช่วยเหลือประชาชนไม่ใช่ต้องการหาเสียง ที่สำคัญกองทัพต้องวางตัวเป็นกลางและอยู่เคียงข้างประชาชน เมื่อถูกถามว่าจะปฏิวัติหรือไม่ หากการเมืองมีปัญหา บิ๊กแดง ตอบว่า ถ้าการเมืองไม่เป็นต้นเหตุแห่งการจลาจลก็ไม่มีอะไร “ผมไม่ได้บอกว่านักการเมืองไม่ดี นักการเมืองดีก็มี ไม่ดีก็มี แต่ปัญหาคือปัจจุบันคนไทยเป็นอย่างไรมากกว่า”
บิ๊กแดง จะเป็นใครตามความหมายของ The New Comer เป็นเรื่องน่าคิด!
ธนาธร จึงรุ่งเรืองกิจ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ เป็นอีกรายที่เราถกเถียงกัน และลงมติว่า เขาน่าจะเป็นผู้มาใหม่ The New Comer ที่มีบทบาทสูงในอนาคตอันใกล้ ไม่ว่าเขาจะได้รับเลือกหรือไม่
นอกจากดำรงตำแหน่งหัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่กำลังเก็บแต้มจากกลุ่มผู้มีสิทธิออกเสียงเลือกตั้งอายุเยาว์วัยอย่างขมีขมันแล้ว สิ่งที่น่าจับตาสำหรับ ธนาธร ไม่ใช่จำกัดอยู่เพียงตำแหน่งปัจจุบันของเขาเท่านั้น
แต่ยังรวมถึงวัตรปฏิบัติที่ทำให้เห็นถึงความมุ่งมั่นมาตั้งแต่ไหนแต่ไร อย่างที่ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ อดีต รมว.คมนาคม สมัยทักษิณ ผู้มีศักดิ์เป็นอา เคยกล่าวเอาไว้ว่า หากนายพัฒนา บิดาของ ธนาธร ไม่เสียชีวิตลง เขาคงไม่ต้องเข้ามาช่วยบริหารธุรกิจครอบครัว และคงเลือกเป็นนักเคลื่อนไหว หรือเอ็นจีโอตามที่ถนัดไปแล้ว
ตั้งแต่เมื่อครั้งยังเป็นนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ ธนาธร สนใจทำกิจกรรมอย่างชัดเจน เคยเป็นทั้งอุปนายกองค์การนักศึกษามหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์ (อมธ.) และรองเลขาธิการสหพันธ์นิสิตนักศึกษาแห่งประเทศไทย (สนนท.) เขายอมรับว่า เน้นกิจกรรมหนักมาก จนเรียนจบมาได้เกรดแค่ 2.0
เวลามีกิจกรรมชุมนุมครั้งใหญ่ๆ โดยเฉพาะในมุมของการต่อสู้เพื่อมวลชน สิ่งแวดล้อม ธนาธร จะไปร่วมชุมนุมเสมอ ตั้งแต่สมัชชาคนจน ไปจนถึงม็อบค้านโครงการท่อส่งก๊าซ และโรงแยกก๊าซธรรมชาติ ไทย-มาเลเซีย ในสมัย
นายทักษิณ ชินวัตร เป็นนายกฯ และ สุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ เป็น รัฐมนตรีร่วมรัฐบาล จนนายกฯทักษิณ ถึงกับเคยออกปากกับ สุริยะ ว่าคุณคุมหลานไม่ได้เลยเหรอ?!
ครั้งหนึ่ง สุริยะ เคยพูดถึง ธนาธร ว่า เป็นคนที่เกิดมาเพียบพร้อม และอยากเห็นทุกอย่างสมบูรณ์แบบ จึงพยายามต่อสู้เพื่อให้ได้มา แล้วสรุปว่าหลานของเขาเป็นคนดีคนหนึ่ง
เมื่อปี่กลองการเมืองส่งสัญญาณ ธนาธร ก็ตัดสินใจถอนตัวออกจากธุรกิจในเดือน พ.ค. 2561 หลังดำรงตำแหน่ง รองประธานกรรมการบริหาร กลุ่มบริษัท ไทยซัมมิท มาเป็นเวลา 16 ปีเต็ม แล้วหันมาทำงานการเมืองเต็มตัวในฐานะ หัวหน้าพรรคอนาคตใหม่ ที่ประกาศว่า แม้จะไม่ได้รับชัยชนะในการเลือกตั้ง ก็จะไม่กลับไปทำธุรกิจอีก
คนอย่างธนาธร ซึ่งไม่เคยชอบการทำธุรกิจ แต่สามารถดันยอดขายไทยซัมมิทให้เติบโตจาก 16,000 ล้านบาท เป็น 80,000 ล้านบาทได้ จะสามารถสร้างความสำเร็จเช่นเดียวกันในเส้นทางการเมืองได้หรือไม่ หรือสุดท้ายจะตกม้าตายตอนจบ...เป็นเรื่องที่ต้องหาคำตอบในอนาคตจากเขา!
เอกนิติ นิติทัณฑ์ประภาศ อธิบดีกรมสรรพากร บอกตัวตนชัดเจนว่า เขา คือผู้มาใหม่ในกลุ่มบิ๊กๆแวดวงราชการ เหมือนต้นไม้ที่กำลังเติบใหญ่ และพร้อมจะผลิดอกออกผลในอีกไม่นานข้างหน้า
ถ้าจะมองหาข้าราชการรุ่นใหม่ที่โดดเด่นจรัสแสง เปรียบได้กับ ณเดชน์ คูกิมิยะ ดาราแถวหน้าค่าตัวแพง ในวงการนักแสดงแล้วล่ะก็ ชื่อของ ดร.เอก คงเป็นอันดับต้นๆ เพราะเป็น อธิบดีกรมสรรพากร ที่อายุน้อยสุด 47 ปี ในกระทรวงการคลัง ที่มีภารกิจต้องหารายได้ให้ประเทศในปีงบประมาณ 2562 จำนวน 1.928 ล้านล้านบาท
ดร.เอก เป็นนักเรียนทุนรัฐบาล และหนึ่งในทีมงานพลังหนุ่ม ที่รองนายกฯด้านเศรษฐกิจ ดร.สมคิด จาตุศรีพิทักษ์ เรียกมาทำหน้าที่ขับเคลื่อนงานสำคัญๆที่จะเป็นหัวหอกปูรากฐานนำพาเศรษฐกิจของประเทศให้ก้าวไปข้างหน้า โดยเฉพาะงานด้านโครงสร้างพื้นฐาน ก่อนที่ประเทศคู่แข่งจะชิงความได้เปรียบใช้พลังดูดนักลงทุนไปหมด
ขณะที่ดำรงตำแหน่ง ผู้อำนวยการสำนักงานคณะกรรมการนโยบายรัฐวิสาหกิจ (สคร.) ในช่วงปี 2558 ดร.เอก คือหนึ่งในคีย์แมนคนสำคัญที่ขับเคลื่อนแนวคิด PPP Fast track ที่สามารถลดเวลาของเมกะโปรเจกต์ทั้งหลายจากขั้นตอนปกติใช้เวลา 2 ปี ลงมาเหลือ 9 เดือน จนได้เห็นการแจ้งเกิดของการลงทุนโครงสร้างพื้นฐานรถไฟฟ้า 3 สาย มูลค่ากว่า 190,000 ล้านบาท ภายใน 9 เดือน
อาทิ รถไฟฟ้าสายสีน้ำเงินส่วนต่อขยายช่วงหัวลำโพง-บางแค, บางซื่อ-ท่าพระ/สายสีชมพู ช่วงแคราย-มีนบุรี และสายสีเหลือง ลาดพร้าว-สำโรง รวมทั้งโครงสร้างพื้นฐานขนาดใหญ่ในเขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก (EEC) เช่น สนามบินอู่ตะเภา-ท่าเรือแหลมฉบังเฟส 3-รถไฟความเร็วสูง ฯลฯ
ปัจจุบันนอกจากอธิบดีกรมสรรพากรแล้ว ดร.เอก ยังมีภารกิจขับเคลื่อนองค์กรสุดหิน อย่าง การบินไทยในฐานะ ประธานกรรมการ ประธานกรรมการธนาคารกรุงไทย และกรรมการบริษัท IRPC จำกัด (มหาชน)
ใครจะไปจะมา ไม่สำคัญเท่า ดร.เอก จะเป็นคนรุ่นใหม่ที่เรียกว่า เสือแห่งกระทรวงการคลัง ได้หรือไม่ โปรดติดตาม.
ทีมเศรษฐกิจ