อาลีบาบาบุกค้าปลีกไทย เอสเอ็มอีไทยจะรอดสักกี่ราย

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ

Tag

อาลีบาบาบุกค้าปลีกไทย เอสเอ็มอีไทยจะรอดสักกี่ราย

Date Time: 1 พ.ย. 2561 05:01 น.

Summary

  • นายเจมส์ ตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย ในเครือ อาลีบาบา กรุ๊ป บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จีนของ แจ็ค หม่า ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียน รีวิว ว่า

Latest

จับโรงงานผลิตเหล็กเส้นคุณภาพต่ำ "เอกนัฏ" ส่ง "ชุดตรวจการณ์สุดซอย" รวบนอมินีจีน

นายเจมส์ ตง ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร ลาซาด้า ประเทศไทย ในเครือ อาลีบาบา กรุ๊ป บริษัทอีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่จีนของ แจ็ค หม่า ให้สัมภาษณ์กับ สำนักข่าวนิกเกอิ เอเชียน รีวิว ว่า อาลีบาบา จะนำกลยุทธ์ “การค้าปลีกรูปแบบใหม่” หรือ “นิว รีเทล” แบบผสมระหว่าง “ออนไลน์” กับ “ออฟไลน์” เข้ามาบุกตลาด เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ ในเร็วๆนี้ โดยจะใช้ ประเทศไทย เป็นต้นแบบการค้าปลีกรูปแบบใหม่ในภูมิภาคนี้

นายตง กล่าวว่า อาเซียนเป็นตลาดต่างประเทศที่ใหญ่ที่สุดของอาลีบาบา โดย อาลีบาบา ทำธุรกิจผ่าน แพลตฟอร์มลาซาด้า ใน 6 ประเทศอาเซียน ภูมิภาคนี้จึงสำคัญอย่างยิ่งต่อการขยายเข้าสู่ตลาดโลกของอาลีบาบา

นายตง กล่าวว่า รูปแบบการค้าปลีกที่อาลีบาบาจะนำมาใช้ในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ จะคล้ายกับที่ทำในประเทศจีน โดยเลือกไทยเป็นตู้โชว์ ผู้บริโภคค้าปลีกในตลาดอาเซียนมีความคล้ายกันมากกับผู้บริโภคจีน ทั้งพฤติกรรมและอำนาจซื้อ คู่แข่งรายใหญ่ของอาลีบาบาในภูมิภาคนี้คือ “อะเมซอน” อีคอมเมิร์ซยักษ์ใหญ่สัญชาติสหรัฐฯ ที่เข้ามาปักหลักใน สิงคโปร์ เมื่อปีที่แล้ว และกำลังจะรุกเข้าไปใน ตลาดเวียดนาม และ อินโดนีเซีย รวมทั้ง ร้านค้าปลีก อะเมซอนโก ที่ไม่ต้องมีแคชเชียร์

ร้านค้าปลีกแบบใหม่ ของ อาลีบาบา ที่จะนำมาบุกอาเซียน จะมีการปรับปรุงร้านให้เข้ากับ ระบบชำระเงินอิเล็กทรอนิกส์ การส่งสินค้าตามสั่ง การวิเคราะห์ข้อมูลผู้บริโภค

ข้อมูลจากบริษัทที่ปรึกษา บอสตัน คอนซัลติ้งกรุ๊ป ระบุว่า เอเชียตะวันออกเฉียงใต้ เพิ่งตื่นตัวเรื่องอีคอมเมิร์ซ นำโดยผู้บริโภคที่เชี่ยวชาญเทคโนโลยีในสิงคโปร์ แต่ผู้บริโภคสิงคโปร์ยังมีธุรกรรมค้าปลีกผ่านออนไลน์เพียง 5.5% เท่านั้น ถือว่าน้อยมาก ส่วนที่ อินโดนีเซียมีการทำธุรกรรมค้าปลีกผ่านออนไลน์แค่ 3.1% เทียบกับ ประเทศจีน ที่มีการทำธุรกรรมออนไลน์สูงถึง 20% ของยอดการค้า

อ่านข่าวนี้แล้วผมก็หนาวยะเยือกแทน ร้านโชห่วย และ ธุรกิจเอสเอ็มอีไทย ไม่รู้ ในอนาคตจะเหลือรอดสักกี่ราย ท่ามกลางการแข่งขันของสองยักษ์ใหญ่อีคอมเมิร์ซโลกที่มีทุนมหาศาลและมีต้นทุนต่ำกว่าเอสเอ็มอีไทยแบบมองไม่เห็นฝุ่น

อย่าง อาลีบาบา ที่เข้ามาทำธุรกิจค้าปลีกในไทยแบบออนไลน์และออฟไลน์ ก็ไม่ได้มาตัวเปล่า ได้รับการสนับสนุนจากรัฐบาลไทยเต็มที่ ได้รับการส่งเสริมการลงทุนจากบีโอไอไม่ต้องเสียภาษีสักสลึงไปนับสิบปี โดยเฉพาะ ไช่เหนี่ยว (Cainiao) บริษัทโลจิสติกส์รับส่งสินค้ายักษ์ใหญ่ของอาลีบาบา ที่จะมาตั้งฮับโลจิสติกส์ในไทย เพิ่งจับมือกับ เซี่ยงไฮ้ ออโตโมบิล ออกแบบ ผลิตรถบรรทุกเล็กอัจฉริยะควบคุมด้วยระบบ IoT อินเตอร์ทุกสรรพสิ่ง 1 ล้านคัน เพื่อใช้ส่งสินค้าอีคอมเมิร์ซ โดยเฉพาะ รถบรรทุกเล็กอัจฉริยะ (Smart Van) ติดตั้งระบบเอไอในรถ ซึ่งจะช่วยวิเคราะห์เส้นทางส่งสินค้าแบบเรียลไทม์ ได้ทดลองให้บริการนำร่องที่ เมืองเสิ่นเจิ้น และ เฉิงตู เดือนเมษายนที่ผ่านมา สามารถลดระยะทางวิ่งได้ 30% ประหยัดต้นทุนการขนส่งลงได้ 20%

ดู อาลีบาบา แล้ว เหลียวกลับมาดู เอสเอ็มอีไทย ที่รัฐบาลประกาศส่งเสริมทุกวัน แต่เหี่ยวเฉาลงไปทุกวัน วันวาน ดร.เสาวณีย์ ไทยรุ่งโรจน์ อธิการบดี มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย เปิดเผย ผลสำรวจการใช้โลจิสติกส์ของเอสเอ็มอีไทย พบว่ามีการใช้เทคโนโลยีน้อยมาก ส่วนใหญ่ไปใช้บริการ ไปรษณีย์ไทย เคอรี่ บริษัทขนส่ง ไลน์แมน รถโดยสารเอกชน และ รถไฟ โดย ดร.ธนวรรธน์ พลวิชัย รองอธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย ระบุว่า เอสเอ็มอีไทยมีต้นทุนโลจิสติกส์อยู่ที่ 20% ของจีดีพีเอสเอ็มอีมูลค่า 6 ล้านล้านบาท เท่ากับ มีต้นทุนโลจิสติกส์สูงถึง 1.2 ล้านล้านบาท สูงมากเมื่อเทียบกับธุรกิจขนาดใหญ่

ถ้ามาเจอ ไช่เหนี่ยว โลจิสติกส์ ของ อาลีบาบา ที่ใช้ รถบรรทุก เล็กอัจฉริยะ ไม่รู้ว่า อนาคตเอสเอ็มอีไทยจะรอดสักกี่ราย เขียนไปผมก็ใจหายไปกับอนาคตประเทศไทย.

“ลม เปลี่ยนทิศ”


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ
หนังสือพิมพ์ไทยรัฐ