ลั่น!ไม่ได้แย่แต่ต้องพยายาม ธนาคารโลกลดอันดับยาก-ง่ายทำธุรกิจไทย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

ลั่น!ไม่ได้แย่แต่ต้องพยายาม ธนาคารโลกลดอันดับยาก-ง่ายทำธุรกิจไทย

Date Time: 2 พ.ย. 2561 08:18 น.

Summary

  • “ธนาคารโลก” จัดอันดับความยากง่ายทำธุรกิจในไทยปี 62 ได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 78.45 คะแนน แต่อันดับลดลง 1 อันดับ โดยติดอันดับ 27 ของโลก จากอันดับที่ 26 ชี้ไทยทำได้ดีขึ้น

Latest

เอสเอ็มอีไทยร้องรัฐเร่งแก้หนี้



“ธนาคารโลก” จัดอันดับความยากง่ายทำธุรกิจในไทยปี 62 ได้คะแนนเพิ่มขึ้นเป็น 78.45 คะแนน แต่อันดับลดลง 1 อันดับ โดยติดอันดับ 27 ของโลก จากอันดับที่ 26 ชี้ไทยทำได้ดีขึ้น และได้เข้าสู่การปฏิรูปประเทศอย่างจริงจังแล้ว ด้าน “สมคิด” ย้ำชัด ไทยไม่ได้แย่ลง แต่การเพิ่มขึ้นยังไม่เพียงพอ และเป็นสิ่งที่ต้องพยายามให้มากขึ้นอีก

ผู้สื่อข่าวรายงานว่า วันที่ 1 พ.ย.ที่ผ่านมา ธนาคารโลกได้เผยแพร่รายงานอันดับความยากง่ายในการทำธุรกิจ (Doing Business) ของประเทศทั่วโลกประจำปี 62 ซึ่งประเทศไทยได้รับการจัดอันดับให้เป็นประเทศที่มีความสะดวกในการเข้าไปประกอบธุรกิจอันดับที่ 27 จากทั้งหมด 190 ประเทศ ลดลงจากอันดับที่ 26 ในการจัดอันดับปีก่อนหน้า แต่อย่างไรก็ตาม ประเทศไทยยังอยู่ในกลุ่ม 30 อันดับแรกของโลก นอกจากนี้หากพิจารณาจากคะแนนรวมในปีนี้ประเทศไทยได้รวมทุกด้าน 78.45 คะแนน เพิ่มขึ้น 1.06 คะแนน จากปีก่อนที่ได้คะแนนรวม 77.39 คะแนน ทั้งนี้ หากเทียบอันดับในกลุ่มประเทศเอเชียแปซิฟิกทั้งหมด พบว่า ไทยอยู่อันดับ 4 ของกลุ่ม รองจากสิงคโปร์ เขตเศรษฐกิจพิเศษฮ่องกง และมาเลเซีย แต่หากเทียบการจัดอันดับในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ไทยอยู่อันดับ 3 รองจากสิงคโปร์ และมาเลเซีย โดยอันดับของมาเลเซียขยับดีขึ้นมากในปีนี้ โดยดีขึ้น 9 อันดับ ขึ้นเป็นอันดับที่ 15 ของโลก

นางมารา วาร์วิค ผู้อำนวยการธนาคารโลกประจำประเทศไทย บรูไน มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ กล่าวว่า ในส่วนของประเทศไทย อันดับคะแนนที่เพิ่มขึ้น แสดงให้เห็นถึงความมุ่งมั่นที่จะปรับปรุงบรรยากาศในการประกอบธุรกิจให้กับผู้ประกอบการเอกชน โดยปีนี้ไทยได้มีการปฏิรูปด้านกฎระเบียบประสบความสำเร็จทั้งสิ้น 4 ด้าน ดีขึ้นเป็นอันดับ 2 รองจากปีที่ผ่านมา ที่ปฏิรูปประสบความสำเร็จเป็นอันดับ 1 โดย 4 ด้านที่ดีขึ้นของไทยในปีนี้ คือ ด้านการเริ่มต้นธุรกิจ ด้านการขอใช้ไฟฟ้า ด้านการชำระภาษีดีขึ้น และด้านการค้าต่างประเทศ

ส่วนความยากง่ายในการทำธุรกิจที่ไทยต้องปรับปรุง คือ ด้านการบังคับใช้สัญญาที่เป็นไปตามข้อตกลง การได้รับสินเชื่อ และการจดทะเบียนทรัพย์สิน โดยในส่วนของการบังคับใช้สัญญา ส่วนที่ควรเพิ่ม คือ ศาลที่มีความเชี่ยวชาญพิเศษในเรื่องนี้ ซึ่งในต่างประเทศหลายประเทศมีแล้ว ขณะที่การจดทะเบียนทรัพย์สินนั้น ค่าใช้จ่ายในการจดทะเบียนของไทยสูงกว่าค่าเฉลี่ยในประเทศเอเชียแปซิฟิก ส่วนการขอใช้สินเชื่อมองว่า แม้จะมีสถาบันการเงินมาก แต่ยังไม่ครอบคลุมทุกกลุ่มคนที่ต้องการสินเชื่อทั้งหมด รวมทั้งวิธีปฏิบัติในการขอสินเชื่อยังไม่ดีพอ “การจัดอันดับเป็นเรื่องที่ละเอียดอ่อน คะแนนที่ดีขึ้น ไม่ได้หมายถึงอันดับที่สูงขึ้น ดังนั้นแม้ไทยจะทำคะแนนได้ดีขึ้น แต่ประเทศอื่นๆก็ทำดีขึ้นด้วย และอาจจะดีกว่า แต่เชื่อว่ารัฐบาลจะพยายามปฏิรูปประเทศต่อไป”

ด้านนายปกรณ์ นิลประพันธ์ เลขาธิการ สำนักงานคณะกรรมการพัฒนาระบบราชการ (ก.พ.ร.) กล่าวว่า การจัดอันดับครั้งนี้ ไทยมีผลคะแนนเพิ่มขึ้น 7 ด้าน คือ ด้านการขอใช้ไฟฟ้า 98.57 คะแนน การขอเริ่มต้นธุรกิจ 92.7 คะแนน ด้านการจดทะเบียนทรัพย์สิน 69.47 คะแนน ด้านการคุ้มครองผู้ลงทุนเสียงข้างน้อย 75 คะแนน ด้านการชำระภาษี 77.72 คะแนน ด้านการค้าระหว่างประเทศ 84.65 คะแนน และด้านการแก้ไขปัญหาการล้มละลาย 76.64 คะแนน ส่วนอันดับที่ลดลง คือ การขออนุญาตก่อสร้าง แม้คะแนนจะเพิ่มขึ้นแต่อันดับลดลงมาก จากอันดับที่ 43 ในปีที่ผ่านมา ลงมาอยู่ที่อันดับ 67 ในปีนี้ ขณะที่ด้านการขอสินเชื่อที่คะแนนเท่าเดิมนั้น เป็นเพราะการให้สินเชื่อที่ธนาคารโลกมอง ไม่ได้หมายถึงการเข้าถึงสินเชื่อ แต่หมายถึงคุณภาพของสินเชื่อ “อันดับไม่ได้บอกอะไรได้ทั้งหมด แต่จะดูคะแนนในแต่ละด้านว่ามีพัฒนาการดีขึ้นหรือไม่ เป้าหมายของ ก.พ.ร.ในปี 62 ต้องการให้หน่วยงานรัฐลดระยะเวลาการติดต่อของประชาชน และค่าใช้จ่ายในการขออนุญาตลง 50%

นายปกรณ์ กล่าวต่อว่า สำหรับการพัฒนาด้านต่างๆในอนาคต หลังเลือกตั้งทั่วไปคงต้องพิจารณาว่ารัฐบาลใหม่ที่เข้ามาต้องการพัฒนาไปในทิศทางใด เพราะมองว่าหากมีความขัดแย้งหรือความวุ่นวาย อาจก่อให้เกิดความไม่มั่นใจของนักลงทุนได้ ซึ่งนโยบายที่ต้องการให้คงไว้เพื่อการพัฒนาขีดความสามารถของรัฐและเอกชน คือ การไปสู่รัฐบาลอิเล็กทรอนิกส์ การใช้ระบบเชื่อมโยงข้อมูลออนไลน์ในการทำงาน รวมทั้งเร่งลงทุนโครงสร้างพื้นฐาน เพื่อพัฒนาศักยภาพประเทศ

ขณะที่นายสมคิด จาตุศรีพิทักษ์ รองนายก-รัฐมนตรี กล่าวว่า ผล Doing Business ที่ประกาศล่าสุด ประเทศไทยดีขึ้น เพราะคะแนนเพิ่มขึ้น แต่ประเทศอื่นก็ดีขึ้นเช่นกัน เช่น มาเลเซีย ด้าน digitization มาเลเซียก้าวหน้า สำหรับไทย ก็ต้องพยายามมากขึ้นอีก เพราะแข่งขันสูง “เราไม่ได้แย่ลง แต่การเพิ่มขึ้นยังไม่เพียงพอ การเข้าสู่การใช้ดิจิทัลในการให้บริการเป็นหัวใจที่สามารถเชื่อมโยงข้อมูลการให้บริการได้ครบวงจร และให้บริการได้ ณ จุดเดียวในทุกหน่วยงานมีความสำคัญ ตลอดจนการปรับกฎหมายต่างๆ ให้กระชับสะดวก ซึ่งเป็นสิ่งที่เราต้องพัฒนาต่อไป”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ