“อาคม“ ชงรถไฟไทย-ญี่ปุ่น 2.7 แสนล้าน เข้า ครม. ก.ย.นี้ พร้อมดันรถไฟไทย-จีน เฟส 2 โคราช-หนองคาย เข้า ครม.สิ้นปี
วันที่ 2 ส.ค. นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม เปิดเผยถึงความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูง (ไฮสปีดเทรน) ไทย-ญี่ปุ่น ระยะ 1 ช่วงกรุงเทพฯ-พิษณุโลก ในระยะทาง 380 กิโลเมตร (กม.) วงเงินลงทุนราว 276,000 ล้านบาท ว่า ขณะนี้อยู่ระหว่างรอความเห็นตอบกลับจากสำนักงานคณะกรรมการพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ และหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง คาดว่าจะนำเสนอโครงการให้คณะรัฐมนตรีพิจารณาได้ในเดือน ก.ย.-ต.ค.นี้ โดยจะเป็นการนำเสนอเฉพาะงานด้านการก่อสร้างโครงสร้างพื้นฐานเท่านั้น คาดว่าจะเริ่มออกแบบรายละเอียดก่อสร้างได้ในปี 62
ส่วนแผนการพัฒนาพื้นที่โดยรอบนั้น ได้แยกออกจากโครงการส่วนก่อสร้างซึ่งจะมีการนำเสนอ ครม.ให้พิจาณาภายหลัง โดยขณะนี้ ญี่ปุ่น และสำนักงานนโยบายและแผนการขนส่งและจราจร หรือ สนข.ได้ร่วมกันศึกษา
สำหรับรูปแบบการลงทุนนั้น เบื้องต้น ฝ่ายไทยได้เสนอขอให้ญี่ปุ่นเข้าร่วมลงทุนในโครงการดังกล่าว แต่ญี่ปุ่นยังไม่ได้ให้คำตอบที่ชัดเจน โดยจะต้องคุยรายละเอียดเรื่องรูปแบบกับญี่ปุ่นต่อไป ซึ่งหากจะมีการร่วมลงทุนกับไทยแล้ว ส่วนใหญ่ญี่ปุ่นจะเน้นลงทุนด้านโครงสร้างพื้นฐาน ไม่ใช่การลงทุนพัฒนาพื้นที่
นายพีระพล ถาวรสุภเจริญ รองปลัดกระทรวงคมนาคม เปิดเผยว่า วันที่ 8-10 ส.ค.นี้ นายอาคม เติมพิทยาไพสิฐ รมว.คมนาคม จะเดินทางไปยังประเทศจีน เพื่อร่วมประชุมคณะกรรมการร่วมเพื่อความร่วมมือด้านรถไฟระหว่างไทย-จีน เตรียมจัดการประชุมร่วมครั้งที่ 25 ที่กรุงปักกิ่ง เพื่อติดตามความคืบหน้าโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟส 1 ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา โดยขณะนี้ฝ่ายไทยได้เริ่มก่อสร้างช่วง 3.5 กิโลเมตรแรกไปแล้ว โดยฝ่ายไทยจะเปิดประมูล เส้นทางช่วงที่ 2 สีคิ้ว-กุดจิก ระยะทาง 11 กิโลเมตร มูลค่า 4,000 ล้านบาท ได้ในปลายเดือน ส.ค.-เดือน ก.ย. โดยจะนำเงื่อนไขการประมูล (TOR) ขึ้นรับฟังความเห็นบนเว็บไซต์ในเดือน ส.ค.นี้ ส่วนการก่อสร้างที่เหลืออีก 13 สัญญา ก็จะทยอยเปิดประมูลหาผู้รับเหมาให้แล้วเสร็จภายในปีนี้
นอกจากนี้ การรถไฟแห่งประเทศไทย จะว่าจ้างที่ปรึกษาเพื่อทบทวนผลการศึกษาโครงการรถไฟความเร็วสูงไทย-จีน เฟสที่ 2 ช่วงนครราชสีมา-หนองคาย คาดว่าจะเสนอให้ ครม.พิจารณาอนุมัติโครงการได้ ภายในสิ้นปีนี้ และฝ่ายจีนจะศึกษาเส้นทางจากช่วงหนองคาย-เวียงจันทน์ ประเทศลาว คาดว่าจะใช้เวลาศึกษาประมาณ 2 เดือน