หนุนเก็บเพิ่มเงินประกันสังคม 1 พันบาท ให้กองทุนอยู่รอด จ่ายบำนาญฉลุย!

Economics

Thailand Econ

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ

Tag

หนุนเก็บเพิ่มเงินประกันสังคม 1 พันบาท ให้กองทุนอยู่รอด จ่ายบำนาญฉลุย!

Date Time: 5 ก.ย. 2561 18:39 น.

Video

ทางรอดเศรษฐกิจไทยในยุค AI ครองโลก | 1st Anniversary Thairath Money

Summary

  • พลันเจ้ากระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ออกมาระบุอยู่ระหว่างดำเนินการปรับเพดานอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม

Latest


พลันเจ้ากระทรวงแรงงาน พล.ต.อ.อดุลย์ แสงสิงแก้ว ออกมาระบุอยู่ระหว่างดำเนินการปรับเพดานอัตราการจ่ายเงินสมทบเข้ากองทุนประกันสังคม จากฐานเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท หรือเก็บจาก 750 บาท เป็น 1,000 บาท แต่ยังไม่ฟันธงว่าจะเสนอต่อรัฐบาลให้ไฟเขียวเมื่อใด? เหมือนเช็กกระแสมีคนเห็นด้วยหรือไม่ หากไม่เห็นด้วยจะยังไม่ดำเนินการขยับขึ้น

ก่อนหน้านั้นประมาณเดือน ต.ค.ปี 60 สำนักงานประกันสังคม เคยออกมายืนยันต้องมีการปรับเพิ่มเพดานการจ่ายสมทบให้มากขึ้นเข้ากองทุนประกันสังคม โดยผู้ที่มีเงินเดือนไม่ถึง 16,000 บาท จะใช้ฐานคำนวณเดิม เก็บเงินเข้ากองทุน 750 บาท เงินเดือน 16,000 บาท แต่ไม่ถึง 20,000 บาท จะเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน 800 บาท หรือเพิ่มขึ้น 50 บาท ส่วนผู้ประกันตนที่มีฐานเงินเดือน 20,000 บาทขึ้นไป จะเก็บเงินสมทบเข้ากองทุน 1,000 บาท หรือ เพิ่มขึ้น 250 บาทต่อเดือน

พร้อมเพิ่มสิทธิ์ประโยชน์ระยะสั้น สำหรับผู้ประกันตนที่มีเงินเดือน 20,000 บาท จะได้รับเงินประกันว่างงานจากเดิม 7,500 ปรับเป็น 10,000 บาท หากเจ็บป่วยจากเดิมได้ 50% จะปรับสูงสุดอยู่ที่ 10,000 บาท ขณะที่เงินสงเคราะห์เพื่อการดูแลบุตร 90 วัน จากเดิมจ่าย 22,500 บาท จะปรับขึ้นเป็น 30,000 บาท ส่วนสิทธิระยะยาว กรณีเงินชดเชยบำนาญ จะจ่ายเพิ่มจาก 3,000 บาท เป็นจ่ายสูงสุด 4,000 บาท

ขณะนั้นได้มีผู้เห็นด้วย และไม่เห็นด้วยเป็นวงกว้าง ทำให้แนวคิดดังกล่าวเงียบหายไป จนล่าสุด พล.ต.อ.อดุลย์ ออกมายืนยันจะต้องมีการปรับเพิ่มเงินสมทบประกันสังคม


ขณะที่ดร.วิโรจน์ ณ ระนอง ผู้อำนวยการวิจัย ด้านเศรษฐศาสตร์สาธารณสุขและการเกษตร สถาบันวิจัยเพื่อการพัฒนาแห่งประเทศไทย หรือทีดีอาร์ไอ เปิดเผยทีมเจาะประเด็นไทยรัฐออนไลน์ ว่าเห็นด้วยกับการปรับเพดานอัตราการจ่ายเงินสมทบจากฐานเงินเดือน 15,000 บาท เป็น 20,000 บาท เนื่องจากเพดานฐานเงินเดือน 15,000 บาทนี้ ถูกใช้มาตั้งแต่เมื่อเริ่มตั้งกองทุนประกันสังคมเมื่อปี 33 ซึ่งปกติเงินสมทบประกันสังคมก็มีความถดถอยต่อรายได้อยู่แล้ว โดยคนเงินเดือน 15,000 จ่าย 5% ของเงินเดือน แต่เมื่อเงินเดือนสูงขึ้นเป็น 100,000 ก็ยังจ่าย 5% ของ 15,000 ซึ่งเมื่อคำนวณแล้วเท่ากับจ่ายไม่ถึง 1% ที่สำคัญอีกอย่างก็คือ เพดาน 15,000 บาท ที่ใช้คิดเงินสมทบประกันสังคมนั้นใช้มาเกือบ 30 ปีแล้ว ซึ่งสมัยนั้นอาจถือได้ว่าสูงพอสมควร แต่เมื่อเวลาผ่านไป ถึงเงินจะเฟ้อ แต่เพดานก็หยุดอยู่กับที่ ซึ่งทำให้มูลค่าที่แท้จริงของเงินสมทบประกันสังคมลดลง ซึ่งทำให้เกิดปัญหาตามมา

ทั้งนี้การกำหนดเพดานจ่ายเงินสมทบประกันสังคมที่คงที่ที่ 15,000 บาทถือว่าต่ำมากในทุกวันนี้ เพราะเมื่อเวลาผ่านไปเกือบ 30 ปี รายได้เพิ่มขึ้นสูง กลายเป็นว่าอัตราที่จ่ายเงินประกันสังคมต่ำลงเรื่อยๆ และเมื่อเก็บเงินสมทบในอัตราที่ต่ำ ก็ทำให้ผลประโยชน์ต่างๆ ที่ประกันสังคมจ่ายให้ก็ต้องต่ำตามไปด้วย ไม่ว่าจะเป็นงบรักษาพยาบาลที่ประกันสังคมจ่ายให้โรงพยาบาล หรือเงินบำนาญที่ผู้ประกันตนจะได้ยามเกษียณ

“หากเทียบกับโครงการ 30 บาท ที่เถียงกันเรื่องค่าหัวเป็นประจำ แต่เราจะเห็นได้ว่า 30 บาทมีการปรับค่ารักษาต่อหัวขึ้นทุกปี มากบ้างน้อยบ้าง ตรงข้ามกับประกันสังคมที่ปรับเพิ่มได้ยากกว่ามาก เพราะติดที่เพดานเงินสมทบ ส่วนตัวมองว่าปรับเพดานเป็น 20,000 ยังถือว่าน้อยและช้าไปเสียด้วยซ้ำ เพราะถ้าปรับตามอัตราเงินเฟ้อก็คงเกิน 30,000 บาทไปแล้ว จริงๆ เรื่องนี้ควรต้องทำมานานแล้ว ผมและนักวิจัยที่เคยทำเรื่องนี้เคยเสนอกันมาเป็น 10 ปีแล้วว่าควรต้องให้ปรับเพิ่มให้ใกล้เคียงกับเงินเฟ้อ ซึ่งการปรับก็ไม่ได้ทำให้คนจนเดือดร้อน หรือเป็นภาระที่เพิ่มขึ้นของคนที่เงินเดือนต่ำกว่า 15,000 บาท แต่เป็นภาระเพิ่มเฉพาะกับคนที่มีรายได้เกิน 15,000 ซึ่งก็เก็บตามเงินเดือนจริง”

อีกทั้งที่ผ่านมา นักวิชาการหลายคนเคยทำวิจัยว่า ถ้าปล่อยไปแบบที่เป็นอยู่ กองทุนประกันสังคมของไทยจะไม่สามารถอยู่ได้ยั่งยืนในระยะยาว จึงควรรีบปรับเพดานฐานเงินเดือนการจ่ายสมทบ ให้กองทุนประกันสังคมมีความมั่นคงอยู่ได้ เพื่อเพิ่มอัตราค่ารักษาต่อหัวและสิทธิประโยชน์ระยะยาว อย่างเงินชดเชยบำนาญให้อยู่ได้

“ตอนนี้หลายคนเข้าใจว่ากองทุนประกันสังคมมีเงินเยอะ แต่รายจ่ายหลักจริงๆ ในอนาคตของกองทุนประกันสังคมคือเงินบำนาญ ซึ่งทุกวันนี้ก็จ่ายในอัตราที่ต่ำอยู่แล้ว แต่หากไม่มีการปรับเพิ่มเงินสมทบ เงินกองทุนจะร่อยหรอลงจนติดลบในอีกแค่ประมาณสิบกว่าปีข้างหน้า”

ดร.วิโรจน์ ยังกล่าวด้วยว่า ในปัจจุบันคนที่อยู่ในระบบประกันสังคมส่วนใหญ่ก็มีชีวิตการเป็นอยู่ดีกว่าคนที่ใช้สิทธิบัตร 30 บาท ดังนั้น คนมีเงินมากกว่า ก็ควรจ่ายเงินประกันสังคมเพิ่มขึ้น เพื่อนำไปปรับปรุงการรักษาให้ดีขึ้น ซึ่งในที่สุดก็จะได้ไปประโยชน์กับตัวเองด้วย เพราะปัจจุบันที่ประเทศไทยมีความเหลื่อมล้ำมาก คนชั้นกลางเองไม่ค่อยยินดีที่จ่ายภาษีให้ไปปรับปรุงโครงการอย่าง 30 บาท หรือเงินสมทบประกันสังคมเพิ่มขึ้น แต่พวกเขาหรือนายจ้างกลับต้องจ่ายเงินอีกมากไปซื้อประกันเพิ่ม ซึ่งแตกต่างกับประเทศยุโรปที่แทบทุกคนใช้สิทธิประกันสุขภาพของรัฐหรือประกันสังคม ซึ่งจัดบริการที่รักษาพยาบาลที่ประชาชนยอมรับในคุณภาพ

“ถ้าระบบประกันสังคมของเราสามารถเก็บเงินสมทบเพิ่มขึ้นทันกับเงินเฟ้อ และปรับเพิ่มค่ารักษาต่อหัวและสิทธิประโยชน์อื่นๆ ตามไปด้วย ผู้ประกันตนที่จ่ายเงินสมทบเพิ่มขึ้นก็น่าจะได้รับประโยชน์จากการมีประกันสังคมมากขึ้นในระยะยาว”.


Author

กองบรรณาธิการ

กองบรรณาธิการ