วันที่ 24 มิถุนายน เวลาประมาณ 20 นาฬิกา พุทธศักราช 2561 ประเทศไทยได้สูญเสียทรัพยากรบุคคลมีค่าของวงการธนาคารพาณิชย์ และระบบเศรษฐกิจการเงินที่สำคัญอย่างยิ่งยวดไปอีกคน ด้วยว่าวัยและเวลาของเขามาถึงแล้วนั่นเอง
นายชาตรี โสภณพนิช ประธานกรรมการธนาคารกรุงเทพ ที่จากไปอย่างสงบด้วยอาการชราภาพในวัย 85 ปี
“ทีมเศรษฐกิจ” เขียนบทความชิ้นนี้ด้วยความอาลัยต่อการจากไปของนายธนาคารอารมณ์ดี ที่ให้เกียรติผู้คนทั่วไปเสมอ จนกระทั่งมีชื่อเรียกขานมากมาย เพราะความเป็นกันเอง ไม่ถือตัว ตรงไปตรงมา
สื่อมวลชนสายแบงก์เรียกเขาว่า BOSS ตามคำเรียกขานของพนักงานธนาคารกรุงเทพ ขณะที่ผู้คนทั่วไปรวมทั้งที่อยู่ในวงการเรียกเขาว่า “เจ้าสัว”
เพราะธนาคารกรุงเทพที่ครอบครัวของเขาเป็นเจ้าของผู้ก่อตั้งนั้น เติบโตมาจนครองความเป็นธนาคารพาณิชย์ที่ใหญ่เป็นอันดับ 1 ของประเทศติดต่อกันยาวนานถึง 73 ปี นับตั้งแต่คน ในรุ่นก่อตั้งจนถึงคนในเจเนอเรชันที่ 3 ที่ “นายชาติศิริ โสภณพนิช” รับไม้ต่อจากบิดาของเขา
เมื่อ ครั้งที่ “เจ้าสัวชาตรี” เข้ารับตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนใหม่ของธนาคารกรุงเทพที่บิดาของเขา นายห้างชิน โสภณพนิช เป็นผู้ก่อตั้งในปี พ.ศ.2523 หลายคนจับจ้องดูการทำงาน และการขับเคลื่อนธุรกิจของธนาคารกรุงเทพของเขาว่าจะทำได้ดีเท่ากับ “นายห้างชิน” หรือไม่
แต่เพียงไม่กี่ปีที่รับตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการใหญ่” ทัพของเจ้าสัวชาตรีที่ประกอบไปด้วยเพื่อนรักทั้งของบิดาและตนเองอย่าง นายบุญชู โรจนเสถียร นายดำรง กฤษณามระ นายปิติ สิทธิอำนวย นายเดชา ตุลานันท์ และคนอื่นๆ ก็ทำให้ยอดสินทรัพย์ เงินฝาก และธุรกิจของธนาคารทั้งในและต่างประเทศเติบใหญ่เป็นเท่าตัว!
ขณะเดียวกันยังแตกหน่อออกไปในหลายกิจการ โดยเฉพาะธุรกิจบริษัทเงินทุนหลักทรัพย์
“เจ้าสัวชาตรี” ในเวลานั้น จึงถูกเรียกขานว่า “อภิชาตบุตร” ซึ่งหมายถึงบุตรที่ไม่เพียง จะสามารถรักษาสถานะของธุรกิจครอบครัวไว้ได้เป็นอย่างดีเท่านั้น หากแต่ยังสามารถสร้างธุรกิจให้เติบใหญ่จนกลายเป็นอาณาจักรที่มีมูลค่านับล้านล้านบาท เพื่อส่งต่อให้แก่ทายาทรุ่นต่อไปได้อย่างมีเกียรติภูมิด้วย
“เจ้าสัวชาตรี” เริ่มต้นการเป็นนายธนาคารของเขาเมื่อวันที่ 1 ตุลาคม 2502 ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการใหญ่ฝ่ายบัญชี และใช้เวลา 10 ปีกับการรับผิดชอบตำแหน่งนี้ นั่นจึงทำให้เขามีประสบการณ์ในการทำงานอย่างกว้างขวาง โดยเฉพาะในการให้คำชี้แนะเรื่องการปล่อยเงินกู้เบิกเกินบัญชี หรือเงิน OD ให้แก่ลูกค้า
ในปี 2506 เขาได้รับแต่งตั้งให้เป็นเจ้าหน้าที่บริหารระดับรองผู้จัดการ เป็นกรรมการผู้จัดการอาวุโสในปี 2513 และเป็นกรรมการรองผู้จัดการใหญ่ในปี 2517 ก่อนจะได้รับแต่งตั้งให้เป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ในปี 2523
ช่วงที่เขาก้าวขึ้นรั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพนั้น เป็นไปค่อนข้างกะทันหันเรียกได้ว่าเป็น
ช่วงหัวเลี้ยวหัวต่อของธนาคารก็ว่าได้ เนื่องจาก “นายห้างชิน” ผู้เป็นบิดาซึ่งดำรงตำแหน่งประธานกรรมการนั้นอายุย่างเข้าสู่วัยชรา 70 ปีแล้ว
ขณะที่ นายบุญชู โรจนเสถียร กรรมการผู้จัดการใหญ่ขณะนั้น กำลังจะลาออกเนื่องจากได้รับพระบรมราชโองการโปรดเกล้าฯให้ดำรงตำแหน่ง “รองนายกรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ” ในรัฐบาลของ พล.อ.เปรม ติณสูลานนท์ ประธานองคมนตรีและรัฐบุรุษในปัจจุบัน
“เจ้าสัวชาตรี” ได้รับความไว้วางใจจากคณะกรรมการธนาคารแต่งตั้งให้ดำรงตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่คนที่ 4 ขณะที่เขามีอายุเพียง 46 ปี แม้ทำงานที่ธนาคารกรุงเทพมานานถึง 21 ปีแล้ว กระนั้นก็ยังไม่ได้สร้างผลงานที่โดดเด่นที่จะสร้างความเชื่อมั่นให้กับผู้คนส่วนใหญ่ ไม่ว่าจะนอกหรือในธนาคารว่าจะสามารถทำหน้าที่ผู้บริหารสูงสุดของธนาคารได้ดีเพียงใด และจะเทียบเคียงกับ “นายห้างชิน” หรือ “นายบุญชู” เพื่อนคู่บุญของนายห้างที่ร่วมกันสร้างรากฐานความเป็นปึกแผ่นมั่นคงทำให้ธนาคารกรุงเทพเจริญก้าวหน้าเป็นที่ประจักษ์แก่มหาชนได้เพียงใด
แต่ผู้ที่สนับสนุนเจ้าสัวชาตรีให้ขึ้นรั้งตำแหน่งผู้นำสูงสุดขององค์กรและแสดงความมั่นใจในฝีไม้ลายมือนายชาตรีมากกว่าใครก็คือ “นายบุญชู โรจนเสถียร” ที่ได้ชื่อว่า “ซาร์เศรษฐกิจเมืองไทย” นั่นเอง เพราะตลอดระยะเวลายาวนานที่ทั้งสองมีโอกาสทำงานใกล้ชิดกัน นายบุญชูได้ให้คำแนะนำสั่งสอนวิธีการทำงานต่างๆแก่เจ้าสัวชาตรีมากมาย จนมีความรู้ความเข้าใจในหน้าที่ของนายธนาคารเป็นอย่างดี
การทำงานอย่างใกล้ชิดกันนี้ ยังทำให้นายบุญชูได้เห็นความตั้งใจ การเอาใจใส่ในหน้าที่การงานที่ได้รับมอบหมายอย่างจริงจัง และเต็มความสามารถของเจ้าสัวชาตรีเป็นอย่างดี
สิ่งสำคัญที่นายบุญชูมองเห็นตัวตนของ “เจ้าสัวชาตรี” ก็คือ เขาเรียนมาทางด้านบัญชี มีความรู้ความสามารถที่เป็นหลักประกันสำคัญสำหรับการเป็นนายธนาคาร ประการที่ 2 นายบุญชูตระหนักดีว่านายห้างชินมีความรักใคร่ผูกพันกับธนาคารกรุงเทพมาก เช่นเดียวกับที่มีความรักใคร่ผูกพันในตัวบุตรชาย
ประการสุดท้าย นายบุญชูได้เห็นตัวตนของ “เจ้าสัวชาตรี” ว่าสามารถจะทำหน้าที่เป็นผู้นำที่ดีได้ เพราะเขามีความรับผิดชอบสูง และตรงไปตรงมา เมื่อใดที่เขารับปากกับงานที่ได้รับมอบหมายเขาจะทำมันจนสำเร็จ ไม่ว่าจะยากและมีความท้าทายเพียงใดก็ตาม
ที่สำคัญ เขาสามารถอดทนรอคอยที่จะเรียนรู้ สั่งสมประสบการณ์ภายในธนาคารกรุงเทพได้อย่างยาวนาน โดยที่ไม่ได้รู้สึกว่าเป็นลูกเจ้าของ หรืออาศัย “นายห้างชิน” พาสชั้นขึ้นไปแต่อย่างใด
และกาลเวลา กับประสบการณ์ที่เขาสั่งสมมาก่อนหน้า ก็ทำให้เขาก้าวข้ามปัญหาและวิกฤตการณ์ใหญ่ๆของประเทศมาได้ แม้สภาวะแวดล้อมทางเศรษฐกิจการเงินในต่างประเทศ และในประเทศจะเกิดสภาพความแปรปรวนต่อเนื่อง และรุนแรงเพียงใดก็ตาม
ในปี 2522 ก่อนการก้าวขึ้นเป็นกรรมการผู้จัดการใหญ่ธนาคารกรุงเทพ โลกได้เผชิญวิกฤตการณ์ยากลำบากมาอย่างต่อเนื่อง จากสถานการณ์ราคาน้ำมันที่ผันผวนและแพงจนกลายเป็นวิกฤติช็อกเศรษฐกิจไทยครั้งใหญ่ เพราะประเทศไทยต้องพึ่งพาการนำเข้าน้ำมันจากต่างประเทศในปริมาณและมูลค่าที่สูงมากในแต่ละปี
จึงเป็นเรื่องยากที่หลายธุรกิจอุตสาหกรรมจะรับได้ แม้ว่าการส่งออกสินค้าของประเทศไทยจะมีมูลค่ามาก แต่ราคาน้ำมันดิบที่สูงขึ้นทำให้ประเทศไทยขาดดุลการค้า ในขณะที่ฐานะการเงินฝืดเคือง ค่าครองชีพสูง และมีปัญหาข้อพิพาทแรงงานจนทำให้การผลิตชะงักงัน
ในเวลาเช่นนั้น ภาคอุตสาหกรรมได้รับผลกระทบอย่างหนักจากปัญหาพลังงาน และอัตราดอกเบี้ยที่ธนาคารจำเป็นต้องปรับสูงขึ้น ทำให้การลงทุนในประเทศชะลอตัวลงมาก และเมื่อเศรษฐกิจชะลอตัวลง ธนาคารพาณิชย์ทั้งระบบก็ได้รับผลกระทบอย่างรุนแรงตามไปด้วย
อย่างไรก็ตาม แม้เจ้าสัวชาตรีจะเป็นผู้ตัดสินใจในเรื่องต่างๆได้อย่างรวดเร็ว แต่กรณีเช่นว่านี้ การตัดสินเร่งด่วนอาจส่งผลกระทบรุนแรงต่อฐานะของธนาคาร เขาจึงปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การตัดสินใจของตนเองใหม่ ใช้ความเยือกเย็น และสุขุมพิจารณาปัญหาที่เกิดขึ้นอย่างรอบคอบ ไม่ใช้วิธีรุนแรงชนิดที่เรียกว่า “หักด้ามพร้าด้วยเข่า”
ยามเกิดวิกฤติครั้งใดขึ้น เจ้าสัวชาตรีจึงกลายเป็นผู้นำที่เข้มแข็งมากที่สุด โดยเฉพาะการทำงานกับพนักงาน ทั้งที่เป็นทีมเก่าและทีมใหม่ เขาสามารถทำให้การทำงานร่วมกันในการแก้ไขวิกฤติของทั้งสองทีมสอดประสานกันได้อย่างลงตัวและแข็งแกร่ง กระทั่งสามารถพลิกฟื้นฐานะของธนาคารให้ก้าวฝ่าวิกฤตการณ์ไปได้อย่างเฉียบคม
“เจ้าสัวชาตรี” เคยกล่าวไว้ว่า ใครจะมองตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ของธนาคารกรุงเทพ เป็นอย่างไรก็ตาม แต่สำหรับเขา เขามองว่าไม่ใช่ตำแหน่งที่เป็นกันได้ง่ายๆ
ผู้รับหน้าที่ในตำแหน่งนี้ต้องเป็นผู้มีความรับผิดชอบสูง ต้องทุ่มเทกำลังกายกำลังใจ กำลังความคิด และต้องมีความอดทนเป็นอย่างมาก เพราะตลอดเวลาจะมีเสียงวิพากษ์วิจารณ์ผ่านเข้ามาไม่หยุด มีทั้งชม และกล่าวหาทั้งตัวเราและคนอื่น จึงจำเป็นอย่างยิ่งที่จะต้องไม่เป็นคนหูเบา และไม่ยอมแพ้แก่สถานการณ์ต่างๆ
ที่สำคัญ และต้องถือเป็นงานหลักของกรรมการผู้จัดการใหญ่ก็คือ การแก้ไขปัญหาอะไรๆก็ตามที่คนอื่นแก้ไม่ได้ เราต้องรู้สึกยินดี และพร้อมที่จะแก้ไขปัญหานั้นๆด้วยความเต็มใจ เพราะถ้าปัญหามันไม่ยาก ก็คงไม่ขึ้นมาถึงกรรมการผู้จัดการใหญ่
นี่เป็นคำกล่าวของเขาที่ถูกบันทึกไว้ในหนังสือบันทึกความทรงจำของธนาคารกรุงเทพ
ในห้วงเวลาแห่งการเป็นนายธนาคารของ “เจ้าสัวชาตรี” นั้น เขาได้นำธนาคารกรุงเทพฝ่า “บททดสอบครั้งใหญ่” ที่ต้องเผชิญกับปัญหา และอุปสรรคต่างๆ มาหลายครั้ง
ในปี 2527 มีผู้ปล่อยข่าวลือแจกใบปลิวในย่านการค้าของคนจีนที่สำเพ็ง เยาวราช ทรงวาด พาหุรัด และราชวงศ์ โดยมีเนื้อหาระบุว่า “ธนาคารกรุงเทพ” กำลังจะล้ม เพราะการดำเนินนโยบายที่ผิดพลาดของสาขาฮ่องกงที่ปล่อยให้เกิดหนี้สูญหลายหมื่นล้านบาท
ขณะที่ในประเทศก็มีหนี้สูญอีกถึง 50,000 ล้านบาท จึงขอให้ผู้มีเงินฝากกับธนาคารกรุงเทพรีบไปถอนเงินออกมาจากธนาคารโดยด่วน
ข่าวลือนี้สร้างความหวั่นไหวให้กับผู้ฝากเงินกับธนาคารอย่างมาก และทำให้มีลูกค้าแห่มาถอนเงินกันเป็นจำนวนมาก จนผู้บริหารโดยเฉพาะเจ้าสัวชาตรี ต้องนำเงินสดออกมากองเป็นตั้งๆให้ผู้คนได้เห็นว่าธนาคารมีเงินมากพอที่จะให้ถอน และถอนอย่างไรธนาคารก็ไม่สะเทือน!
กระนั้นก็ยังไม่อาจหยุดความตื่นตระหนกของผู้ฝากเงินได้ จำเป็นที่ผู้บริหารธนาคารต้องขอเข้าพบผู้นำรัฐบาลเพื่อชี้แจงความเป็นจริง พร้อมทั้งขอให้ผู้นำรัฐบาลในช่วงเวลานั้น ซึ่งก็คือ “พล.อ.เปรม” ออกมาแถลงข่าวเพื่อสยบวิกฤติ สร้างความมั่นใจแก่ประชาชน
ด้วยกลยุทธ์ที่ “เจ้าสัวชาตรี” ขนเงินออกมาโชว์เต็มหน้าตัก และคำยืนยันของรัฐบาลจึงทำให้ธนาคารกรุงเทพผ่านบททดสอบครั้งใหญ่ภายในระยะเวลาอันสั้น ลูกค้าที่ถอนเงินออกไปเริ่มหวนกลับมาฝาก ธนาคารกรุงเทพได้รับความเชื่อมั่นกลับคืนมา
อีกครั้งในปี 2540 ที่ธนาคารกรุงเทพต้องเผชิญกับบททดสอบครั้งใหญ่ในปี 2540 ที่ประเทศไทยประสบ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ธนาคารน้อยใหญ่ต่างเผชิญปัญหาสถานะทางการเงินจากลูกค้าสินเชื่อรายใหญ่ที่กู้เงินจากต่างประเทศ โดยมีธนาคารค้ำประกัน
เมื่อมีการลอยตัวค่าเงินจึงทำให้ทั้งลูกค้าและธนาคารได้รับผลกระทบถ้วนหน้า ลูกค้าสินเชื่อไม่สามารถชำระหนี้ กลายเป็นหนี้ที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ (NPL) ธนาคารเองถูกบีบให้ต้องเพิ่มทุนเพื่อกันสำรองเพิ่ม โดยในส่วนของธนาคารกรุงทพนั้นต้องเพิ่มทุนจดทะเบียนกันถึง 3-4 รอบ
“เจ้าสัวชาตรี” ซึ่งขณะนั้นดำรงตำแหน่งประธานกรรมการบริหาร โดยมี นายชาติศิริ โสภณพนิช บุตรชายคนโต รั้งตำแหน่งกรรมการผู้จัดการใหญ่ ต้องใช้สรรพกำลังในการประคับประคองสถานะของธนาคารที่ถือเป็นธนาคารที่ใหญ่เป็นอันดับหนึ่งของเมืองไทย
ยอมตัดอวัยวะเพื่อรักษาชีวิต ด้วยการปิดกิจการของบริษัทหลักทรัพย์ในเครือของธนาคาร และธุรกิจอุตสาหกรรมต่างๆ ที่ธนาคารกรุงเทพเข้าไปลงทุน และตัดสินใจใช้วิธีระดมทุนด้วยการนำหุ้นบุริมสิทธิควบหุ้นกู้ด้อยสิทธิในรูปแบบ CAPS วงเงินกว่า 40,000 ล้านบาท ออกจำหน่ายแก่ประชาชนและนักลงทุนเพื่อกอบกู้สถานะของแบงก์ ก่อนจะฟันฝ่าวิกฤติต้มยำกุ้งในครั้งนั้นมาได้ สถานะการเงินของธนาคารกลับมามีความมั่นคงได้อีกครั้ง
กระทั่งวันนี้ ธนาคารกรุงเทพมีขนาดของสินทรัพย์สูงถึง 3.17 ล้านล้านบาท และยังคงครองความเป็นธนาคารพาณิชย์อันดับ 1 ต่อไป แม้ความเจ็บปวดที่ต้องปิดกิจการของลูกๆ จะยังเป็นแผลบาดลึกในใจ แต่ “เจ้าสัวชาตรี” ก็สามารถตัดใจ เพื่อรักษาธนาคารกรุงเทพ อันเป็นธุรกิจดั้งเดิมของครอบครัวไว้ได้
“เจ้าสัวชาตรี” เปิดใจกับ “ทีมเศรษฐกิจ” ถึงประสบการณ์อันเลวร้ายในการประคับประคองแบงก์กรุงเทพฝ่าวิกฤติต้มยำกุ้งในครั้งนั้นว่า วิกฤติในครั้งนี้หนักหนาสาหัสจนแทบยืนไม่ได้ แต่ท้ายที่สุดก็สามารถฝ่ากระแสน้ำเชี่ยวของ “วิกฤติต้มยำกุ้ง” ในครั้งนั้นมาได้
กระนั้นเขาก็กล่าวอย่างมีอารมณ์ ขันกับเราว่า หลังจากฝ่าวิกฤติในครั้งนั้นมาได้วันนี้ “ผมเป็นแค่เจ้าสัวเยสเตอร์เดย์ Yesterday ไปแล้ว”
ไม่เท่านั้น ตลอดระยะเวลา 12 ปีในตำแหน่ง “กรรมการผู้จัดการใหญ่” ของ “เจ้าสัวชาตรี” นั้น ถือเป็นยุคที่ธนาคารกรุงเทพเติบโตอย่างรวดเร็วชนิดก้าวกระโดด โดยในปี 2523 เมื่อครั้งก้าวขึ้นรั้งตำแหน่ง กรรมการผู้จัดการนั้นธนาคารมีสินทรัพย์รวม 121,099 ล้านบาท กำไรสุทธิ 880 ล้านบาท
และในช่วง 3 ปีแรกมีอัตราการเติบโตถึง 100% และมีอัตราการเติบโตโดยเฉลี่ยสูงถึงปีละ 30% เลยทีเดียว
ทำให้ตลอดระยะเวลา 12 ปีที่ดำรงตำแหน่ง กำไรสุทธิของธนาคารเพิ่มขึ้นถึง 12 เท่าตัว เงินทุนจดทะเบียนเพิ่มขึ้นเกือบ 7 เท่าตัว สินเชื่อและเงินฝากเพิ่มขึ้น 6 เท่าตัว สินทรัพย์เพิ่มขึ้น 5 เท่าตัว
ในปี 2535 ปีสุดท้ายที่รั้งตำแหน่งก่อนส่งผ่านไปให้ “โทนี่—นายชาติศิริ โสภณพนิช” บุตรชายคนโต รับไม้ต่อธนาคารมีกำไรสุทธิ 10,540 ล้านบาท สินทรัพย์รวมเพิ่มขึ้นเป็น 666,008 ล้านบาท ผงาดขึ้นมาเป็นธนาคารพาณิชย์อันดับ 1 ของประเทศ และยังเป็นอันดับ 1 ของอาเซียนด้วย
และยังคงเป็นอันดับหนึ่งของอาเซียนจนถึงวันนี้
“เจ้าสัวชาตรี” ได้บอกเคล็ดลับความสำเร็จของธนาคารว่า ในการทำงานของตนจริงๆมีอยู่สี่ประการด้วยกันคือ ทุ่มเทเอาใจใส่ ชอบการเปลี่ยนแปลง และกล้ารับผิดชอบ
“เมื่อเข้ารับตำแหน่งผู้จัดการใหญ่ ผมทิ้งงานอื่นๆทั้งหมด แล้วออกเยี่ยมสาขาเพื่อพบปะให้กำลังใจพนักงาน พูดคุยกับลูกค้าของธนาคารแทบทุกสาขาในท้องถิ่นทุรกันดาร ผมไปมาหมด และที่ผมภูมิใจมากที่สุดก็คือ ผมเป็นผู้จัดการใหญ่ที่ออกเยี่ยมสาขาต่างจังหวัดมากที่สุด”
เจ้าสัวชาตรีกล่าวถึงหัวใจสำคัญของความสำเร็จเมื่อปี 2529 ว่า ธนาคารกรุงเทพไม่ใช่ของ บุคคลใดบุคคลหนึ่งและไม่ได้อาศัยคนใดคนหนึ่ง เราทำงานกันเป็นทีมมาตั้งแต่ต้น “สมัยคุณพ่อ และคุณบุญชูทั้งคู่ต่างก็ร่วมมือกันทำงานแก้ไขปัญหา และสร้างความก้าวหน้าให้ธนาคารตามลำดับ โดยคุณพ่อเน้นหนักด้านการค้าซึ่งเป็นเรื่องที่ถนัด ขณะที่นายบุญชูได้เข้ามาสร้างระเบียบเป็นแม่ทัพในการสร้างธนาคารด้วยการเป็นนักบริหารที่เฉียบคม”
“ชาตรี โสภณพนิช” เกิดที่เมืองไทย เมื่อวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2479 แต่ต้องย้ายกลับไปอยู่ที่เมืองซัวเถา ประเทศจีน กับมารดา ตั้งแต่อายุหกขวบจนสำเร็จการศึกษาได้รับประกาศนียบัตรด้านการบัญชีจากวิทยาลัยการบัญชีชั้นสูงกวางไถ่ ที่ฮ่องกง เมื่อปี 2496 ก่อนจะเดินทางกลับมาฝึกงานที่ธนาคารกรุงเทพไม่กี่เดือน จึงตัดสินใจไปเรียนต่อที่ London Regent Street Poly-Technic ประเทศอังกฤษ
จึงเดินทางกลับประเทศไทยอีกทีในปี 2501 โดยนายห้างชินได้ส่งเจ้าสัวชาตรีไปเริ่มต้นทำงานที่บริษัท เอเชีย ทรัสต์ จำกัด ในตำแหน่งผู้ช่วยผู้จัดการ ก่อนจะได้รับการชักชวนให้เข้าไปทำงานที่ธนาคารกรุงเทพ
“หัวใจของความสำเร็จของธนาคารกรุงเทพไม่ได้อยู่ที่บุคคลใดบุคคลหนึ่ง และไม่ได้อาศัย คนใดคนหนึ่ง แต่เราทั้งหมดทำงานกันเป็นทีม ตั้งแต่ต้นตั้งแต่เริ่มก่อตั้งจนถึงวันที่ธนาคารกรุงเทพกลายเป็นธนาคารของมหาชน”
นายเดชา ตุลานันท์ ประธานกรรมการบริหาร ธนาคารกรุงเทพ จำกัด (มหาชน) บุคคลผู้ที่ทำงานใกล้ชิดเจ้าสัวชาตรีมากที่สุด บอกกับเราว่า “บอสพูดกับเขาเสมอว่า ลูกค้าต้องไม่ผิด”
แบงก์ต่างหากที่เป็นฝ่ายผิด เมื่อใดลูกค้ามีปัญหา อย่าด่วนสรุป ต้องคุยกันให้ดีก่อนตัดสินใจ ห้ามทะเลาะกับลูกค้า และถ้าลูกค้ากับลูกค้ามีปัญหากัน ก็ต้องเป็นตัวกลางเข้าไปเจรจา ต้องแฟร์ทั้งสองฝ่าย ผลประโยชน์ต้องลงตัว ไม่เข้าข้างฝ่ายใดฝ่ายหนึ่ง ด้วยว่าต้องให้ความเป็นธรรมกับทุกฝ่ายนั่นเอง
ที่สำคัญ ความขยัน อดทน ซื่อสัตย์ และกตัญญู คือหัวใจสำคัญของความสำเร็จที่เจ้าสัวชาตรียึดถือปฏิบัติมาอย่างต่อเนื่อง
คำสัมภาษณ์สุดท้ายก่อนที่ “เจ้าสัวชาตรี” จะลาจากพวกเราไป เราได้ขอให้เขาในฐานะประธานกรรมการบริหารธนาคารกรุงเทพกล่าวคำกราบถวายบังคมลา “ในหลวงรัชกาลที่ 9” ผู้ทรงพระคุณอันประเสริฐว่า...
“เขาจะน้อมนำกระแสพระราชดำรัสของเศรษฐกิจพอเพียงอันเป็นเสมือนรากฐานของชีวิต และความมั่นคงของแผ่นดินไปถือปฏิบัติในการดำรงชีวิตด้วยการไม่ฟุ่มเฟือย ไม่โลภ ซื่อตรง มีวินัย และไม่เบียดเบียนผู้อื่นตลอดไป”.
ทีมเศรษฐกิจ